ตุรกี : หมากยุทธศาสตร์ตัวสำคัญของจีน
โดยเบ๊นซ์ สุดตา
ประเทศจีนและตุรกีต่างเป็นประเทศที่มีความสำคัญในเวทีโลกมากด้วยกันทั้งคู่
ด้านหนึ่งจีนก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจใหม่ของโลกในแทบทุกด้านอย่างไม่ต้องสงสัย
เป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ของโลกแซงหน้าญี่ปุ่นในปี 2010
เป็นประเทศที่มีทุนสำรองมากที่สุดในโลกอย่างต่อเนื่องและนั่นย่อมทำให้จีนถือครองเงินสกุลหลักและสินทรัพย์ต่างๆมากที่สุดในโลกซึ่งย่อมหมายถึงการเป็นเจ้าหนี้แทบทุกประเทศในโลกด้วย
จีนมีการส่งออกมากที่สุดในโลกและมีการนำเข้ามากเป็นอันดับ 2 ของโลกทำให้จีนมีฐานะเป็นคู่ค้ารายใหญ่กับทุกประเทศในโลกด้วย
ขณะเดียวกันในฟากของตุรกีนั้นนับวันก็มีความสำคัญมากขึ้นในทุกๆด้านเช่นกัน
หากมองในแง่เศรษฐกิจแล้ว ประเทศตุรกีที่มีประชากรราว 70
ล้านคนถือว่ามีเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกมุสลิม ใหญ่กว่าซาอุดิอาระเบียที่มีน้ำมันมหาศาล
และใหญ่กว่าอินโดนีเซียที่มีประชากรมากกกว่า 200 ล้านคน
เศรษฐกิจตุรกีที่มีฐานการผลิตและตลาดภายในประเทศที่ค่อนข้างเข้มแข็งทำให้เมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปด้วยกันแล้ว
ตุรกีมีเศรษฐกิจใหญ่อยู่ในอันดับ 6 หรือ 7 ของยุโรปเลย ขณะที่ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
เศรษฐกิจตุรกีมีการขยายตัวในระดับที่น่าพอใจคือ โดยเฉลี่ยมากกว่า 5-6% ต่อปี
ซึ่งเป็นการเติบโตบนฐานที่ค่อนข้างใหญ่มากด้วย
ขณะเดียวกันตุรกีถือว่าเป็นประเทศที่เสียงดังมากในเวทีโลกในฐานะ 1
ในสมาชิกของกลุ่ม G20 ซึ่งถือว่าเป็นเวทีระหว่างประเทศที่ทรงอิทธิพลที่สุดในปัจจุบันนับแต่หลังวิกฤตการเงินปี
2008 เป็นต้นมา
ปี 2010
ถือว่าเป็นปีที่จีนเปิดฉากพัฒนาความสัมพันธ์กับตุรกีอย่างมีนัยสำคัญ
ผู้นำระดับสูงของทั้ง 2 ประเทศมีการไปมาหาสู่ระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ
ขณะเดียวกันประเทศจีนเองได้ให้ความสำคัญกับตุรกีลึกถึงระดับวัฒนธรรมและประชาชนอย่างมาก
ทั้งนี้หากสังเกตแนวโน้มในปี 2010 และต่อเนื่องในปี 2011
จีนมีการเดินเกมรุกอย่างมากในแง่ของนโยบายทางวัฒนธรรมและการเปิดเกมรุกในสงครามสื่อครอบโลกหรือที่เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า
นโยบายด้านอำนาจละมุนหรือ Soft Power นั่นเอง ปี 2010 จีนได้มีการจัดมหกรรมทางวัฒนธรรมครั้งยิ่งใหญ่ในตุรกีที่ชื่อ
“สัมผัสประสบการณ์จีนในตุรกี” หรือ “Experience China in Turkey” ณ นครอังการา
เมืองหลวงของตุรกีซึ่งมีการแสดงทางวัฒนธรรมจากทุกชนชาติของจีนและการแสดงจากฟากตุรกีเอง
นอกจากนั้นแล้วยังมีการพบปะและแลกเปลี่ยนทางวิชาการของนักวิชาการและคนในวงการวัฒนธรรม
สื่อสารมวลชน และด้านวรรณกรรมของทั้ง 2 ประเทศด้วย
ความสำคัญของตุรกีที่มีต่อจีนนั้นสามารถมองได้ใน
2 แง่มุมนั่นคือ ความสำคัญภายในและความสำคัญภายนอก
โดยความสำคัญภายในนั้นตุรกีจะเข้ามามีบทบาทสำคัญทั้งนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและเสถียรภาพทางการเมืองด้วย
ขณะที่ภายนอกนั้นแน่นอนว่าเป็นเรื่องของกิจการระหว่างประเทศและยุทธศาสตร์ในเชิงภูมิรัฐศาสตร์ของจีนในระยะยาว
