รูปภาพ : สตรีชาวอิยิปต์เดินผ่านร้านแลกเงินในกรุงไคโร เหตุจลาจลหนักที่เกิดขึ้นส่งผลให้บรรดาธนาคาร โรงเรียน และห้างร้านต่างๆต้องปิดทำการต่อเนื่อง
ที่มา : AP
สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือมูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส (Moody’s Investors Service) ได้ตัดลดอันดับความน่าเชื่อถือ (เครดิตเรตติ้ง) ของพันธบัตรรับบาลอิยิปต์เมื่อวานนี้ (วันจันทร์ที่ 31 มกราคม 2011) โดยกล่าวว่า รัฐบาลอาจซ้ำเติมสถานะทางการคลังที่อ่อนแออยู่แล้วโดยการเพิ่มการใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมเพื่อป้องปรามการชุมนุมใหญ่
“มีความเป็นไปได้สูงที่นโยบายการคลังจะหละหลวมกว่าเดิมในฐานะส่วนหนึ่งของมาตรการที่รัฐบาลใช้เพื่อควบคุมปัญหาความไม่พอใจ” มูดี้ส์กล่าว โดยทางมูดี้ส์ได้ประกาศลดอันดับความน่าเชื่อถือลง 1 ขั้นลงมาเหลือ Ba2 พร้อมกับให้มุมมองเป็นลบ จากระดับ Ba1
“ด้วยพื้นเพของปัญหาแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากเงินเฟ้อจะยิ่งทำให้การดำเนินนโยบายการคลังมีความยากลำบากยิ่งขึ้นเนื่องจากมันสุ่มเสี่ยงต่อการเพิ่มภาระการใช้จ่ายของรัฐบาลในด้านค่าแรงและการอุดหนุนต่างๆ”
ประธานาธิดบีฮอสนี่ มูบารัก ซึ่งเพิ่งปรับคณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ได้สั่งให้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่คงมาตรการการอุดหนุนต่างๆ ควบคุมเงินเฟ้อ และสร้างงานเพิ่มเมื่อช่วงวันอาทิตย์ที่ผ่านมา จากการรายงานของสถานีโทรทัศน์ของรัฐ
การประท้วงใหญ่ครั้งนี้มีสาเหตุหลักมาจากความโกรธแค้นของมวลชนที่มีต่อราคาสินค้าที่สูงขึ้น การว่างงาน และ ช่องว่างมหาศาลระหว่างคนรวยกับคนจน
นั่นหมายความว่า ใครก็ตามที่เป็นรัฐบาลต่อจากนายมูบารักซึ่งอาจจะถูกบีบให้ลงจากอำนาจ อาจจะต้องคงมาตรการอุดหนุนต่างๆเอาไว้และเพิ่มการใช้จ่ายด้านสวัสดิการสังคมเพื่อเป็นการตอบแทนให้กับฐานอำนาจ
“ด้วยสถานการณ์ที่กว่าครึ่งของการใช้จ่ายภาครัฐต้องจ่ายลงไปที่การอุดหนุนและค่าแรง ตอนนี้ชัดเจนแล้วว่ามันมีความเสี่ยงที่สถานะทางการคลังอาจแย่ลงกว่าเดิม” นายทริสตั้น คูเปอร์ หวัหน้าฝ่ายวิเคราะห์พันธบัตรรัฐบาลในตะวันออกกลาง (Middle East sovereigns) ของมูดี้ส์กล่าวกับรอยเตอร์ผ่านทางอีเมล์
ฟิทช์
นักวิเคราะห์รายหนึ่งกล่าวว่า การตัดเรตติ้งของมูดี้ส์ ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากผู้ประท้วงปักหลักชุมนุม ณ ใจกลางกรุงไคโรได้ประกาศที่จะชุมนุมจนกว่าจะโค่นนายมูบารักจากอำนาจได้ มาสายเกินไป
“สุดท้าย บรรดาบริษัทเครดิตเรตติ้งก็ตื่น การจัดเรตติ้งอิยิปต์ระดับเดียวกับตุรกียังไงก็เป็นเรื่องน่าขำ” นายทิโมธี แอช หัวหน้าฝ่ายวิจัยประจำภูมิภาคยุโรปกลางและตะวันออก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา (CEEMEA) ของธนาคารอาร์บีเอสกล่าวกับรอยเตอร์
ขณะที่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ฟิทช์เรตติ้งได้ปรับมุมที่มีต่ออิยิปต์ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือที่ BB+ ลงมาเป็นลบ โดยกล่าวว่า ความปั่นป่วนทางการเมืองที่เกิดขึ้นมีแนวโน้มที่จะเหนี่ยวรั้งโครงการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศ
การขาดดุลงบประมาณของอิยิปต์ในปีงบประมาณสิ้นสุดมิถุนายน 2010 อยู่ที่ 8.1% ต่อจีดีพี รัฐบาลต้องการคงระดับการขาดดุลไว้ที่ 7.9% ต่อจีดีพีในปีงบประมาณนี้ และลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.0-3.5% ต่อจีดีพีในปีงบประมาณ 2014/2015 นี้ สำนักข่าว MENA ของทางการอิยิปต์กล่าวโดยอ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่ระดับสูงเมื่อช่วงกรกฎาคม 2010 ที่ผ่านมา
ตอนนี้มีความไม่สบายใจมากขึ้นในหมู่บริษัทจัดเครดิจเรตติ้งถึงผลกระทบจากความตึงเครียดทางการเมืองทั่วภูมิภาคแอฟริกาเหนือ
ด้านสแตนดาร์ดแอนด์พัวร์สหรือเอสแอนด์พีกล่าวเมื่องวันพฤหสบดีทีผ่านมาว่า ความไม่แน่นอนทางการเมืองและการคลังกำลังส่งผลต่อเครดิตเรตติ้งของรัฐบาลหลายๆประเทศในแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ โดยประเทศอิยิปต์ แอลจีเรีย และจอร์แดนถือเป็นประเทศที่สุมเสี่ยงต่อการเกิดความไม่สงบในลักษณะเดียวกับการประท้วงที่เกิดขึ้นในตูนีเซียมากที่สุด
ด้านฟิทช์กล่าวในวันเดียวกันว่า บริษัทจะตัดสินใจภายใน 3-6 เดือนว่า จะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของตูนีเซียหรือไม่หลังจากตูนีเซียเผชิญกับเหตุไม่สงบในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาซึ่งบีบให้เกิดการเปลี่ยนรัฐบาลและกระทบการเติบโตทางเศรษฐกิจ
ที่มา ข่าว Real Tmie จากโปรแกรม Reuters 3000 Xtra
ไอดีข่าว nLDE70U0F4
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday