เพื่อไทยชี้นายกฯถือสองสัญชาติส่อผลประโยชน์ทับซ้อน หนีการทำผิด เจอสวนกลับเหตุไม่สละสัญชาติ เพราะพฤติกรรมเป็นคนไทย “เฉลิม” อัด มาร์ค แทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เอื้อบ.บุหรี่ข้ามชาติ แฉคนปชป.โยงใย
วันที่ 18 มีนาคม เวลา 14.30 น. การอภิปรายไม่วางใจวันสุดท้าย ในช่วงบ่ายเป็นไปด้วยความเข้มข้น โดยเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดย นาง ฐิติมา ฉายแสง ส.ส. ฉะเชิงเทรา พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า นายอภิสิทธิ์ เป็นสาเหตุของปัญหาไทยและกัมพูชา เพราะมีการใช้นโยบายต่างประเทศที่เข้มข้น จนเกิดเหตุที่ปะทะกันที่จ.ศรีสะเกษ นายกษิต ภิรมย์ ไม่สมควรเป็น รมว. ต่างประเทศ เพราะเคยด่า นายฮุน เซน มาก่อน
อีกทั้งนายอภิสิทธิ์ยังล้มเหลวการแก้ปัญหามาบตาพุด ที่ไม่รับผิดชอบแต่กลับให้นายอานันท์ ปันยารชุน เป็นคนรับผิดชอบแทน ถือว่าเป็นการซื้อเวลา ทำให้การแก้ปัญหาไม่มีความคืบหน้า ทำให้ประเทศชาติเสียหาย เพราะนักลงทุนต่างไม่มั่นใจในนโยบายของรัฐบาล และหนีไปลงทุนประเทศอื่น เห็นได้ว่า นายกฯ เก่งแต่ปาก สักแต่พูด ล้มเหลว ล่าช้า ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาน้ำท่วม การแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์ม
นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ ยังมีการถือ 2 สัญชาติ ซึ่งอาจจะเกิดผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะประเทศไทยต้องมีการเจรจาการค้ากับประเทศอังกฤษ จึงไม่สามารถมั่นใจได้ว่านายกฯจะไม่โอนเอนเห็นแก่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นประเทศที่ให้ประโยชน์กับตัวเองมาก่อนหรือไม่ และการถือ 2 สัญชาติของนายอภิสิทธิ์ อาจจะซ้ำรอยกับ กรณี การฟูจิโมโต ฟูจิมูริ อดีตประธานาธิบดีเปรู ที่มี 2 สัญชาติ พอทำผิดก็หนีไปอยู่ญี่ปุ่น ดังนั้น หากนายอภิสิทธิ์ทำผิดก็อาจจะหนีไปอยู่อังกฤษและเครือจักรภพ ได้ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่รัฐบาลนี้มีการคอรัปชั่นและการปราบปรามประชาชน เพราะนายอภิสิทธิ์ คิดว่าตัวเองสามารถหนีไปอังกฤษได้
ส่วนที่ระบุว่า ” ถ้าให้ตนเองสละสัญชาติ แต่ให้คนของท่านสละด้วยจะยอมหรือไม่ “ นายอภิสิทธิ์พูดแบบนี้ได้อย่างไร เพราะตอนนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นนายกฯแล้ว จะถือสัญชาติใดก็ได้ ดังนั้น นายอภิสิทธิ์ ควรถือสัญชาติเดียว และควรสละการถือสัญชาติไปเลย ทั้งนี้แค่มีชื่อ “อภิสิทธิ์”ก็ผิดแล้ว
นายอภิสิทธิ์ ลุกขึ้นชี้แจงตอบโต้ว่า เรื่องนโยบายการต่างประเทศกรณีกัมพูชานั้น ตนเองไม่ได้เป็นคนปลุกให้มีการคลั่งชาติ แต่ปัญหาเกิดขึ้น เพราะรัฐบาลในปี 2551ในสมัยพรรคพลังประชาชนที่ยอมรับให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนเขาพระวิหารเป็นมรดกโลกเพียงฝ่ายเดียว โดยที่ไม่มีการสงวนสิทธิ ซึ่งอาจจะเกิดกรณีปัญกฎหมายปิดปาก เหมือนช่วงการขึ้นศาลโลกว่าไทยได้ยอมรับไปแล้ว ทั้งนี้รัฐบาลได้หยุดยั้งการขึ้นทะเบียนมรดกโลกมาได้นาน 2 ปี แต่รัฐบาลในขณะนั้นไม่หยุดยั้งแผนพัฒนาพื้นที่ของคณะกรรมการมรดกโลกเลย ส่วนปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชามีปัญหาตอนที่อดีตนายกฯยังไปเป็นที่ปรึกษาของรัฐบาลกัมพูชา จะเกิดปัญหาทับซ้อนหรือไม่เพราะ พ.ต.ท.ทักษิณเป็นคนลงนามเอ็มโอยูผลประโยชน์ในพื้นที่ทับซ้อนทางทะเล ทั้งหมดนี้ใครกันแน่ที่สร้างปัญหา
นายกฯ กล่าวว่า ปัญหาความขัดแย้งระหว่างไทยกับกัมพูชา เป็นความขัดแย้งในเชิงพื้นที่เท่านั้น แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงสนามการค้าเป็นสนามรบอย่างที่ฝ่ายค้านกล่าวหา เพราะมูลค่าค้าขายยังมีมูลสูงเช่นเดิม และรัฐบาลของตนเองไม่เคยนำไปปัญหาไปสู่พหุภาคี และพยายามแก้ปัญหาทวิภาคีมาโดยตลอด และไทยไม่ได้ต้องรุกรานใคร แต่ต้องปกป้องอธิปไตย
ส่วนเรื่องกรณีคนไทย 7 คน รัฐบาลได้ช่วยเหลือเต็มที่ จนออกมาได้ 5 คน เหลืออีก 2 คนก็ดำเนินการเต็มที่ แต่ยากกว่าเพราะทั้ง 2 คน มีข้อหาจารกรรม ส่วนเรื่องพันธมิตรฯนั้นตนเองไม่มีอำนาจในการห้ามด่า กัมพูชา เพราะแม้แต่ตัวเองยังห้ามไม่ให้พันธมิตรฯด่าตนเองไม่ได้
เรื่องที่ระบุว่า ความอ่อนด้อยประสบการณ์ทำให้ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันนั้น ความจริงมีหลายสำนัก แต่ตนเองต้องทำงานภายใต้บรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการลงทุน เพราะไม่รู้ว่าใครมาไปล้มการประชุมอาเซียซัมมิต อย่างไรก็ตาม ทางเวที World economic forum” เชิญตนเองไปประชุมทุกปี
ส่วนเรื่องการแก้ปัญหามาบตาพุดนั้น รัฐบาลต้องแก้ปัญหาตามคำสั่งศาลปกครอง ซึ่งรัฐบาลก็พยายามแก้ไขมาตลอด และให้มาบตาพุดเป็นบทเรียนเรื่องการตัดสินใจเชิงนโยบายของรัฐ และญี่ปุ่นไม่ได้ถอนการลงทุน เพราะในปี 2009 จำนวน 7 หมื่นล้าน ขณะที่ปี 2010 มีมูลค่าการลงทุน 1.4 แสนล้าน รวมถึงประเทศอเมริกาก็มีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ปัญหามาบตาพุดเกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยพรรคพลังประชาชน ที่มีการเรียกร้องเขตควบคุมมลพิษแต่ม่มีการแก้ปัญหา จนรัฐบาลตนเองต้องเข้ามาแก้ปัญหาเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา เพราะกฎหมายกำลังรอการพิจารณาจากสภา
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา ไม่เคยปิดบังเรื่องการเกิดที่ประเทศอังกฤษ แต่เรื่องการถือสองสัญชาติ ยังเป็นประเด็ของกฎหมาย โดยหลักของกฎหมายระหว่างประเทศจะดูสัญชาติคนให้ดูที่พฤติกรรม ที่ตนเองเข้ามาทำงานรับราชการ ไปอังกฤษก็ขอวีซ่า เพราะตนเองถือว่าตนเองเป็นคนไทย สัญชาติไทย ดังนั้น นักกฎหมายที่ศึกษาเรื่องนี้ก็ระบุว่า ไม่จำเป็นต้องสละสัญชาติ เพราะตนเองยึดสัญชาติไทย หากสละสัญชาติอังกฤษก็แปลว่าตนเองยึดกฎหมายอังกฤษมาตั้งแต่ต้น
ทั้งนี้เรื่องตนเองไม่เกี่ยวกับ ฟูจิมูริ แต่ที่พูดกันขึ้นมาเพื่อให้ตนเองขึ้นศาลโลก แต่ถ้าตนเองสละสัญชาติอังกฤษก็หาว่าตนเองหนีศาลโลก และตนเองไม่เคยมีผลประโยชน์ทับซ้อนเรื่องสัญชาติ เพราะไม่เคยไปเป็นที่ปรึกษาต่างชาติ ไม่เคยขอสัญชาติอื่นเพื่อไปลงทุนเพื่อผลประโยชน์ให้กับตัวเอง
“ผมขอประดับความรู้ นางฐิติมา ว่า ชื่อ “อภิสิทธิ์” แปลว่าความสำเร็จ” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายพนิช วิกิตเศรษฐ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ ใช้สิทธิถูกพาดพิงว่า กล่าวว่า คนอย่างตนเองไม่สามารถมีใครมาสั่งให้ไปที่ไหนได้ แต่ที่ตนเองเดินทางไปสระแก้ว เพราะมีชาวบ้านมาร้องเรียนว่ามีปัญหาไม่สามารถเข้าไปทำกินได้เท่านั้น เรื่องนี้ไม่เกี่ยวข้องกับนายอภิสิทธิ์แต่อย่าง
จากนั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวอภิปราย ด้วยประเด็นเดิมๆ ว่านายกฯ ล้มเหลวในการบริหารงานทุกเรื่อง
ในช่วงเย็น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ส.ส.สัดส่วน พรรคเพื่อไทย และประธาน ส.ส.พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปราย โดยกล่าวหาว่า นายอภิสิทธิ์ ทำลายเศรษฐกิจของชาติ ทำลายโครงสร้างการเก็บภาษี และทำลายธุรกิจยาสูบของ โดยมีโจรใส่สูทอ้างเป็นผู้แทนการค้าไทย สมคบกับบริษัทฟิลิป มอริส ซึ่งเป็นบริษัทแม่ที่อยู่ที่สหรัฐอเมริกาจำหน่ายบุหรี่ที่ใหญ่ที่สุดที่จำหน่ายบุหรี่มาโบโร และ แอลแอนด์เอ็ม ที่สำแดงราคานำเข้าเพื่อเสียภาษีเป็นเท็จจนทำให้รัฐเสียหายถึง 6.8 หมี่นล้านบาท
ทั้งนี้ ถือเป็นพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 3, 81(1), 255, 266 (1), 268 และ ป.วิอาญา มาตารา 157 โดยนายเกียรติ สิทธีอมร ผู้แทนการค้าไทย เป็นตัวละครสำคัญ ทำให้ทรัพย์สินของชาติเสียหาย โดย บริษัทฟิลิป มอริส ลิมิเต็ด ไทยแลนด์ จดทะเบียนเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2534 และได้มาตั้งบริษัทที่ เมืองไทย โดยมีแม่ยายของ สส.พรรคประชาธิปัตย์คนหนึ่งให้เช่าสถานที่ บริษัทนี้มีพฤติกรรมนำเข้าบุหรี่จาก บริษัทฟิลิป มอริส ในมาเลเซีย อินโดนีเซีย แต่ทั้งหมดถูกตั้งข้อหาว่าสำแดงราคาต่ำกว่าบริษัทอื่นๆ
