ทุนการเงินกับวิกฤตอาหารโลก
โดย
เบ๊นซ์ สุดตา
วิกฤตอาหารโลกกลายมาเป็นประเด็นใหญ่โตไปทั่วโลกอีกครั้งหลังจากที่วิกฤตอาหารได้ก่อตัวอีกครั้งในช่วงครึ่งหลังของปี2010และกลายเป็นชนวนนำไปสู่ความวุ่นวาย
การจลาจล
และวิกฤตการเมืองในหลายๆประเทศไล่ตั้งแต่โมซัมบิก
ตูนีเซีย แอลจีเรีย ไปจนถึงอิยิปต์
และด้วยระดับความรุนแรงของการประท้วงในอิยิปต์ที่ผู้ชุมนุมนับล้านคนนี่เองที่ได้สร้างความเสียหายในระยะสั้นลุกลามกินลึกเข้าไปจนถึงตลาดการเงิน
เห็นได้ว่าในช่วงมกราคมจนถึงต้นเดือนกุมภาพันธ์2011ราคาหุ้น
ค่าเงิน และโภคภัณฑ์ทั้งโลกมีการเหวี่ยงตัวรุนแรงมาก
เกิดการโยกเงินออกจากประเทศเกิดใหม่และตลาดหุ้นทั้งโลกเพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในระยะสั้น
ในด้านหนึ่งสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็วนั้นได้ก่อให้เกิดความไม่แน่นอนในด้านของปริมาณผลผลิตเป็นอันมากไล่ตั้งแต่คลื่นความร้อนที่พัดผ่านเขตเพาะปลูกข้าวสาลีแถบทะเลดำที่รัสเซีย
น้ำท่วมทั้งในปากีสถาน
ประเทศไทย ออสเตรเลีย
อากาศแห้งในอเมริกาใต้
พายุหิมะในสหรัฐฯ
หรือภาวะแล้งจัดในประเทศจีน
ปรากฏการณ์ธรรมชาติเหล่านี้หากพิจารณาให้ถ่องแท้แล้วก็ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร
เพราะมนุษย์ตั้งแต่โบราณกาลมาก็เผชิญกับความผันผวนของสภาพอากาศในบางช่วงของประวัติศาสตร์มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน
แต่ในยุคปัจจุบันระดับความรุนแรงของภัยธรรมชาติและความไม่แน่นอนของอากาศอาจสูงขึ้นกว่าในยุคก่อนหากพิจารณาจากสถิติในศตวรรษที่ผ่านมาซึ่งเป็นผลมาจากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นจากภาวะโลกร้อน
แต่ปัจจัยหนึ่งที่ที่ซ้ำเติมภาวะความอดอยากของคนในยุคปัจจุบันและไม่เคยพานพบมาก่อนสำหรับคนในยุคโบราณเห็นจะไม่พ้นปัจจัยจากการเก็งกำไรในภาคการเงินทั่วโลก
ทั้งนี้นับแต่วิกฤตอาหารในช่วงปี2007-2008หลายฝ่ายต่างก็พุ่งเป้าไปที่กลุ่มทุนการเงินว่าเป็นผู้ที่เร่งให้สถานการณ์นั้นรุนแรงกว่าเดิมจนราคาอาหารพุ่งทะยานนับร้อยเปอร์เซ็นต์ในช่วงเวลาไม่กี่เดือน
ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ไม่ปกติในตลาดเกษตรซึ่งมักจะมีลักษณะของการตอบสนองของราคาที่ไม่รวดเร็วและไม่รุนแรงมากในระยะสั้นๆ
จริงๆแล้วการซื้อขายสินค้าเกษตรในตลาดการเงินนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด
แต่ตรงกันข้ามมันเป็นสิ่งที่มีมานานแล้วและเกิดก่อนการพัฒนาตราสารการเงินอื่นๆด้วยซ้ำ
ในสหรัฐฯเองการเกิดขึ้นของตลาดการเงินในยุคแรกๆนั้นสิ่งที่คลอดหลังจากตลาดหุ้นนิวยอร์คนั้นก็คือ
การเกิดขึ้นของตลาดซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าในชิคาโก้และในแคนซัส
ในเอเชียเองการซื้อขายสินค้าเกษตรล่วงหน้าก็เกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นมานานแล้ว
ตลาดอนุพันธ์การเงินในภาคเกษตรนั้นมีความเก่าแก่มากกว่า100ปีทั่วโลก
แต่ในยุคนั้นก็ไม่ได้เกิดปัญหาของการเก็งกำไรเหมือนอย่างในยุคปัจจุบันทั้งนี้ก็เนื่องมาจากว่า
ตลาดเกษตรล่วงหน้าในสมัยก่อนนั้นผู้เล่นหลักก็คือ
คนที่อยู่ในเครือข่ายผลผลิตหรือSupply
Chain ในภาคเกษตรจริงๆทั้งเกษตรกร
พ่อค้า ผู้ผลิต และผู้ส่งออก
นั่นทำให้ราคาสินค้าเกษตรมีความสมเหตุสมผลกับผู้เล่นทุกฝ่าย
สะท้อนสภาพตลาดและการคาดการณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องจริงๆ
แต่ในปัจจุบันด้วยสภาพที่ระบบเศรษฐกิจมีความไร้สมดุลอย่างมาก
เมื่อผนวกกับความผันผวนของสภาพอากาศแล้วก็เป็นการง่ายที่นักเก็งกำไรในภาคการเงินจะสบช่องเข้าหาประโยชน์โดยไม่สนว่าความทุกข์ยากของผู้คนหลายร้อยหลายพันล้านคนจะเป็นยังไง
เพราะต้องไม่ลืมว่าคนทั้งโลกนั้นไม่ว่าจะรวยจะจนแค่ไหนก็ต้องกินอาหารเพื่อดำรงชีพกันทั้งสิ้น
การเก็งกำไรในสินค้าเกษตรซึ่งมูลค่าตลาดเกษตรแม้จะน้อยกว่าตลาดหุ้นทั้งโลกมาก(การส่งออกสินค้าเกษตรทั้งโลกอยู่ในระดับราว1ล้านล้านดอลลาร์เศษๆ
ขณะที่มูลค่าตลาดหุ้นทั้งโลกมีมากกว่า40-50ล้านล้านดอลลาร์!)แต่หากพูดในแง่ผลกระทบแล้วกลับต่างกันยิ่งนัก
ทั้งนี้หากจะแบ่งแยกกลุ่มทุนการเงินที่เข้าฉกฉวยโอกาสและซ้ำเติมวิกฤตอาหารโลกนั้น
เราสามารถจำแนกกลุ่มทุนการเงินได้เป็น2จำพวกนั่นคือ
พวกที่เก็งกำไรในระยะสั้นและพวกที่หวังกำไรในระยะยาว
1.นักเก็งกำไรระยะสั้นหากจะพูดถึงกลุ่มทุนการเงินที่ชอบเก็งกำไรมากๆนั้นแน่นอนว่าหลายคนอาจจะนึกถึงกองทุนเฮดจ์ฟันด์
ซึ่งกองทุนเหล่านี้จะมีผู้จัดการสมองเพชรของมองหาโอกาสทำไรจากความบกพร่องในทุกส่วนของระบบเศรษฐกิจโลกตลอดเวลา
และในครั้งนี้คงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า
กองทุนเฮดจ์ฟันด์ต่างๆก็เห็นโอกาสในการเข้าเก็งกำไรในตลาดสินค้าเกษตรเช่นกัน
ซึ่งเทคนิคง่ายๆก็คือ
การไล่ราคาในตลาดล่วงหน้า
แต่สิ่งที่กำลังเป็นที่ฮือฮาที่สุดก็คือ
การเกิดขึ้นและเติบโตของนักเก็งกำไรสายพันธุ์ใหม่ที่เรียกว่า
นักเก็งกำไรความเร็วสูง
หรือ High-Frequency
Trader (HFT) ซึ่งไม่นานมานี้ถูกวิจารณ์อย่างรุนแรงว่าเป็นตัวก่อความปั่นป่วนหนักในตลาดสินค้าเกษตรเช่น
น้ำตาล
โดยกลุ่มผู้ค้าน้ำตาลทั่วโลกถึงกับออกจดหมายไปถึงผู้บริหารตลาดล่วงหน้าICEที่นิวยอร์คให้ควบคุมการเก็งกำไรที่เกินขบเขตนี้
และถึงกับประณามพวก HFTว่าเป็น
“ปรสิต”
ที่เกาะกินตลาดล่วงหน้าและคอยสูบเอาประโยชน์บนความพินาศย่อยยับของผู้อื่น
จนกระทั่งประชาชนในแอฟริกาต้องถึงกับจลาจลเผาเมืองประท้วงและขับไล่รัฐบาลแบบในตูนีเซียและอิยิปต์มาแล้วเพราะว่าทนกับราคาอาหารที่แพงขึ้นมากกว่า100%ในเวลาไม่กี่เดือนไม่ไหว
นักเก็งกำไรกลุ่มนี้จะมีพฤติกรรมต่างจากเฮดจ์ฟันด์ตรงที่จะเข้าๆออกๆตลาดแบบไวมาก
การเข้าซื้อขายแต่ละครั้งจะทำกันเป็นวินาทีเลยทีเดียว
ในช่วงที่ราคาน้ำตาลผันผวนหนักๆระหว่างปลายปี2010-ต้นปี2011ราคาน้ำตาลขึ้นลงมากกว่า10%ในแต่ละะวัน
และขึ้นลงภายในเวลาไม่กี่วินาทีด้วย
ซึ่งหากใครเคยลงทุนในหุ้น
พันธบัตร หรือทองคำก็จะทราบดีว่า
การที่ราคาสินทรัพย์จะทะยานขึ้นมากกว่า10%นั้นต้องใช้เวลาแรมเดือนถึงแรมปีเลยทีเดียวเพื่อปรับฐานราคาและรับรู้พื้นฐานที่เปลี่ยนแปลงของสินทรัพย์นั้นๆ
ภาคเกษตรก็เช่นเดียวกันแม้ว่าดินฟ้าอากาศจะมีความไม่แน่นอนมากเพียงใด
แต่การที่ผลผลิตจะเริ่มการเพาะปลูก
เก็บเกี่ยว ขนส่ง เข้ากระบวนการผลิต
และจัดจำหน่ายนั้นมีวงจรที่นานแรมปีเลยทีเดียว
แต่การที่ราคาสินค้าเกษตรกลับมีการกระชากตัวรุนแรงในเวลาไม่กี่วินาทีนั้นนับว่าเป็นเรื่องผิดปกติอย่างร้ายแรงและไม่สมควรเกิดขึ้นเพราะนั่นจะทำให้เกิดความปั่นป่วนทั้งระบบโซ่อุปทานไปจนถึงผู้บริโภคทั้งโลกเลยทีเดียว
นักเก็งกำไรกลุ่มนี้ที่สามารถเข้าๆออกๆตลาดได้นับสิบรอบในเวลาไม่กี่นาทีนั้นมีอาวุธสำคัญก็คือ
ระบบคอมพิวเตอร์และซอฟท์แวร์ที่ทรงพลัง
การเขียนโปรแกรมของคนเหล่านี้นั้นจะอาศัยข้อมูลสถิติการซื้อขายมาสร้างเป็นกราฟและสร้างเป็นแบบจำลองขึ้นมาเพื่อหาสัญญาณทางเทคนิคในระยะสั้นๆ
ข้อมูลที่ใช้มีได้ทั้งราคารายสัปดาห์
รายวัน จนกระทั่งราคาในรายนาทีและวินาที
และในบางครั้งคนพวกนี้จะอาศัยการตั้งโปรแกรมอัตโนมัติเอาไว้โดยที่ไม่ต้องใช้คนมานั่งเฝ้า
มีจุดส่งซื้อสั่งขายแบบอัตโนมัติทันทีหรือที่เรียกว่า
การเขียน Algorithmนั่นเอง
การซื้อขายแบบอัตโนมัติเช่นนี้ส่งผลให้ในบางครั้งเกิดแรงซื้อหรือแรงเทขายพร้อมๆกันทีละมากๆได้เพราะคอมพิวเตอร์นั้นไวกว่ามือคน
ส่งผลให้ราคาเกิดแรงเหวี่ยงตัวที่สูงมากๆทั้งๆที่ไม่มีข่าวอะไรมารองรับ
แต่นั่นเพียงเพราะราคาในตลาดวิ่งไปถึงจุดที่แบบจำลองการซื้อขายกำหนดเอาไว้
2.นักเก็งกำไรในระยะยาวคนที่มาเก็งกำไรในระยะยาวนั้นมักจะมาในลักษณะของกองทุนในซื้อที่ดินเกษตรทั้งโลก
โดยคนที่เข้ามาเล่นนั้นก็มีทั้งเฮดจ์ฟันด์ที่เห็นโอกาสของการเติบโตของราคา
กองทุนบำนาญต่างๆที่ลงทุนในระยะยาวอยู่แล้ว
กองทุนรวม เศรษฐีที่มั่งคั่งทั้งหลาย
รวมถึงกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติต่างๆ
ทั้งนี้การลงทุนในระยะยาวนั้นจะมีวัตถุประสงค์หลักๆนั่นคือ
หวังผลตอบแทนทางการเงินและความมั่นคงทางอาหาร
ซึ่งในเรื่องของความมั่นคงทางอาหารนั้นก็ไม่เสมอไปที่รัฐบาลจะเป็นผู้ลงทุน
แต่อาจเป็นบริษัทเอกชนในประเทศออกไปลงทุนโดยรัฐบาลคอยให้การสนับสนุนทางการเงินและเป็นธุระเรื่องการเจรจากับรัฐบาลต่างๆให้ก็ได้
ซึ่งใน UAEและ
ซาอุดิอาระเบียเป็นไปในลักษณะนี้
ขณะที่ในกาตาร์นั้นกองทุนรัฐบาลตั้งบริษัทลูกขึ้นมาเพื่อลงทุนโดยตรง
ทั้งนี้สาเหตุหนึ่งนอกเหนือจากมุมมองในด้านผลผลิตที่มีความไม่แนอนและไม่สมดุลกับความต้องการที่สูงขึ้นแล้ว
โครงสร้างในระบบการเงินโลกที่กำลังพลิกผันก็กลายเป็นอีกตัวเร่งหนึ่งที่ส่งผลให้เกิดแนวโน้มการโยกเงินครั้งใหญ่เข้าสู่ภาคเกษตรและโภคภัณฑ์ทั้งโลก
นโยบายการเงินทั้งในสหรัฐฯ
ยุโรป
หรือแม้แต่ญี่ปุ่นเองในช่วงระหว่างและหลังวิกฤตการเงินโลกปี2008จนถึงวิกฤตหนี้สาธารณะยุโรปนับแต่ปี2010เรื่อยมาส่งผลให้ประเทศเหล่านี้ประสบความเสียหายอย่างหนักทางการเงินและการคลัง
ส่งผลให้รัฐบาลมีภาระหนี้สินมากมาย
การว่างงานสูง
ดังนั้นแล้วรัฐบาลประเทศใหญ่ๆจึงต้องใช้มาตรการเงินควบคู่การคลังเพื่อฟื้นเศรษฐกิจ
ส่งผลให้มีการช้จ่ายและการกู้เงินที่สูงในภาครัฐ
และอัตราดอกเบี้ยก็ต่ำ
จนกระทั่งล่าสุดเกิดนวัตกรรมทางนโยบายแบบใหม่ที่เรียกว่า
มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือQE
(Quantitative Easing) ที่ให้ธนาคารกลางทั้งเฟดของหสรัฐฯ,
ECB ของยุโรป
และ BOJของญี่ปุ่น
พิมพ์เงินออกมามากมายเพื่อซื้อพันธบัตรรัฐบาล
โดยก่อนหน้านี้มาตรการ QEนั้นมีเป้าที่หลักทรัพย์เอกชนเป็นหลัก
แต่เนื่องจากภาระการคลังที่สูงขึ้นทำให้เป้าหมายของเงินไปอยู่ที่ภาครัฐ
เมื่อเป็นเช่นนี้ค่าของเงินสกุลหลักต่างๆในระยะยาวจึงมีแต่เสื่อมค่าลงทั้งเงิ
นดอลลาร์หรือแม้แต่เงินยูโร
ซึ่งสะท้อนจากราคาทองคำที่ทะยานในทุกสกุล
แต่เนื่องจากภาคเกษตรนั้นใหญ่โตกว่าตลาดทองคำมากและเป็นปัจจัย4ที่หนุนด้วยความต้องการของมนุษย์ทั้งโลกนับพันล้านชีวิตทำให้มีความน่าสนใจมากกว่าทองคำ
อีกทั้งราคานั้นมีแนวโน้มขึ้นได้ในระยะยาวจากทั้งปัจจัยทางการเงินและโครงสร้างตลาดเกษตรที่เปลี่ยนไป
โดยในปัจจุบันการเก็งกำไรและการไล่ซื้อที่ดินในภาคเกษตรนั้นเกิดขึ้นทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา
โดยปัจจุบันที่ที่มีการเก็งกำไรที่ดินเกษตรมากที่สุดก็คือ
สหรัฐฯเองซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าเกษตรอันดับหนึ่งของโลกและได้รับความเสียหายจากวิกฤตการเงินมากที่สุดด้วย
การไล่ซื้อที่ดินในแถบMid-Westนั้นกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เห็นกันเป็นรายสัปดาห์
ซี่งผลกระทบนั้นก็วิ่งกันเป็นลูกโซ่เพราะนั่นก่อให้เกิดการขยายตัวของสินเชื่อเกษตรและธุรกิจต่อเนื่องไปด้วย
โดยคนที่เล่นหลักๆก็ไม่พ้นกลุ่มเฮดจ์ฟันด์จากWall
Streetจนเรื่องนี้สร้างความกังวลให้กับทางการมากจนกระทั่งประธานกองทุนประกันเงินฝากต้องออกมาเตือนว่าตอนนี้เกิด
“ฟองสบู่” ในภาคเกษตรแล้ว
นอกจากสหรัฐฯแล้วพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์อื่นๆที่ถูกไล่รองลงมาก็คือ
บราซิลและอาร์เจนติน่าที่บรรดากองทุนการเงินจากตะวันตกเข้าไปไล่ซื้อมากทั้งนี้เพราะความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานไม่ต่างจากในสหรัฐฯอีกทั้งเมื่อเทียบกับสหรัฐฯแล้วค่าเงินยังแข็งค่าได้อีก
รองลงมาก็คือ
ประเทศในแถบอาเซีบนและแอฟริกาที่ที่ดินยังถูกมากและมีความอุดมสมบูรณ์สูง
โดยในแถบนี้กลุ่มทุนอาหรับจะเข้ามาลงทุนมากกว่าตะวันตกโดยเหตุผลก็เพื่อความมั่นคงทางอาหารเป็นสำคัญ
แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากราคาที่ดินที่ถูกมากๆและการแย่งที่ดินของกองทุนต่างๆรวมถึงทุนเกษตรในทวีปอเมริกาคงส่งผลให้เงินลงทุนจากภาคการเงินไหลเข้าประเทศกำลังพัฒนาหนักหน่วงขึ้นในอนาคต
โดยการคาดการณ์ล่าสุดของผู้บริหารกองทุนTIAA-CREFซึ่งเป็นกองทุนบำนาญใหญ่ระดับโลกของสหรัฐฯบอกว่า
เงินลงทุนในที่ดินเกษตรทั้งโลกมีแค่15,000ล้านดอลลาร์เท่านั้นในปี2010เทียบกับสินทรัพย์ของนักลงทุนสถาบันทั้งกองทุนบำนาญและบริษัทประกันที่มีมากกว่า30ล้านล้านดอลลาร์แล้วยังนับว่าน้อยมาก
นั่นหมายความว่า
ในอนาคตหากมีการปรับสัดส่วนการลงทุนใหม่ของนักลงทุนสถาบันทั้งโลกที่เห็นโอกาสย่อมหมายความว่า
จะมีเงินนับแสนๆล้านดอลลาร์แข่งกันประมูลและไล่ซื้อที่ดินเกษตรทั้งโลกโดยกองทุนขนาดใหญ่ไม่กี่กองทุน
นำไปสู่สภาวะผูกขาดในระบบเกษตรโลกในอีกรูปแบบหนึ่งได้ซึ่งนั่นย่อมก่อให้เกิดความขัดแย้งกับคนท้องถิ่นและอาจนำมาสู่ความขัดแย้งทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศรอบใหม่ได้จากการที่รัฐบาลประเทศผู้รับการลงทุนตอบสนองต่อความไม่พอใจในประเทศที่มีต่อกลุ่มทุนการเงินข้ามชาติ
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1264 ครั้ง