กรมควบคุมมลพิษชี้คุณภาพอากาศกลางกรุงคาบเส้นวิกฤต จับมือ กทม. ชงแผนปฏิบัติการคุมสิ่งแวดล้อม 2555-2559
นายวิจารย์ สิมาฉายา รองอธิบดรกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า จากสถิติการตรวจสอบคุณภาพอากาศในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ปี 2540-2553 พบว่า มีมลภาวะเกินค่ามาตรฐานที่กำหนด ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน ซึ่งกำหนดค่ามาตรฐานต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยวัดได้ถึง 55.3 ไมโครกรัม หรือเกินค่ามาตรฐานประมาณ 4%
ขณะที่ผลการตรวจวัดโอโซนพบว่าเกินค่ามาตรฐานประมาณ 0.2% นอกจากนี้ยังตรวจพบสารอินทรีระเหยง่ายซึ่งเกิดจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิง 3.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรต่อปี จากค่ามาตรฐานที่กำหนดไว้ไม่เกิน 1.7 ไมโครกรัม ขณะเดียวกันการตรวจวัดมลพิษทางเสียงก็พบว่ามีค่าเกินมาตรฐานเช่นกัน
“พื้นที่ที่มีปัญหามลพิษทางอากาศส่วนใหญ่ตรวจพบได้บริเวณใจกลางเมือง เช่น แยกดินแดง แยกโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ แยกลาดพร้าว และแยกโชคชัย 4 เนื่องจากมีการจราจรหนาแน่น แม้ปริมาณมลพิษที่วัดได้จะเกินมาตรฐานไม่มาก แต่หากไม่มีแผนการจัดการที่ดี ในอนาคตก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นได้” นายวิจารย์ กล่าว
รองอธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวว่า กรมควบคุมมลพิษได้ระดมความคิดเห็นร่วมกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำไปจัดทำแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศและเสียงในพื้นที่ กทม. ปี 2555-2559 ซึ่งถือเป็นแผนการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมระยะยาวที่จะปรากฏเป็นรูปธรรมครั้งแรกของประเทศ
นายวิจารย์ กล่าวว่า หลังจากรวบรวมความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากหน่วยงานต่างๆ แล้ว กรมควบคุมมลพิษจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีปลัด ทส. เป็นประธาน จากนั้นจะนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อขอความเห็นชอบในการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลต่อไป
“หากไม่เริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้อาจมีแนวโน้มว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อมจะเสื่อมโทรมมากขึ้นและกระทบต่อปัญหาสุขภาพ ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมจากทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อน” นายวิจารย์ กล่าว
ด้านนายสุทิน อยู่สุข ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กล่าวว่า กลุ่มที่เป็นตัวการในการปล่อยมลพิษมากที่สุดคือ รถจักรยานยนต์ 2 จังหวะ และรถโดยสารประจำทางที่เสื่อมสภาพ และไม่มีกฎหมายควบคุมดูแลอย่างเคร่งครัด
“ประเทศไทยมีกฎหมายและระเบียบข้อบังคับออกมาค่อนข้างมาก แต่สิ่งที่อ่อนคือการบังคับใช้กฎหมายของเจ้าหน้าที่รัฐยังไม่เข้มแข็งเพียงพอ ขณะเดียวกันหากออกกฎหมายบังคับให้ยกเลิกการใช้งานรถเก่า เช่น แท็กซี่ รถประจำทาง รัฐจะต้องหามาตรการเยียวยาช่วยเหลือด้วย” นายสุทิน กล่าว
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 2466 ครั้ง