รูปภาพ : การซื้อขายตราสารอนุพันธ์ที่ตลาด ICE ในนิวยอร์ค ซึ่งถือเป็นหนึ่งในตลาดซื้อขายสินค้าโภคภัณฑ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ล่าสุดบรรดาผู้ค้าน้ำตาลทนไม่ไหวกับการเก็งกำไรเกินตัวจนต้องส่งจดหมายร้องเรียนผู้บริหารของ ICE แล้ว
ที่มา : เว็บไซต์ Marketsense
บรรดาผู้ค้าน้ำตาลชั้นนำของโลกต่างออกมาโจมตีการกระทำของบรรดานักเก็งกำไรที่ซื้อขายผ่านระบบคอมพิวเตอร์ความเร็วสูงว่าเป็นพวก “ตัวปรสิต” โดยได้กล่าวตำหนิตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่บริหารการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าบนน้ำตาลว่า ล้มเหลวในการควบคุมกิจกรรมการเก็งกำไรที่เกินขอบเขตนี้
ในจดหมายที่กล่าวตำหนิอย่างรุนแรงจ่าหน้าถึงตลาด ICE Futures ซึ่งเป็นผู้ให้บริการระบบการซื้อขายตราสารอนุพันธ์และสินค้าโภคภัณฑ์ชั้นนำของโลก ประธานคณะกรรมการน้ำตาลโลก (World Sugar Committee) องค์กรหลักของกลุ่มอุตสาหกรรมซึ่งเป็นตัวแทนของบรรดาผู้ค้ารายใหญ่กล่าวว่า การปราฏขึ้นมาของกลุ่มทุนเก็งกำไรที่มาในรูปของการซื้อขายที่มีความถี่สูงหรือที่เรียกกันว่า High-Frequency Trading (HFT) หรือพวกนักเก็งกำไรความเร็วสูง (High-Frequency Trader) “ทำหน้าที่เพียงตักตวงความร่ำรวยให้กับตัวเองบนต้นทุนของผู้ใช้ดั้่งเดิมในตลาด”
จดหมายฉบับนี้ดูเหมือนว่าจะเป็นข้ออ้างสำคัญสำหรับบรรดานักการเมืองที่ต้องการหาทางจัดการควบคุมกิจกรรมเก็งกำไรในตลาดโภคภัณฑ์ ประธานาธิบดีนิโกลาส์ ซาร์โกซี่ของฝรั่งเศสได้ให้ความสำคัญต่อการออกกฎระเบียบควบคุมตลาดสินค้าเกษตรให้เป็นหนึ่งในวาระสำคัญของการประชุมกลุ่ม G20 ซึ่งฝรั่งเศสรับหน้าที่เป็นประธานในปีนี้
ในสัปดาห์ที่แล้ว ราคาน้ำตาลพุ่งสูงสุดในรอบ 30 ปีท่ามกลางปัญหาการแขดแคลนน้ำตาลทั่วโลก บรรดาคนในวงการน้ำตาลไม่ได้กล่าวว่าราคาที่สูงขึ้นเกิดจากนักเก็งกำไร แต่ได้ตำหนิระบบการซื้อขายที่อิงกับการเขียนโปรแกรมอัลกอริธึมที่อิงแบบจำลองทางสถิติและคณิตศาสตร์ขั้นสูงลงบนระบบคอมพิวเตอร์ที่ทำการซื้อขายอัตโนมัติ (ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า Algorithm Trading) ว่าเป็นต้นเหตุสำคัญของราคาที่ทุบสถิติในรอบ 30 ปี
นายฌอน ดิฟลี่ ประธานกรรมการของ WSC เขียนในจดหมายฉบับนั้นว่า การเพิ่มขึ้นของความผันผวน “กำลังก่อให้เกิดความยากลำบากต่อสมาชิกในประชาคมน้ำตาลตัวจริง” เขากล่าวเพิ่มในจดหมายด้วยว่า “อย่างที่คุณทราบ ความนิยมในตัวตลาด (หมายถึงตลาด ICE) ในหมู่ประชาคมน้ำตาลตัวจริงได้ตกต่ำถึงขีดสุด”
WSC เป็นกลุ่มที่ให้คำแนะนำต่อตลาด ICE ซึ่งคณะกรรมการน้ำตาลโลกนี้เป็นหนึ่งในสมาชิกของตลาดซึ่งรวมถึงบรรดาบริษัทผู้ค้ารายใหญ่ เฮจด์ฟันด์ บริษัทโบรกเกอร์ ผู้ผลิต และ ผู้กลั่นน้ำตาล จดหมายฉบับดังกล่าวซึ่งหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ของอังกฤษได้มาและลงวันที่ 31 มกราคม 2011 จ่าหน้าถึงนายโธมัส ฟาร์ลี่ กรรมการผู้จัดการ (President) ของ ICE Futures
WSC ได้ขอร้องให้ตลาด ICE ออกกฎเพื่อควบคุมความผันผวนของตลาดซึ่งรวมถึงการลดชั่วโมงซื้อขายลงและกลับมาเปิดระบบ “Implied Engine” อีกครั้ง ซึ่งระบบนี้เป็นระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งดำเนินการโดยทางตลาดเองเพื่อช่วยจับคู่คำสั่งเสนอซื้อและเสนอขาย ผู้ค้าน้ำตาลบางรายยังได้เรียกร้องให้มีการติดตั้งระบบ “เซอร์กิตเบรกเกอร์” เพื่อผ่อนคลายการเหวี่ยงอย่างรุนแรงของราคา (ระบบเซอร์กิตเบรกเกอร์เป็นระบบควบคุมการซื้อขายที่ตลาดการเงินทั่วโลกนำมาใช้ ซึ่งระบบจะทำการหยุดการซื้อขายโดยอัตโนมัติหากราคาขึ้นหรือลงเกินกว่าช่วงที่กำหนดในแต่ละวัน เช่นตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะมีเซอร์กิตเบรกเกอร์เพื่อหยุดการซื้อขายหากราคาวิ่งขึ้นลงเกิน 10% ในวันเดียว)
นายฟาร์ลี่กล่าวว่า ทางตลาดกำลังวางแผนที่จะยอมรับข้อเรียกร้องบางประการซึ่งรวมถึงการกลับมาเปิดระบบ Implied Engine อีกครั้ง
แต่เขากล่าวอีกว่า บรรดาเทรดเดอร์ที่ซื้อขายผ่านระบบอัลกอริธึมทั้งหลายไม่สมควรถูกตำหนิในฐานะที่เป็นต้นเหตุของความผันผวนที่สูงขึ้นและปกป้องบทบาทของนักเก็งกำไรกลุ่มนี้ที่ช่วยสร้างสภาพคล่องให้ตลาด
ไม่ใช่เฉพาะแค่ตลาดน้ำตาลเท่านั้นที่เผชิญกับความผันผวนที่สูงเกินปกติเท่านั้น แต่ตลาดฝ้ายก็ถูกอิทธิพลของนักเก็งกำไรสายพันธุ์ใหม่อย่างพวกนักเก็งกำไรความเร็วสูงป่วนมาแล้วจากการใช้การเขียนโปรแกรมอัลกอริธึมควบคุมการซื้อขาย ส่งผลให้ราคาฝ้ายพุ่งสูงสุดในรอบกว่า 150 ปี ทั้งนี้ในสัปดาห์ที่แล้วคือ วันพฤหัสบดีที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ราคาน้ำตาลวิ่งทีเดียว 2 เซ็นต์หรือเกือบ 7% ภายในเวลาเพียง 1 วินาทีเท่านั้น แสดงให้เห็นถึงความปั่นป่วนที่เกิดขึ้นในระบบการซื้อขายสัญญาล่วงหน้าในนิวยอร์ค ซึ่งหลายๆฝ่ายก็พุ่งเป้าไปที่นักเก็งกำไรกลุ่มนี้ด้วย
ปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลให้แม้แต่ ก.ล.ต.สหรัฐฯเองต้องเข้ามาควบคุมดูแลวิธีการซื้อขายใหม่นี้อย่างจริงจัง โดยในเดือนพฤษภาคม ปี 2010 ที่ผ่านมา ได้เกิดเหตุการณ์ที่เรียกว่า “Flash Crash” ขึ้นที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯหลังจากที่ดัชนอุตสาหกรรมดาวโจนส์ร่วงลงระหว่างวันกว่า 1,000 จุดหรือเกือบ 10% ภายในเวลาไม่กี่นาที ซึ่งการตรวจสอบครั้งนี้ของทางการสหรัฐฯชี้ชัดไปถึงต้นตอของปัญหาที่เกิดจากนักเก็งกำไรกลุ่มนี้ด้วย ส่งผลให้ระหว่างวันในช่วงจุดต่ำสุด ตลาดหุ้นสหรัฐฯสูญเสียมูลค่าตลาดไปมากกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์หรือมากกว่า 30 ล้านล้านบาท ก่อนที่ตลาดจะบวกกลับขึ้นมาจนหุ้นปิดตลาดลบแค่ไม่กี่ร้อยจุด
มีข้อที่น่าสังเกตว่า การที่นักเก็งกำไรกลุ่มนี้เข้ามาส่งผลให้มูลค่าการซื้อขายสูงขึ้นมากจากการที่นักเก็งกำไรกลุ่มนี้จะเข้าๆออกๆตลาดรวดเร็วเหมือนนินจาในเวลาเพียงเสี้ยววินาทีในการซื้อขายแต่ละครั้ง ซึ่งนั่นนำมาซึ่งรายได้ค่าธรรมเนียมมหาศาลที่ผู้บริหารระบบการซื้อขายซึ่งก็คือ บรรดาตลาดหุ้นและตลาดอนุพันธ์ต่างๆ จึงไม่น่าแปลกใจที่คนกลุ่มนี้จะมีเสียงตอบรับดีต่อนักเก็งกำไรกลุ่มนี้และพยายามจะออกมาปกป้องนักเก็งกำไรกลุ่มนี้ตลอดเวลา
ที่มา Financial Times
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday