รูปภาพ : นายฮอสนี่ มูบารัก ประธานาธิบดีอิยิปต์ประกาศอยู่จนครบเทอมแต่จะไม่ลงเลือกตั้งซ้ำ แต่ผู้ชุมนุมยังไม่พอใจและจะชุมนุมจนกว่าเขาจะลาออก
ที่มา : Reuters
เศรษฐกิจโลกกำลังถูกรุมเร้าด้วยสารพัดปัญหาไม่ว่าจะเป็นการว่างงานที่สูงและเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นซึ่งอาจกระตุ้นให้เกิดการกีดกันทางเศรษฐกิจและแม้แต่นำไปสู่สงครามภายในหลายๆประเทศได้ นายโดมินิก สเตร๊าส์-คาห์น ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟกล่าววานนี้ (อังคารที่ 1 กุมภาพันธ์ 2011)
ราคาอาหารและเชื้อเพลิงที่พุ่งขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาได้ส่งผลกระทบต่อประเทศยากจนแล้วและเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญเบื้องหลังการประท้วงใหญ่เพื่อขับไล่รัฐบาลในอิยิปต์และตูนีเซียซึ่งท้ายที่สุดประธานาธบิดีเบน อาลีของตูนีเซียต้องหลุดจากอำนาจเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
“เนื่องจากความตึงเตรียดระหว่างประเทศต่างๆสูงขึ้น เราอาจได้เห็นมาตรการกีดกันทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นทั้งการค้าและการเงิน และเนื่องจากความตึงเครียดภายในประเทศเพิ่มขึ้น เราอาจได้เห็นความไร้เสถียรภาพทางสังคมและการเมืองภายในหลายๆประเทศ หรือแม้แต่สงคราม” นายสเตร๊าส์-คาห์นกล่าวในสุนทรพจน์ของเขาที่สิงคโปร์
เขาได้เเน้นถึงสองความไม่สมดุลที่ “อันตราย” ซึ่งเขากล่าวว่า อาจเพาะเมล็ดพันธุ์ไปสู่วิกฤตรอบใหม่
ความไม่สมดุลแรกคือ ความไม่สมดุลของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในหลายๆประเทศ เนื่องจากประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่รวดเร็วกว่าประเทศพัฒนาแล้วและมีความเป็นไปได้ที่อาจถึงขั้นร้อนแรงเกินไป ความไม่สมดุลที่สองคือ ความตึงเครียดภายในประเทศต่างๆซึ่งมีอัตราการว่างงานสูงและช่องว่างรายได้ที่ห่างขึ้น
ในช่วงทศวรรษหน้า ประชากรวัยหนุ่มสาวกว่า 400 ล้านคนจะเข้าสู่กำลังแรงงานทั่วโลก ก่อให้เกิดความท้าทายที่น่าหวั่นวิตกต่อรัฐบาลหลายๆประเทศ
“เราเผชิญโอกาสของการเกิด ‘รุ่นแห่งการสูญเสีย’ (Lost Generation) ในหมู่คนหนุ่มสาว ซึ่งถูกกำหนดชะตาให้ต้องเจ็บปวดทั้งชีวิตจากปัญหาการว่างงานและสภาพสังคมที่แย่ลงกว่าเดิม การสร้างงานต้องเป็นลำดับความสำคัญสูงสุดไม่เฉพาะในประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น แต่รวมถึงในประเทศยากจนทั้งหลายด้วย”
อัตราการว่างงานในสหรัฐฯล่าสุดอยู่ที่ 9.4% ขณะที่ประเทศในยุโรปกำลังดิ้นรนเพื่อสร้างงานเพิ่ม
แม้ว่าจะเผชิญกับปัญหาการว่างงานสูงในช่วงต้นของวิกฤตการเงินโลกในปี 2008 การกีดกันทางการค้าก็ไม่ได้สูงมากอย่างที่บรรดานักวิเคราะห์วิตกกัน แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าหลายๆประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศจีนตามที่มีหลายคนตำหนิ ยังคงหาทางที่จะคงอัตราแลกเปลี่ยนใฟห้ต่ำเกินจริงเอาไว้เพื่อรักษาภาคการส่งออก
“รูปแบบของความไม่สมดุลทางเศรษฐกิจโลกในช่วงก่อนวิกฤตการเงินกำลังกลับมาอีกครั้ง” นายสเตร๊าส์-คาห์นระบุ
“การเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีการขาดดุล (ดุลบัญชีเดินสะพัด) สูงเช่นสหรัฐฯ ยังคงถูกขับเคลื่อนโดยการบริโภคภายในประเทศ และการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศที่มีการเกินดุลสูงเช่นจีนและเยอรมนี ก็ยังคงถูกขับเคลื่อนโดยการส่งออก”
นายสเตร๊าส์-คาห์นกล่าวอีกว่า ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วจะเติบโตในอัตราที่ชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 2.5% เนื่องจากปัญหาการว่างงานสูงและหนี้ภาคครัวเรือนส่งผลต่อกำลังซื้อภายในประเทศ
เศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่จะเติบโตในอัตราที่รวดเร็วกว่าที่ระดับ 6.5% โดยประเทศในแถบเอเชียไม่รวมญี่ปุ่นจะเติบโตได้ถึง 8.5% ในปีนี้ เขากล่าว
นายสเตร๊าส์-คาห์นกล่าวว่า “ช่องว่าการเติบโตของโลก” (Global Growth Gap) กำลังเหนี่ยวรั้งการฟื้นตัวในด้านอื่นๆ โดยราคาพลังงานที่พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วสะท้อนถึงการเติบโตที่รวดเร็วในประเทศเกิดใหม่
“ราคาอาหารก็กำลังเพิ่มขึ้นด้วย โดยการช็อคในฝั่งของผลผลิตคือเหตุผลหลักซึ่งมีผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อประเทศที่มีรายได้น้อย พร้อมกันนั้น การเพิ่มขึ้นของราคาอาหารก็เริ่มส่งผลไปถึงเงินเฟ้อทั่วไปแล้วด้วย” เขากล่าว
องค์การอาหารและเกษตรโลกได้กล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่า ราคาอาหารโลกได้ทุบสถิติสูงสุดใหม่ในเดือนธันวาคม 2010 เหนือกว่าระดับปี 2008 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดการก่อจลาจลทั่วโลกไล่ไปถึงอิยิปต์ แคมเมรูน และเฮติ
นายสเตร๊าส์-คาห์นยังกล่าวเสริมอีกว่า การปรับค่าอัตราแลกเปลี่ยนมีบทบาทสำคัญในการจัดการกับปัญหาความไม่สมดุลในระบบเศรษฐกิจโลกและไม่ควรถูกต่อต้าน
“การเหนี่ยวรั้งการปรับอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศหนึ่งยังทำให้การปรับอัตราแลกเปลี่ยนยากขึ้นไปอีกและมีต้นทุนที่สูงขึ้นสำหรับประเทศอื่นๆในการปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนของตัวเองมีการปรับตัว” เขากล่าว
บรรดาผู้ดำเนินนโยบายของรัฐบาลจีนกำลังมุ่งสู่ทิศทางที่ถูกต้องโดยการออกมาตรการเพื่อกระตุ้นความต้องการในประเทศ นายสเตร๊าส์-คาห์นระบุ ขณะที่สหรัฐฯและประเทศตะวันตกอื่นๆยังคงเดินหน้ากดดันรัฐบาลจีนให้ปล่อยให้ค่าเงินหยวนแข็งค่าให้มากกว่านี้
ขณะที่สถานการณ์ล่าสุดในอิยิปต์ นายฮอสนี่ มูบารักได้แถลงวานนี้เช่นเดียวกันว่า เขาจะอยู่จนครบวาระและจะไม่ขอกลับเข้ารับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกสมัย และจะไม่หนีออกนอกประเทศ ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมซึ่งคาดว่ามีมากกว่า 1 ล้านคนยังคงไม่พอใจต่อท่าทีล่าสุดของเขา และยังคงเรียกร้องให้นายมูบารักลาออกทันที
รูปภาพ : นายบารัก โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ล่าสุดคุยสายตรงกับนายมูบารักเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจ “ทันที”
ที่มา : Reuters
ล่าสุดประธานาธบดีสหรัฐฯ นายบารัก โอบามาได้ออกมาเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนถ่ายอำนาจโดยทันที
“สิ่งที่ชัดเจนและสิ่งที่ผมได้ระบุเมื่อคืนนี้กับประธานาธิบดีมูบารักก็คือ ความเชื่อของผมที่ว่า การเปลี่ยนผ่านที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อยต้องมีความสำคัญ มันต้องเป็นไปโดยสันติและมันต้องเกิดขึ้นแล้ว” ประธานาธิบดีโอบามากล่าวหลังจากพูดคุยกับประธานาธิบดีมูบารักผ่านทางโทรศัพท์
ที่มา ข่าว Real Time จากโปรแกรม Reuters 3000 Xtra
ไอดีข่าว nL3E7D10C4 และ nLDE71100I
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday