รูปภาพ : ประธานาธิบดีอับดุลเลาะห์ กัล (Abdullah Gul) ของตุรกี
ที่มา : ถ่ายโดย SELCAN HACAOGLU สำนักข่าว AP
นายอับดุลเลาะห์ กัล ประธานาธิบดีตุรกีได้ออกจากตุรกีเพื่อเยือนประเทศอิยิปต์วานนี้ (พฤหัสบดีที่ 3 มีนาคม 2011) ซึ่งถือเป็นการเยือนครั้งแรกของประธานาธิบดีจากต่างประเทศหลังจากเหตุประท้วงในอิยิปต์นำมาซึ่งการโคน่ล้มอำนาจของนายฮอสนี่ มูบารักอดีตประธานาธิบดีอิยิปต์
ตุรกีจะแบ่งปันประสบการณ์และมุมมองต่างๆกับประเทศตะวันออกกลางอื่นๆซึ่งกำลังอยู่ในช่วงกระบวนการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ นายกัลกล่าวกับผู้สื่อข่าวก่อนออกเดินทาง โดยเขามีกำหนดการพบปะกับนายโมฮัมเหม็ด ฮุสเซน ทันทาวี (Mohammed Hussein Tantawi) หัวหน้าสภาสูงสุดของกองทัพอิยิปต์ (Armed Forces Supreme Council)
ผลสำรวจที่ออกมาเมื่อไม่นานมานี้โดยมูลนิธิเพื่อการศึกษาทางเศรษฐกิจและสังคมแห่งตุรกีหรือ TESEV (Turkish Economic and Social Studies Foundation) ระบุว่า 66% ของผู้ตอบแบบสอบถามในภูมิภาคตะวันออกกลางพบว่า ตุรกีเป็นส่วนผสมที่ประสบความสำเร็จระหว่างอิสลามและประชาธิปไตย
การสำรวจครั้งนี้ของ TESEV ทำการสอบถามกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 2,000 คนในประเทศอิยิปต์ อิหร่าน อิรัก จอร์แดน เลบานอน ซีเรีย ซาอุดิอาระเบีย และดินแดนปาเลสไตน์ในช่วงเดือนสิงหาคมและกันยายนปีที่แล้วและเผยแพร่ผลการสำรวจเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ตุรกีสามารถเป็นตัวอย่างของความก้าวหน้าด้านการเมือง สังคมวัฒนธรรม และเศรษฐกิจซึ่งประสบความสำเร็จในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นายอะติลลา แซนดิกลี (Atilla Sandikli) ประธานสถาบันวิจัย Wise Men Center for Strategic Research (BILGESAM) กล่าวกับสำนักข่าวซินหัว
ด้วยระบอบประชาธิปไตยแบบหลายพรรคการเมืองที่มีพลวัต ทำให้ตุรกีมีทางเลือกที่เพียงพอสำหรับความต้องการทางการเมืองที่หลากหลายและสภาพแวดล้อมเช่นนั้นยังได้ช่วยยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจอีกด้วย เขากล่าว
พรรคความยุติธรรมและการพัฒนาหรือพรรค AKP (Justice and Development Party) ซึ่งเป็นพรรครัฐบาลในปัจจุบันของตุรกีถูกมองว่าเป็นพรรคการเมืองอิสลามสายกลางและขึ้นสู่อำนาจหลังจากชัยชนะในการเลือกตั้งเมื่อปี 2002 พรรค AKP ได้รับการคาดหมายว่าจะสามารถชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 ได้ในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้
นายแซนดิกลีกล่าวอีกว่า พรรค AKP ถือเป็นแบบอย่างสำหรับขบวนการเคลื่อนไหวอิสลามในภูมิภาคโดยการแยกความรุนแรงออกจากอิสลาม
“หากพวกเขาใช้ความรุนแรงแบบที่ฮามาสทำในกาซ่า มันจะนำไปสู่ปัญหาที่มากขึ้นต่อประชาชนของพวกเขา แต่กระบวนการของการทำการเมืองในระบอบประชาธิปไตยจะนำมาซึ่งความได้เปรียบที่มากขึ้นต่อประชาชนของพวกเขา” เขากล่าว
แต่ผู้สังเกตการณ์บางท่านกลับชี้ไปที่ความแตกต่างระหว่างตุรกีและประเทศต่างๆเช่นอิยิปต์ โดยมองว่า “โมเดลตุรกี” (Turkish Model) ไม่จำเป็นจะต้องเป็นแบบอย่างเสมอไป
