เจาะลึกมหันตภัยร้าย “นิวเคลียร์”
เหตุการณ์แผ่นดินไหว 8.9 ริกเตอร์ และคลื่นยักษ์ “สีนามิ” ได้ถล่มเมืองเซนได ซึ่งห่างจากจังหวัดมิยากิใน หมู่เกาะฮอนชู จนเมืองทั้งเมืองพังพินาศย่อยยับ ผู้คนเสียชีวิตพุ่งกว่าหมื่นคน และสูญหายไปร่วมหมื่นคน ดังที่คนทั้งโลกได้รับข่าวคราวด้วยความตกตะลึงและสะเทือนใจต่อประชาชนชาวญี่ปุ่น
จนถึงขณะนี้ข่าวผลกระทบจากแผ่นดินไหวและ “สีนามิ” ยังได้รับทราบข่าวกันอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเกิดระเบิด เตาปฏิกรณ์ปรมาณู หมายเลข 1 ของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมา ตั้งอยู่ในเมืองโอคุมะ เขตฟุบาตะ จังหวัดฟูกุชิมา (ขนาดใหญ่ติด 1 ใน 25 ของโลก) ทำให้ชาวโลกและคนญี่ปุ่นต้องขวัญผวากันอีกครั้ง ซึ่งมีอยู่ 2 โรงได้แก่ หมายเลข 1 และหมายเลข 2 อยู่ใกล้กัน โดยหมายเลข 1 มีเตาปฏิกรณ์ 6 ตัว และหมายเลข 2 มีเตาปฏิกรณ์ 4 ตัว ทั้งนี้โรงไฟฟ้าหมายเลข 1-2 อยู่ห่างจากกรุงโตเกียว เมืองหลวงประเทศญี่ปุ่นเพียงแค่ 250 กม. ทำให้คนญี่ปุ่นและนานาชาติต้องกับมาช็อกด้วยความตกตะลึงถึงภัยอันตราของกมันตภาพรังสีของนิเคลียร์อีกครั้งหนึ่ง
อย่างไรก็ตามแม้จะมีการระบุว่ารังสีส่วนใหญ่ถูกพัดพาออกไปยังมหาสมุทรแปซิฟิกก็ตาม ล่าสุดทางการออสเตรเลีย ถึงกับออกโรงงแถลงทันควันว่า ประชาคมโลกต้องการทราบข้อมูลสรุปโดยด่วนเกี่ยวกับสถานการณ์เหตุระเบิดที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ พร้อมเร่งเสนอให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและผู้เชี่ยวชาญนิวเคลียร์แก่ญี่ปุ่น นอกจากนี้คณะกรรมาธิการของสภาคองเกรสสหรัฐอเมริกา ที่กำกับดูแลโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ ได้รีบส่งผู้เชี่ยวชาญเรื่องเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แบบน้ำเดือดเข้าไปช่วยเหลือทันที
ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญสหรัฐฯ ระบุชัดว่า หากเกิดเหตุการณ์เตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์หลอมละลายหรือเกิดการรั่วไหลของกัมมันตรังสี อาจทำให้มวลอากาศและไอน้ำในบรรยากาศ ที่มีฝุ่นกัมมันตรังสีปนเปื้อนแผ่ปกคลุมไปทางตะวันออกของมหาสมุทรแปซิฟิก จนอาจกระจายไปถึงชายฝั่งภาคตะวันตกของสหรัฐฯ อยู่ห่างจากประเทศญี่ปุ่น ประมาณ 8,000 กม. อย่างไรก็ดีส่วนใหญ่การแผ่รังสีจะเกิดขึ้นในระดับพื้นดินเท่านั้น นอกจากนี้อาณาบริเวณของมหาสมุทรแปซิฟิกก็กว้างใหญ่ไพศาลจึงยังไม่หวั่นวิตกมากเท่าไรนัก
หากถอยหลังกลับไปประมาณ 20 ปี เหตุการณ์โรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดที่เป็นข่าวคึกโครมไปทั่วโลก คงหนีไม่พ้น โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล( Chernobyl Nuclear Power Plant) ตั้งอยู่ที่นิคมเชอร์โนบิล ริมฝั่งแม่น้ำนีเปอร์ ใกล้เมืองพริเพียต จังหวัดเคียฟ ทางตอนเหนือของยูเครน ใกล้ชายแดนเบลารุส (ในขณะนั้นยูเครนและเบลารุสยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต) อุบัติเหตุที่เชอร์โนบิลนี้เป็นอุบัติเหตุที่เกิดกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุด เกิดระเบิดขึ้นตอนเช้าตรู่ของวันที่ 26 เม.ย.2529 ที่เตาปฏิกรณ์ปรมาณู 1 ใน 4 ของโรงงาน
ขณะทีมวิศวกรได้ทำการทดลองที่เตาปฏิกรณ์หมายเลข 4 โดยทดสอบว่าระบบทำความเย็นจะสามารถดึงกระแสไฟฟ้าจากเตาปฏิกรณ์มาใช้อย่างไร หากเกิดกรณีไฟตกหรือพลังงานต่ำกว่าความต้องการ เมื่อการทดสอบเริ่มขึ้น และวิศวกรก็เพิ่มการทำงานของก้านสูบ แต่ในเวลาไม่ถึง 1 นาทีระดับพลังงานก็เกิดมีปัญหา และเตาปฏิกรณ์ก็เริ่มร้อนเกินพิกัด สุดท้ายก็เกิดระเบิด มีผู้เสียชีวิตทันที 31 คน!!
สภาพหลังคาอาคารที่คลุมเตาปฏิกรณ์หลอมเปลี่ยนรูปเพราะความร้อน และปลิวหลุดออกไป ตามด้วยสิ่งที่อยู่ในเตาก็พวยพุ่งออกมาราวกับภูเขาไฟปะทุ อากาศบริเวณโรงงานถูกปกคลุมไปด้วยสะเก็ดจากเตา หลังหายนะที่แสนอันตราย แต่ดูเหมือนไม่ร้ายแรง นักผจญเพลิงปีนขึ้นไปบนหลังคาของโรงงานเพื่อจะสยบเพลิงที่ลุกโชติช่วง ขณะเดียวกันเฮลิคอปเตอร์หลายต่อหลายลำก็ทยอยขนทรายมาใส่ในเตาเพื่อลดแรงไฟและกัมมันตรังสีที่แผ่ออกมา ทุกคนต่างก็ไม่รู้ว่าการเข้ามาเกี่ยวข้องกับกัมมันตภาพรังสีนั้นมีความเสี่ยงมาน้อยแค่ไหน แม้จะสามารถดับเพลิงสำเร็จแต่ภายหลังทั้งหมดต่างจบชีวิตเพราะพิษกัมมันตภาพรังสี
ขณะนั้นมีการรายงานค่อนข้างช้าต่ออุบัติภัยดังกล่าว แม้ว่านานาประเทศในละแวกใกล้เคียงจะตรวจพบสารกัมมันตภาพรังสีลอยไปไกลหลายร้อยกิโลเมตร ในเมื่อการขาดข้อมูลข่าวสารที่แท้จริง ทำให้มีการอ้างความเสียหายแค่เพียงจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุระเบิดจำนวนไม่มาก ส่งผลให้ปัญหาการรั่วไหลของกัมมันตภาพรังสีที่แจ้งข้อมูลล่าช้า จนทำให้กระจายวงกว้างไปในหลายพื้นที่นั้น
นับเป็นอุบัติภัยทางนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์การใช้นิวเคลียร์ มีการกล่าวขานว่าหายนะภัยครั้งนี้ถูกประเมินว่ารุนแรงกว่าระเบิดปรมาณูที่ถล่มนางาซากิและฮิโรชิมาในประเทศญี่ปุ่น เพราะสารกัมมันตภาพรังสียังคงปนเปื้อนอยู่ต่อเนื่อง แม้ว่าโรงงานเชอร์โนบิลจะปิดตัวลงแล้ว แต่ประชาชนที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียง ซึ่งครอบคลุมทั้งพื้นที่เบลารุส ยูเครน และรัสเซีย มีเพียง 350,000 คนที่อพยพไปตั้งถิ่นฐานที่อื่น
ปัจจุบันสิ่งปนเปื้อนยังฝังแน่นอยู่ตามผืนดิน และหลังจากเกิดอุบัติเหตุระเบิด ก็พบกัมมันตรังสีปนเปื้อนอยู่ในทุกๆ ประเทศที่เหนือขึ้นไปตามทิศทางลมที่พัดพา อย่างเช่นประเทศในกลุ่มสแกนดิเนเวียที่ได้รับผลกระทบรุนแรงไม่แพ้กันเพราะอยู่ในทิศทางลมพอดี ในส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตจากผลพวงจากเหตุการณ์ระเบิดที่เชอร์โนบิล ที่ สหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุมีถึง 9,000 ราย เสียชีวิตด้วยมะเร็งอันเนื่องมาจากการรับสารรังสีเข้าไป แต่ทางกรีนพีซเชื่อว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบทางด้านสุขภาพน่าจะมากกว่าที่ยูเอ็นคาดการณ์ไว้
โดยเฉพาะเสียชีวิตด้วยมะเร็งน่าจะสูงถึง 93,000 คน และโรคอื่นๆ อีกนับแสนคน โรคที่เห็นเด่นชัดว่าเป็นผลพวงมาจากการรั่วไหลของกัมมัตภาพรังสี คือ มะเร็งที่ต่อมไทรอยด์ โดยพบมากถึง 4,000 คน ส่วนใหญ่กำลังเป็นเด็กและวัยรุ่นในช่วงที่เกิดเหตุระเบิด
บทเรียนจากเหตุการณ์การระเบิดที่โรงงานเชอร์โนบิล กลายเป็นบทเรียนสำคัญของมนุษย์ในการนำวิทยาการใหม่ๆมาใช้ ทำให้ทบวงการพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ (ไอเออีเอ) ตัดสินใจตั้งหน่วยรับมือฉุกเฉินที่กรุงเวียนนา ของประเทศออสเตรีย เมื่อปี พ.ศ.2529 มีอุปกรณ์การสื่อสารและคอมพิวเตอร์ ตลอดจนเอกสารและฐานข้อมูลที่จำเป็นในกรณีเกิดอุบัติเหตุสารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหล มีเจ้าหน้าที่ประจำการตลอด 24 ชั่วโมง และมีผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์พร้อมเดินทางไปยังที่เกิดเหตุในประเทศต่างๆ รวมถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นล่าสุดที่ประเทศญี่ปุ่น ก็จะมีทีมงานผู้เชี่ยวชาญเข้าไปช่วยเหลือและประเมินสถานการณ์ทันที
ถึงแม้ว่าพลังงานของนิวเคลียร์จะมีประโยชน์ต่อมวลมนุษย์ชาติในหลาย ๆ เรื่อง แต่ก็เป็นมหันตภัยของมนุษยช์ทั้งโลกเช่นกัน แต่พลังงานนิวเคลียร์ที่มวลมนุษย์ยังจำเป็นต้องใช้ประโยชน์ต่อโลกต่อไป เพียงแต่ว่าจะหาวิธีป้องกันภัยจากพลังนิวเคลียร์ได้มากน้อยเพียงใด
สำหรับโครงการโรงงานไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่กำลังจะคิดดำเนินการในอนาคตนั้น เหตุเกิดขึ้นที่ญี่ปุ่นในขณะนี้ อาจทำให้โครงการดังกล่าวจะหยุดชะงักลงไป หรือทำให้โครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ล่าช้าออกไปอีกนานแสนนาน
แต่ที่แน่ ๆ สักวันหนึ่งในอนาคตประเทศไทยคงหนีไม่พ้นโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ ดังเช่นประเทศอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้ว!!