นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ กรรมการปฏิรูป
นายนิธิ เอียวศรีวงศ์ กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่เกี่ยวกับปัญหาประเทศไทย คือ ภาคส่วนต่างๆ มีอำนาจต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกันจนบางกลุ่มเอารัดเอาเปรียบกลุ่มอื่นๆ ดังนั้นต้องทำให้ทุกกลุ่มคนในสังคมมีโอกาสและอำนาจในการต่อรองใกล้เคียงกัน ซึ่งขณะนี้สังคมไทยเปลี่ยนแปลงไปเพราะคนทุกกลุ่มต้องการความเท่าเทียมและต้องการมีอำนาจต่อรองทางการเมืองมากขึ้น ดังนั้นการแก้ไขปัญหาทางการเมืองในความหมายนี้ คือการจัดการอำนาจที่เหลื่อมล้ำเกินไป มิใช่การเลือกตั้งหรือการชุมนุมประท้วงเพียงอย่างเดียว
ทั้งนี้ การต่อรองไม่ใช่การนั่งบนโต๊ะเจรจา หรือการเลือกตั้ง แต่การสร้างอำนาจต่อรอง คือการเพิ่มกำลังในการต่อรอง เช่น การเข้าถึงการศึกษา , ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือสื่อ ดังนั้นผู้ใดเข้าถึงสิ่งเหล่านี้ย่อมมีกำลังในการต่อรองสูงกว่า ขณะที่หีบบัตรเลือกตั้ง คือผลสุดท้ายของการมีกำลังในการต่อรอง
“คน 60%ไม่สามารถต่อรองได้เพราะเข้าไม่ถึงทรัพยากรแต่จะทำอย่างไรให้คนเหล่านี้ได้เข้าถึง เช่น การจัดสรรที่ดินทำกิน โดยเฉพาะคนระดับล่าง นี้คือตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุด ซึ่งเมื่อมีกำลังต่อรองแล้ว ก็สามารถรวมตัวกันเพื่อกดดันต่อรองต่อผู้มีอำนาจให้นักการเมืองต้องทำ อย่างไรก็ตามเวทีต่อรองสำคัญที่สุด คือ พรรคการเมืองซึ่งมีนักการเมืองเป็นตัวกลางประสาน สื่อสารมวลชน และการชุมนุมของประชาชน” นายนิธิ กล่าว
นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล กรรมการปฏิรูป
ส่วนนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล กล่าวว่า ปัญหาการเมืองไทยมี 2 อย่าง คือ ระบบการเมืองที่ไม่ลงตัว ไม่สามารถสร้างความพอใจแก่ประชาชนได้ และ การพัฒนาประเทศที่ไม่เท่าเทียมส่งผลให้เกิดความแตกต่างทางรายได้อย่างมหาศาล รวมถึงการเปลี่ยนแปลงโลกาภิวัฒน์ที่สร้างเงื่อนไขเข้ามาแย่งชิงฐานทรัพยากรของคนไทย
ขณะที่กลไกภาครัฐไม่สามารถรับมือได้ ปล่อยให้กลไกตลาดเสรีด้วยการปล่อยให้นายทุนต่างชาติเข้ามาประสานผลประโยชน์บนฐานทรัพยากรโดยตรงกับรัฐบาลกลางโดยไม่ดูแลผลประโยชน์ของประชาชน จึงเป็นเหตุสำคัญให้ทุกกลุ่มคนนิ่งเฉยอยู่ไม่ได้ จนเป็นการชุมนุมประท้วง ทั้งนี้ การปฏิรูป คือ การปรับปรุงให้ดีขึ้นไม่ใช่เฉพาะการเมือง แต่รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมใหม่ จิตวิญญาณหรือการเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันให้ดีขึ้น รวมถึงการปรับความสัมพันธ์ทางอำนาจที่จะให้ประชาชนมีอำนาจ ก็จะได้ต่อสู้กับคนที่โตกว่าใหญ่กว่า
อีกนัยหนึ่ง คือ ประชาชนต้องปักปันเขตแดนทางอำนาจของตัวเองเพื่อไม่ให้กระแสทุนนิยมโลกาภิวัฒน์เข้ามารุกรานได้ และต้องให้มีการใช้อำนาจแนวราบแทนการใช้อำนาจแนวนิ่ง กล่าวคือแทนที่จะพึ่งนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจเหนือกว่ามาช่วยเหลือ ซึ่งนับเป็นการใช้อำนาจแนวดิ่ง ต้องให้มีการใช้อำนาจแนวราบ คือการกระจายอำนาจไปสู่มือประชาชนในระดับท้องถิ่นได้บริหารจัดการทรัพยากรของตัวเอง
“การเปิดเวทีต่อรองมากขึ้นแทนที่จะมาชุมนุมบนท้องถนน ด้วยการปฏิรูปโครงสร้างอำนาจในการลดอำนาจส่วนกลางและเพิ่มอำนาจให้กับท้องถิ่นที่จะโยงใยไปสู่การกระจายการแก้ไขปัญหาในระดับท้องถิ่นได้ แทนจะมาชุมนุมประท้วงกันที่ทำเนียบรัฐบาล” นายเสกสรร กล่าว
นายเสกสรร กล่าวว่าข้อดีของการกระจายอำนาจ คือ1. ปัญหาจะไม่รวมศูนย์ ทำให้มีโอกาสมากขึ้นในการสะสางปัญหาไม่เป็นธรรมในสังคม หรือกระบวนการยุติธรรม และ 2.ระบบทุนนิยมสากลไม่สามารถเข้ามาลุกล้ำได้เพราะท้องถิ่นได้ปักปันเขตแดนอำนาจไว้ไม่ให้เข้ามาแย่งชิงฐานทรัพยากร ดังนั้นการปรับโครงสร้างทางอำนาจคือหัวใจในการปฏิรูป หากทำไม่ได้ก็จะเป็นแค่ความฝันที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆในสังคม
“มนุษย์เป็นจอมผลิตปัญหา ดังนั้นต้องมีการสร้างกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน เพระาถ้าไม่สร้างกลไกจะทำให้เจอแต่วิกฤตซ้ำซากไม่มีวันสิ้นสุด” นายเสกสรร กล่าว
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 2360 ครั้ง