สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโต ปรากฏพระองค์เป็นครั้งแรกผ่านทีวี ทรงเสียพระราชหฤทัยเหตุแผ่นดินไหว-สึนามิถล่มญี่ปุ่น เรียกร้องให้ประชาชนอย่าละทิ้งความหวัง
สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโต แห่งญี่ปุ่น ปรากฏพระองค์เป็นครั้งแรก หลังเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหว และคลื่นยักษ์สึนามิพัดทำลายชายฝั่งญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ทรงตรัสแสดงความเสียพระราชหฤทัยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศ ผ่านการถ่ายทอดทางโทรทัศน์
สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโต
สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโต ตรัสว่า เราขอสวดมนต์ภาวนาให้ประชาชนจงมีความปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ พร้อมแสดงความปลอบขวัญเหยื่อของหายนะทางธรรมชาติครั้งนี้ และทรงเรียกร้องให้ประชาชนอย่าเพิ่งละทิ้งความหวัง และ พระองค์ทรงเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน
พร้อมกับนี้ยังทรงขอบใจเจ้าหน้าที่บรรเทาภัยฉุกเฉินทั้งจากญี่ปุ่นและต่างชาติในการพยายามค้นหาผู้สูญหาย และช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้รอดชีวิต และทรงปรารถนาว่าหน่วยกู้ภัยจะสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น และผู้ประสบภัยมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
สมเด็จพระจักรพรรดิยังตรัสว่า ทรงรู้สึกกังวลอย่างมากต่อปัญหาที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในจังหวัดฟุกุชิมะในขณะนี้เพราะสถานการณ์ไม่อาจคาดเดาได้ และหวังว่าจะสามารถควบคุมสถานการณ์ไม่ให้เลวร้ายลงกว่านี้
อย่างไรก็ตาม พระองค์ทรงหวังว่าประชาชนชาวญี่ปุ่นจะสามารถฝ่าฟันช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ไปได้ด้วยการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน
ทั้งนี้ไม่บ่อยครั้งนักที่สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโต จะทรงปรากฏพระองค์ต่อสาธารณะ
ส่งฮ.ฉีดน้ำหล่อเย็น
ส่วนการแก้ปัญหาเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์ สำนักข่าวเอ็นเอชเค รายงานว่า เตาปฏิกรณ์หมายเลข 3 และ 4 ที่โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิ เกิดกลุ่มควันพวยพุ่ง ซึ่งสามารถมองเห็นได้ในระยะ 30 กิโลเมตร โดยกลุ่มควันมีอยู่อย่างหนาแน่น ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากความร้อน ซึ่งเจ้าหน้าที่ ได้นำเฮลิคอปเตอร์ ฉีดน้ำ เพื่อระบายความร้อนเป็นการเร่งด่วนแล้ว
การเคลื่อนไหวดังกล่าว มีขึ้นในเวลาเดียวกับที่วิศวกรของโตเกียว อิเล็กทริค พาวเวอร์ (เทปโก) กำลังพยายามต่อสายไฟ จากโรงไฟฟ้าในบริเวณใกล้เคียง เข้าสู้โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมา โดยตรง ในความพยายามที่จะซ่อมแซมระบบหล่อเย็น ที่ได้รับความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหว กลับมาทำงานอีกครั้ง
ผู้อพยพขาดแคลน น้ำมัน-น้ำ-อาหาร
หลังการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ฟูกุชิมา ไดอิชิ จากจังหวัดฟูกุชิมา จนทางการญี่ปุ่นต้องสั่งให้มีการอพยพประชาชนกว่า 2 แสนคนในรัศมี 20 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้าออกจากพื้นที่
ทั้งนี้ล่าสุดผู้อพยพจำนวนมากยังขาดแคลน น้ำมัน น้ำ และอาหารอย่างหนัก
มาซาโอะ ฮารา นายกเทศมนตรีเมืองโคริยามา ซึ่งอยู่ห่างจากโรงไฟฟ้าฟูกุชิมาไปทางตะวันตก 50 กิโลเมตร กล่าวว่า ขณะนี้มีผู้อพยพจากพื้นที่ใกล้โรงไฟฟ้ามาอาศัยสถานพักพิงในเมืองราว 9,000 คน และในสนามเบสบอลอีก 200 คน
สิ่งที่ผู้อพยพต้องการอย่างเร่งด่วนในตอนนี้ คือ น้ำมัน น้ำ และอาหาร โดยเชื้อเพลิงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะช่วยให้สามารถเดินเครื่องทำความร้อนเพื่อสร้างความอบอุ่นให้ผู้อพยพท่ามกลางอากาศเย็น และจำเป็นต้องนำมาใช้กับยานพาหนะเพื่อขนถ่ายขยะ
“แม้ผู้คนจะกลัดกลุ้ม แต่พวกเขาก็ไม่ตื่นตระหนก อย่างไรก็ตามพวกเขาเริ่มกังวลมากขึ้นหลังจากดูโทรทัศน์ และเห็นว่าส่วนอื่นในประเทศวิตกกันขนาดไหน”มาซาโอะกล่าว
ทั้งนี้ทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากทางการญี่ปุ่นได้เข้าตรวจสารกัมมันตรังสีให้ผู้อพยพ รวมทั้งแจกจ่ายยาเม็ดไอโอดีนเพื่อป้องกันอาการป่วยอันเกิดจากการได้รับสารกัมมันตรังสี โดยมีผู้อพยพเข้าคิวเพื่อเข้าตรวจกว่า 2 พันคน
ด้าน ไมเคิล โอเลียรี ผู้แทนขององค์การอนามัยโลก (ฮู) ได้แถลงยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีหลักฐานการแพร่กระจายของกัมมันตรังสีจากโรงไฟฟ้าญี่ปุ่นอย่างมีนัยสำคัญระดับสากล และยังไม่กระทบต่อประเทศอื่นๆ
ทั้งนี้องค์การอนามัยโลก กำลังทำงานร่วมกับรัฐบาลญี่ปุ่น และทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ในการประเมินสถานการณ์ และไม่คิดว่าจะมีอันตรายใดๆ ต่อสุขภาพของประชาชนในรัศมี 30 กิโลเมตรรอบโรงไฟฟ้าฟูกุชิมา
โอเลียรี ยืนยันว่า ข้อมูลที่ระบุว่า กัมมันตรังสีอาจแพร่กระจายไปทั่วเอเชีย และภูมิภาคอื่นนั้นเป็นเพียงข่าวลือ ซึ่งถูกส่งต่อกันไปด้วยวิธีต่างๆ ดังนั้น ทั้งรัฐบาล และประชาชนจึงควรดำเนินการเพื่อหยุดยั้งข่าวลือเหล่านั้น ซึ่งอาจทำลายขวัญกำลังใจของผู้คนได้
ขณะที่กระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นเรียกร้องให้นานาชาติลดความตื่นตระหนก หลังรัฐบาลของบางประเทศได้ออกคำเตือนต่อพลเมืองของตนเองต่อการเดินทางมายังประเทศญี่ปุ่น โดยรัฐบาลของอิรัก บาห์เรน และแองโกล่า ได้แจ้งต่อกระทรวงต่างประเทศญี่ปุ่นเพื่อแสดงความจำนงในการปิดสถานทูตชั่วคราว ขณะที่เจ้าหน้าที่ได้เดินทางออกนอกญี่ปุ่นแล้ว
กนะทรวงการต่างประเทศยังระบุว่า รัฐบาลปานามา ได้ทำการย้ายที่ทำการสถานทูตชั่วคราวไปยังเมืองโกเบ ขณะที่ออสเตรียทำการย้ายเจ้าหน้าที่สถานทูตรวมถึงเอกอัครราชทูตไปยังเมืองเกียวโต และเรียกร้องให้นักการทูตต่างชาติ และเจ้าหน้าที่รัฐบาลญี่ปุ่น ทำการถ่ายทอดข้อมูลข่าวสารที่ได้รับจากรัฐบาลในช่วงนี้อย่างถูกต้องแม่นยำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกรณีโรงไฟฟ้า
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1174 ครั้ง