ความสำคัญภายในสำหรับความสำคัญของตุรกีที่มีต่อนโยบายภายในประเทศจีนนั้นไม่อาจนำมาเปรียบเทียบกับประเทศชั้นนำทางเศรษฐกิจของโลกอย่างสหรัฐฯ
สหภาพยุโรป หรือประเทศเพื่อนบ้านอย่างญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรือไต้หวัน
ทั้งนี้เนื่องจากประเทศตุรกีไม่ใช่ประเทศทีมีความพร้อมทั้งด้านทุน เครือข่าย
การจัดการ และเทคโนโลยี ขณะเดียวกันยังเป็นประเทศเกิดใหม่ทางเศรษฐกิจเหมือนจีนด้วย
นอกจากนั้นยังไม่ใช่ประเทศที่เป็นบ้านใกล้เรือนเคียงเหมือนประเทศอื่นๆในเอเชีย
แต่ความสำคัญของตุรกีที่มีต่อจีนนั้นกลับโยงมาทางทิศตะวันตกของจีนนั้นคือ
เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์
ซึ่งเป็นมณฑลที่มีประชากรมุสลิมอาศัยอยู่หนาแน่นที่สุด ซินเจียงมีประชากรส่วนใหญ่เป็นชนชาติอุยกูร์ซึ่งถือเป็นสายหนึ่งของชนชาติเติร์กที่กระจายอยู่ทั่วไปในแถบเอเชียกลางและในหลายๆมณฑลทางภาคตะวันตกของจีน
บ่อยครั้งที่จีนเองมีปัญหากับมณฑลนี้บ่อยครั้งซึ่งหนีไม่พ้นปัญหาด้านความมั่นคง
รองลงมาก็คือปัญหาความขัดแย้งที่มีต่อชาวฮั่นที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ จีนเองให้ความสำคัญอย่างมากกับนโยบายการปราบปราม
“3 กองกำลังแห่งความชั่วร้าย” ซึ่งได้แก่ กลุ่มผู้ก่อการร้าย พวกแบ่งแยกดินแดน
และพวกสุดโต่ง
ซึ่งจีนนี้เน้นย้ำเรื่องนี้มากในระหว่างหารือกับตุรกีและที่ประชุมองค์การความร่วมมือแห่งเซี่ยงไฮ้หรือSCO (Shanghai Cooperation Organization) ด้วย
ทั้งนี้ระหว่างการพบปะกันระหว่างนายสี่
จิ้นผิงรองประธานาธิบดีจีนและนายอาเหม็ต ดาวูโทกลู (Ahmet Davutoglu) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของตุรกีที่กรุงปักกิ่งช่วงเดือนพฤศจิกายน
2010
จีนได้แสดงความขอบคุณตุรกีในการช่วยจัดการกับกลุ่มเตอร์กิสถานตะวันออกที่จีนมองว่าเป็นกลุ่มก่อการร้ายที่คุกคามเสถียรภาพของจีนเอง
และนายสี่ยังได้ย้ำถึงความร่วมมือในด้านความมั่นคงที่จีนต้องการจากตุรกีในเรื่องนี้ด้วย
มณฑลซินเจียงนั้นถือว่ามีความสำคัญต่อยุทธศาสตร์ในการขยายอิทธิพลของจีนในเขตยูเรเชีย
ขณะเดียวกันจีนเองก็เล็งเห็นถึงความสำคัญของมณฑลซินเจียงในการพัฒนาเศรษฐกิจจีนด้วย
มณฑลซินเจียงเป็นมณฑลขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากรมากมายมหาศาลทั้งทองแดง ถ่านหิน
ยูเรเนียม ทองคำ หรือโปแตชที่มีความสำคัญต่อการผลิตปุ๋ยด้วย
นอกจากนั้นแล้วจีนเองให้ความสำคัญต่อการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานในซินเจียงและมณฑลด้านในมากขึ้นด้วย
ที่น่าสนใจมากก็คือ จีนได้เชิญตุรกีให้มาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาภาคตะวันตกด้วย
การเข้ามาของทุนตุรกีในอนาคตย่อมมีบทบาทสูงในการเปลี่ยนโฉมการเมืองในภูมิภาคนี้ให้ทิศทางลมมาอยู่ทางฝั่งจีนมากขึ้น
จีนจะมีความสะดวกในการจัดการกับความขัดแย้งที่มีต่อชนกลุ่มน้อยต่างๆและกลุ่มคนมุสลิมในประเทศก่อให้เกิดเสถียรภาพในภาคตะวันตกและยกระดับภาพลักษณ์ของพรรคในสายตาชนกลุ่มน้อยและคนมุสลิมด้วย
ความสำคัญภายนอก ความสำคัญของตุรกีที่มีต่อกิจการระหว่างประเทศของจีนเองนั้นสัมพันธ์กับพลวัตภายในของการเมืองและเศรษฐกิจภายในจีนเองด้วย
ซินเจียงนั้นถือว่าเป็นฐานที่มั่นสำคัญในการดำเนินนโยบาย “Yuan Internationalization” หรือการพาเงินหยวนขึ้นสู่เงินสกุลสำคัญของโลกในอนาคตด้วย
ทั้งนี้ในฝั่งตะวันออกจีนใช้ความได้เปรียบทางภูมิศาสตร์และระบบต่างๆในการให้หยวนปักธงนอกประเทศผ่านฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้
บทบาทของซินเจียงในภาคตะวันตกนั้นสัมพันธ์กับการค้ากับเพื่อนบ้านในแถบเอเชียกลางซึ่งจีนสามารถอาศัยกรอบความร่วมมือผ่านองค์กรSCO ในการผลักดันเงินหยวนสู่ตลาดโลกทั้งนี้บทบาทหลักจะอยู่ที่การค้าทรัพยาการหรือการดันให้เป็น
“เปโตรหยวน”นั่นเอง
อีกด้านหนึ่งก็คือการค้าและการลงทุนในภาคการผลิตซึ่งจะเชื่อมโยงกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเช่นทางรถไฟระหว่างซินเจียงและเอเชียกลางด้วย
การมีตุรกีเป็นหุ้นส่วนการพัฒนาและความมั่นคงย่อมเป็นประโยชน์ต่อยุทธศาสตร์ของจีนในด้านนี้ด้วย
จีนเองยังมีข้อตกลงที่จะค้ากับตุรกีเป็นเงินท้องถิ่นของแต่ละประเทศด้วยซึ่งนั่นหมายถึงการเชื่อมต่อเขตอิทธิพลของเงินหยวนตลอดเส้นทางสายไหมอันยาวไกลตั้งแต่ฝั่งแปซิฟิกไปสุดจนถึงทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
นอกจากนั้นแล้วการที่จีนสามารถใช้ตุรกีเชื่อมโยงซินเจียง
เอเชียกลางและตุรกีเข้าด้วยกันทั้งภายในและภายนอกจีนยังเป็นผลดีต่ออิทธิพลเงินหยวนให้เป็นที่ยอมรับในโลกมุสลิมด้วย
ตุรกีเองก็มีผลประโยชน์และต้องการมีบทบาทและอิทธิพลมากขึ้นทั้งในตะวันออกกลางและโลกมุสลิมโดยรวม
ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นในทุกๆระดับทั้งผู้นำและประชาชนยังทำให้จีนสามารถพึ่งพาตุรกีให้ช่วยเป็นเสียงให้จีนในโลกมุสลิมและประสานผลประโยชน์ในด้านอื่นๆของจีนในโลกมุสลิมได้โดยเฉพาะการยืมมือตุรกีในแง่ของบทบาทที่จีนจะเล่นในแง่ของความมั่นคงในตะวันออกกลางที่มีความสำคัญต่อจีนในทั้งแง่ของการค้าและด้านพลังงาน
เมื่อเป็นเช่นนี้นับว่าตุรกีถือเป็นสมการทางยุทธศาสตร์ที่เหมาะเจาะและสำคัญต่อจีนอย่างยิ่งในหลายๆด้าน
การดำเนินความสัมพันธ์กับตุรกีของทางฝั่งจีนจึงเป็นไปอย่างค่อนข้างลึกซึ้งเมื่อเทียบกับที่อื่นทั้งนี้นอกจากการประโคมข่าวและให้ความสำคัญต่อมหกรรมวัฒนธรรมจีนตุรกีเป็นพิเศษแล้ว
จีนยังได้ออกนิตยสาร China Today ฉบับภาษาเติร์กเป็นการเฉพาะด้วยเพื่อเป็นแหล่งข้อมูลทางตรงและเวทีความคิดที่เชื่อมโยงประชาชน
2 ประเทศเข้าด้วยการ
การสื่อสารทางตรงเช่นนี้ย่อมส่งผลสำคัญในระยะยาวต่อฐานะทางยุทธศาสตร์ที่มีต่อกันทั้ง
2 ประเทศในด้านการค้า การเงิน การลงทุน ความมั่นคง และ วัฒนธรรมและการสื่อสาร
หากตุรกีมีความสำคัญต่อจีนมากจนถึงจุดๆหนึ่งเป็นไปได้ว่าจีนอาจขยายความร่วมมือทางความมั่นคงแบบเต็มพิกัดในรูปของการเชิญตุรกีเข้าเป็นสมาชิกถาวรของSCO ก็เป็นไปได้ ทั้งนี้การเชิญตุรกีเข้า SCO นั้นต้องสัมพันธ์กับขอบข่ายผลประโยชน์และอิทธิพลของจีนที่ต้องแผ่ขยายมากขึ้นในเอเชียกลางและเชื่อมโยงกับกลุ่มอำนาจและเศรษฐกิจนอกทางสายไหมทั้งในยุโรป
ตะวันออกกลาง และแอฟริกาด้วย
ซึ่งนั่นจะทำให้ตุรกีมีความสำคัญสูงขึ้นมาทันทีและส่งผลสำคัญต่อทิศทางนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงของจีนและSCO โดยรวมด้วยจากปัจจุบันที่บทบาทของ SCO มุ่งไปที่เอเชียกลางเป็นหลัก
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1979 ครั้ง