วันที่ 24 กุมภาพันธ์ หนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนของอังกฤษอ้างคำเปิดเผยของศ.ทิม นิบล็อก ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองในภูมิภาคตะวันออกกลางแห่งมหาวิทยาลัยเอ็กซีเตอร์ ที่ระบุว่าในแต่ละปีลิเบียมีรายได้หลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐจากการขายน้ำมันซึ่งมากกว่างบประมาณแผ่นดินเสียอีก แต่เชื่อว่าเงินจำนวนนี้ได้เข้าไปอยู่ในบัญชีทรัพย์สินของพันเอกกัดดาฟี และลูกทั้ง 9 คน แต่การตรวจสอบก็เป็นได้ยากเนื่องจากผู้นำลิเบียได้ซ่อนเงินดังกล่าวไว้หลายแห่งในหลายภูมิภาค
ศ.นิบล็อกเชื่อว่าพันเอกกัดดาฟีได้ซ่อนขุมทัรพย์มหาศาลที่ได้มานี้ในธนาคาร และในรูปของสินทรัพย์สภาพคล่องสูงในดูไบ ในกลุ่มประเทศอ่าวเปอร์เซีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มากกว่าที่จะเก็บในบัญชีธนาคารอังกฤษซึ่งมีความโปร่งใสมากกว่า
สืบเนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจของลิเบียจากการส่งออกน้ำมันหลังจากสหประชาชาติได้ยกเลิกการคว่ำบาตรตั้งแต่ปี 2546 ทำให้ลิเบียมีฐานะทางการเงินที่ดีเพียงพอต่อการนำไปลงทุนในต่างประเทศ รวมทั้งยังได้จัดตั้งกองทุนเพื่อการลงทุนภายใต้การบริหารงานขององค์การการลงทุนลิเบีย (แอลไอเอ) ในปี 2549 มีสินทรัพย์ประมาณ 7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.1 ล้านล้านบาท โดยได้ลงทุนซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศหลายแห่ง เช่น ในอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลลิเบียได้ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ในกรุงลอนดอนรวมทั้งในบริษัทต่างๆ เช่น กลุ่มบริษัทเพียร์สัน เจ้าของหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียล ไทม์ส อันทรงอิทธิพล เป็นต้น
ขณะที่นายซาอีฟ อัล อิสลาม กัดดาฟี ลูกชายคนที่ 2 ซึ่งเป็นลูกชายหัวแก้วหัวแหวนนั้นได้ทุ่มเงินราว 10 ล้านปอนด์ลงทุนซื้อบ้านขนาด 8 ห้องนอนที่แฮทสตีด ทางเหนือของกรุงลอนดอน ซึ่งมีทั้งสระว่ายน้ำและโรงหนังขนาดเล็กพร้อมสรรพ
นอกจากนั้น ยังเป็นไปได้ที่ครอบครัวของบุรุษเหล็กกัดดาฟีอาจจะนำเงินอีกส่วนหนึ่งไปช่วยค้ำจุนรัฐบาลของหลายประเทศในแอฟริกาเพื่อซื้อใจให้เป็นพันธมิตรอันดี อาทิ ช่วยค้ำจุนรัฐบาลของประธานาธิบดีโรเบิร์ต มูกาเบแห่งซิมบับเว เป็นต้น
เชื่อกันว่าในช่วงทศวรรษ 2533 กัดดาฟีอาจจะให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ชนเผ่าซากาวานในดาร์ฟูร์ ซึ่งศ.นิบล็อก เชื่อว่าชนเผ่านี้อาจจะเป็นหนึ่งในทหารรับจ้างที่เข้าไปช่วยกัดดาฟีปราบปรามประชาชนก็เป็นได้
ขณะเดียวกันลูกๆ ทั้ง 9 คนของพันเอกกัดดาฟีก็เหมือนกับบรรดาทายาทของผู้นำทรราชของหลายประเทศ อาทิ ลูกของอดีตประธานาธิบดีซูฮาร์โตแห่งอินโดนีเซียที่ต่างกระโจนเข้าไปเขมือบธุรกิจใหญ่ๆ เป็นว่าเล่น
เอกสารลับทางการทูตของสหรัฐที่รายงานเมื่อเดือนพฤษภาคม 2549 ซึ่งเว็บไซต์วิกิลีกนำมาเผยแพร่นั้นระบุว่าธุรกิจที่ครอบครัวของกัดดาฟีให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่งก็คือธุรกิจในภาคอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ธุรกิจโทรคมนาคม ธุรกิจการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจโรงแรม สื่อสารมวลชนและสินค้าบริโภค
นอกจากนี้ ลูกๆ ของกัดดาฟียังมีรายได้พิเศษจำนวนมหาศาลจากบริษัทน้ำมันและบริการน้ำมันแห่งชาติ
อย่างนายซาอีฟ ได้ลงทุนในธุรกิจน้ำมันผ่านบริษัท “วัน*-ไนน์ กรุ๊ป” ส่วนนายโมฮัมเหม็ด ลูกชายคนโตของกัดดาฟี เป็นหุ้นส่วนใหญ่ของธุรกิจเทเลคอมและอินเทอร์เน็ต ขณะที่นางไอชา มูอัมมาร์ ลูกสาวมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาคอุตสาหกรรมพลังงานและการก่อสร้าง เป็นต้น
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1844 ครั้ง