ตุรกีมีพรรคการเมืองของมวลชนมากมายที่ได้รับการจัดตั้งมาเป็นอย่างดีในช่วงก่อนปี 1960-1980 ซึ่งเป็นช่วงที่ประเทศเผชิญกับการรัฐประหารและต้องเปลี่ยนผ่านจากยุคของเผด็จการทหารมาสู่การปกครองโดยพลเรือน ซึ่งตรงกันข้ามกับอิยิปต์ในวันนี้ที่ปราศจากระบบพรรคการเมืองเช่นนั้น นายโซเนอร์ คากับเทย์ (Soner Cagaptay) ผู้อำนวยการโครงการวิจัยตุรกีที่สถาบันวอชิงตันเพื่อนโยบายตะวันออกใกล้ (Washington Institute for Near East Policy) เขียนลงในบทความลงหนังสือพิมพ์รายวันเฮอร์ริเย็ต (Hurriyet Daily) เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
นายมุสตาฟา กีบารอกลู (Mustafa Kibaroglu) ผู้ช่วยศาสตราจารย์จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยบิลเกนต์ (Bilkent University) ก็กล่าวด้วยว่า พรรคการเมืองหรือขวนการเคลื่อนไหวมวลชนในประเทศมุสลิมอื่นๆไม่ได้มีพื้นฐานเช่นเดียวกับพรรค AKP
อย่างไรก็ตามความสำเร็จของพรรค AKP ซึ่งได้รับการพิสูจน์จากการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญของคะแนนเสียงเป็นกว่า 47% ในการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2007 อาจเป็นแรงบันดาลใจในแง่ที่ว่าพรรคการเมืองที่มีรากเหง้าอิสลามสามารถปรับทัศนคติให้อ่อนลงและขยายมุมมองต่อโลกของตัวเองโดยการแบกรับภาระในการบริหาร นายกีบารอกลูกล่าวกับซินหัว
เขาได้ย้อนกลับไปพูดถึงความกังวลในตุรกีเมื่อครั้งที่พรรค AKP ชนะการเลือกตั้งในปี 2002 ที่ว่า “อิสลามในทางการเมือง” (Political Islam) จะขยายตัวมากขึ้นในตุรกีเช่นเดียวกับในประเทศมุสลิมอื่นๆหรือไม่ และนั่นจะสร้างความท้าทายต่อระบอบโลกวิสัย (Secular Regime) ของตุรกีหรือไม่
แต่รัฐบาลพรรคเดียวภายใต้การนำของพรรค AKP ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า การแบกรับความรับผิดชอบในการปกครองประชากรจำนวนมากที่มีพื้นเพที่หลากหลายและมีความคาดหวังที่แตกต่างกันเป็นเหตุให้เกิดการผ่อนคลายลงในระดับหนึ่งในถ้อยแถลงของผู้นำพรรค นายกีบารอกลูระบุ
การถกเถียงเรื่อง “โมเดลตุรกี” เกิดขึ้นเนื่องจากอิทธิพลในระดับภูมิภาคของตุรกีได้ขยายตัวขึ้นภายใต้ข้อริเริ่มของตุรกีในการยื่นมือเข้าไปในประเทศเพื่อนบ้านในตะวันออกกลางและตัดความสัมพันธ์ทางการค้ากับศัตรูเก่าอย่างซีเรียและอิหร่าน
ภายใต้นโยบาย “ไม่มีปัญหากับเพื่อนบ้าน” (Zero Problem with Neighbors) ตุรกีกำลังมีบทบาทเพิ่มขึ้นในการทำหน้าที่เป็นตัวกลางในจุดเสี่ยงต่างๆของภูมิภาคเช่นในอิรัก อิหร่าน และเลบานอนอีกด้วย
อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ระดับสูงได้ออกมาปฏิเสธถึงแนวคิดของการเป็นโมเดลสำหรับประเทศมุสลิม
“เราไม่สามารถทำการเปรียบเทียบใดๆระหส่างประเทศต่างๆในภูมิภาคได้และตุรกีไม่ต้องการจะสั่งสอนประเทศอื่น … ไม่มีหนทางที่ถูกต้องเพียงทางเดียวตราบใดที่ประชาชนในประเทศเหล่านั้นยังคงมีความสุขกับทางเลือกที่พวกเขาค้นพบ ก็จงให้เป็นเช่นนั้นต่อไป” เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงการต่างประเทศตุรกีกล่าวภายใต้เงื่อนไขของการไม่เปิดเผยตัวตนตามกฎของกระทรวง
ในช่วงการให้สัมภาษณ์กับวำนักข่าว AFP เมื่อเดือนที่แล้ว นายกรัฐมนตรีเออร์โดแกน (Erdogan) ของตุรกีกล่าวว่า ตุรกีสามารถนำเสนอบทเรียนแก่ประเทศอาหรับได้
“เราไม่ต้องการที่จะเป็นโมเดลหรือะไรก็ตาม แต่เราสามารถเป็นแหล่งของแรงบันดาลใจได้เนื่องจากตุรกีได้แสดงให้เห็นแล้วว่า อิสลามและประชาธิปไตยสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ” AFP อ้างคำพูดของนายเออร์โดแกนอย่างที่กล่าวมานี้
ที่มา สำนักข่าวซินหัว
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday