ครม. มีมติแก้ร่างกฎหมาย “สินบนรางวัล” ตามแผนปฏิรูปกรมศุลกากรหวังขจัดผลประโยชน์ทับซ้อนในกรมศุลกากร
คณะรัฐมนตรี มีมติให้ความเห็นชอบร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายศุลกากร มาตรา 102 ตรี เรื่องอัตราส่วนเงินสินบนรางวัล ตามที่นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เสนอมา ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นส่วนสุดท้ายของแผนปฏิรูปกรมศุลกากร โดยประเด็นสำคัญของการขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างกฎหมายใหม่นี้ก็คือ การขจัดผลประโยชน์ทับซ้อนในกรมศุลกากร
นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ทุกวันนี้ เราได้ให้รางวัลแก่เจ้าหน้าที่ศุลกากรในอัตราร้อยละ 25 ของอัตราค่าปรับที่ประเมิน และ แม้ว่า ส่วนตัวจะสนับสนุนการให้รางวัลแก่เจ้าหน้าที่ที่ขยันทำงาน แต่ขณะเดียวกัน เราก็ต้องดูว่าเงินรางวัลนั้นไม่ไปกระตุ้นให้เกิดการจ้องคอยจับผิดแต่อย่างเดียว เท่าที่ทราบ ไทยเป็นประเทศเดียวที่มีระบบการให้รางวัลส่วนแบ่งค่าปรับในอัตราที่สูงมาก จึงได้ตัดเงินรางวัลลงจากร้อยละ 25 เป็นร้อยละ 15 และกำหนดเพดานไว้สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท และสำหรับเงินสินบนก็ลดเหลือร้อยละ 30 และกำหนดเพดานไว้สูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาทต่อคดี
เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบแล้ว ต่อไปจะเป็นขั้นตอนของกฤษฎีกา หลังจากนั้นก็จะนำร่างแก้ไขเพิ่มเติมฉบับนี้เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
“เศรษฐกิจของประเทศเกือบ 70% ขึ้นอยู่บนการค้าขายระหว่างประเทศ ซึ่งเกือบทั้งหมดจะต้องทำผ่านกรมศุลกากร และหากมีอะไรที่ทำให้กรมศุลกากรทำงานไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อ 70% ของเศรษฐกิจประเทศ ผลกระทบทางอ้อมก็จะตามมาอีกมากมายด้วย ซึ่งก็จะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศไทย มีน้อยกว่าประเทศอื่นตามไปด้วย” นายประดิษฐ์ กล่าว
สำหรับร่างแก้ไขเพิ่มเติม อัตราส่วนเงินสินบนรางวัล เป็นส่วนสุดท้ายของแผนปฏิรูปกรมศุลกากร โดยก่อนหน้านั้น คณะรัฐมนตรีก็ได้อนุมัติร่างแก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษที่กำหนดสำหรับความผิดเกี่ยวกับศุลกากรไปแล้ว โดยในร่างใหม่ได้แก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษปรับไว้ที่ 0.5-4 เท่าของราคาสินค้ารวมอากร แทนที่จะเป็นถูกปรับ 4 เท่าของมูลค่าสินค้า เหมือนเช่นปัจจุบัน
ร่างกฎหมายแก้ไขเพิ่มเติมอัตราโทษนี้ ได้บรรจุอยู่ในวาระการประชุมของสภาแล้ว โดยมีเป้าหมาย 2 เรื่องคือ
1. ต้องการจะทำให้ผู้ประกอบการมีทางเลือกที่จะเข้าสู่กระบวนการอุทธรณ์ต่อศาลได้ง่ายขึ้น หากเขาไม่พอใจการวินิจฉัยของกรมศุลกากร เพราะ “การวินิจฉัยที่ไม่เป็นธรรม” เป็นข้อร้องเรียนที่ได้รับบ่อยที่สุด
2. ต้องการจะให้ศาลมีความยืดหยุ่นที่จะวินิจฉัยเรื่องของ “เจตนา” ร่างกฎหมายใหม่นี้ จะเปิดโอกาสให้ศาล ได้ใช้ดุลยพินิจในการกำหนดบทลงโทษ ให้อยู่ระหว่าง 0.5-4 เท่าของราคาสินค้ารวมอากร ดังนั้นศาลก็จะมีช่วงของการลงโทษตามลำดับของความผิดที่แตกต่างกัน มากน้อยแล้วแต่กรณี
“ผมเชื่อว่าสิ่งที่เราทำให้กับ “แผนปฏิรูปกรมศุลกากร” จะ สนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจในทันที จากการช่วยให้ผู้ส่งออกและนำเข้าสามารถดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนั้นช่วยให้ประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากการที่นักลงทุนเลือกให้เป็นฐานการผลิตและการค้าในภูมิภาค และเป็นประเทศที่นักลงทุนจะเลือกเข้ามาลงทุน และสุดท้ายคือช่วยให้กรมศุลกากรยังคงมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาประเทศ และที่ผมภูมิใจที่สุดคือ โครงการที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ รัฐไม่เสียรายได้แม้แต่บาทเดียว”
“ผมขอย้ำว่านี่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่เราต้องรีบทำ และสิ่งที่ผมได้พูดไปทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อประเทศของเรา เพราะหลังจากการรวมกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ประเทศของเราจะต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นจากประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน และหากเราไม่เริ่มยกระดับความสามารถในการแข่งขันของเราให้สูงขึ้น ด้วยการลงมือทำโครงการอย่างที่เกิดขึ้นที่กรมศุลกากรล่ะก็ ประเทศเราจะต้องมีปัญหาแน่นอน” นายประดิษฐ์ กล่าว
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1497 ครั้ง