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า การนำเข้าบุหรี่ดังกล่าวเป็นนิติกรรมอำพราง เป็นการแหกตา ไม่มีการซื้อขายกันจริงเพราะทั้งหมดเป็นการซื้อบริษัทในเครือข่ายที่ขึ้นกับบริษัทแม่เดียวกัน ซึ่งตั้งอยู่ที่สหรัฐอเมริกา และ ที่ต้องเปลี่ยนสถานที่ซื้อบุหรี่ไปเรื่อยๆ เพราะมีเจตนาเลื่ยงภาษีถึงไม่มีการซื้อขายการตรง
ทั้งนี้พบว่า การนำเข้าจากฟิลิปินส์ จำนวนทั้งหมด 292 ใบขนสินค้า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค 2546 – ก.ย. 2550 มีการสำแดงราคานำเข้าบุหรี่มาโบโร 7.76 บาท และ แอล์แอนด์เอ็ม 5.58 บาท พบว่ามีราคาต่างกับที่ คิงพาวเวอร์ สำแดงราคานำเข้าบุหรี่มาโบโร 27.64 บาท และ บุหรี่แอลแอนด์เอ็ม 16.81 บาท หรือ เมื่อเทียบกับการนำเข้าของอลิสอินเตอร์ สำแดงราคานำเข้าบุหรี่มาโบโร่ 22.23 บาท อีกทั้ง เมื่อเทียบกับบุหรี่มาโบโรซองแข็ง ที่ขายในฟิลิปินส์โดยไม่รวมภาษีตกอยู่ที่ 13.09 บาท และ ซองอ่อน ราคา 9.47 บาท ชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลส่งเสริมบริษัทข้ามชาติ คดโกงมวลชน อีกทั้ง ยังพบว่าเมื่อ บริษัทฟิลิป มอริสฯ ก็ใช้ทนายความของพรรคประชาธิปัตย์ช่วยวิ่งเต้นให้
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า กรณีที่ระบุว่าคดีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่สมัย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ นั้น สมัยนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ ได้อนุมัติให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ)เข้าไปสอบ และส่งให้อัยการสั่งฟ้อง แต่วันที่ 16 ก.ย. 2552 นายเกียรติ กลับอ้างบัญชานายอภิสิทธิ์ เรียกอัยการสูงสุด ดีเอสไอ และ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหนโดยทำเป็นหนังสือด่วนที่สุดจากสำนักงานเลขาธิการนายกรัฐนตรี เรียกประชุม ในวันที่ 16 ก.ย. 29 ต.ค. 52 หรือ 6 ก.พ. 53 ซึ่งถือว่าเข้าข่ายแทรกแซงองค์กรอิสระการเรียกประชุมเช่นนี้ถือว่าเหิมเกริมมาก ไม่มีวินัยทางการเมือง
“มาร์คเป็นนายกฯ ที่กล้ามาก ย่ามใจ คุณเพ้ออำนาจ เมาอำนาจ คุณควบคุมฝ่ายบริหารได้ แต่แทรกแซงกระบวนการยุติธรรมไม่ได้ โดยเฉพาะอัยการสูงสุด ที่เข้าไปยุ่งไม่ได้เพราะถือว่าศาลเป็นอิสระ แต่ว่าพวกคุณเคยตัวเพราะศาลรัฐธรรมนูญช่วยพวกคุณมาโดยตลอด” ร.ต.อ.เฉลิม กล่าว
ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวว่า ในที่สุดอธิบดีกรมศุลกากร ซึ่งเคยเป็นรองอธิบดีกรมสรรพากร และเป็นลูกน้องของนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รมช.คลัง ได้ทำหนังสือไปถึงดีเอสไอ ในระหว่างที่คดีนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการว่าจะส่งฟ้องหรือไม่ ซึ่งปกติเวลาพิจารณาว่าจะสอบสวนคดีเพิ่มเติม อัยการจะต้องเป็นผู้สั่งให้สอบเพิ่ม แต่นี่อธิบดีกรมศุลกากร กลับไปเอาใจนาย ไปให้การต่อดีเอสไอ จนในที่สุดอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้อง
“มาร์ค” ยัน “เกียรติ” ไม่มีอำนาจแทรกแซงคดีภาษีบุหรี่
ต่อมา เวลา 19.00 น. นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้ชี้แจงข้อกล่าวหาของร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ประธานสส.พรรคเพื่อไทย ว่า กรณีภาษีบุหรี่ของบริษัทฟิลิปมอร์ริส มันมีหลายช่วง หลายกรณีที่เกี่ยวพันกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งเราต้องแยกกันระหว่างกรณีฟิลิปปินส์และอินโดนิเซีย ยังอยู่ในขั้นตอนการสอบสวนของดีเอสไอตามปกติ ส่วนกรณีของฟิลิปปินส์มันมีข้อพิพาทที่ไปฟ้องWTO กรมศุลกากรก็อุทรธรณ์เรื่องนี้ไปWTOเมื่อเดือนก.พ. 2554 จึงไม่มีตรงไหนว่ารัฐบาลไทยยอมยกธงยอมแพ้ ทั้ง 2 คดียังไม่ถึงที่สุด ส่วนคดีที่ดีเอสไอส่งให้อัยการแล้วอัยการส่งไม่ฟ้องนั้น ก็ได้ส่งเรื่องกลับมาให้ดีเอสไอ กำลังดูประเด็นอยู่ว่าตัวเลขที่อัยการสั่งไม่ฟ้องมีอะไรบ้างตอนนั้นก็บอกอธิบดีดีเอสไอให้ดูตามเนื้อผ้า อันไหนที่จะโต้แย้งให้โต้แย้งไป อันไหนดำเนินการก็ดำเนินการ สำหรับกรณีนายเกียรติ สิทธีอมรนั้น ตนเป็นคนแต่งตั้งเอง เพราะเป็นบุคลากรที่มีประสบการณ์ทำการค้ารระหว่างประเทศที่ดีคนหนึ่ง เท่าที่ติดตามมายังไม่เห็นมีปัญหา สมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ก็เคยตั้งตำแหน่งผู้แทนการค้าไทย เพื่อให้ดูแลปัญหาทางการค้าและการลงทุน โดยให้ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ
“ไม่ได้มีส่วนได้เสียกับบริษัทใด หน้าที่ของเราต้องยืนยันในข้อกฎหมายที่ถูกต้อง ท่านไปวาดภาพนายเกียรติขี้ฮาเลย์ เป็นล็อบบี้ยิสต์ แต่การทำงานได้ทำอย่างเปิดเผย ออกเป็นหนังสือเชิญหน่วยงานต่างๆมาหารือ และตน 2 ปีที่ผ่านมาก็ปฏิบัติกับอัยการโดยเคารพท่านตามสิทธิของรัฐธรรมนูญ การหารือของฝ่ายบริหารและอัยการสูงสุดย่อมเกิดขึ้นได้ เพราะบางครั้งต้องมาประชุมสมช.หรือให้ความเห็นในสัญญาต่างๆ แต่ยืนยันไม่เคยแทรกแซง ถามว่านายเกียรติมีอำนาจอะไรไปให้คุณให้โทษอัยการ ขนาดผมยังไม่มีอำนาจ และทางอัยการยืนยันเป็นดุลพินิจของอัยการที่สั่งไม่ฟ้อง ท่านก็ไปอ้างจิ้งจกในทำเนียบว่าผมเข้าไปแทรกแซง” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ที่สำคัญเรื่องนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2546 ที่พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เคยปรารภในครม.เพื่อขอให้ตรวจสอบการสำแดงภาษีบุหรีที่ต่ำกว่าความเป็นจริง และให้กรมศุลกากร กรมสรรพสามิตเข้าไปตรวจสอบ แล้วมีหนังสือตอบกลับมาว่าไม่พบการกระทำความผิด สุดท้ายเกิดมีการฟ้องร้องกันขึ้นในปี2552 ที่ดีเอสไอสรุปสำนวนให้อัยการสั่งฟ้อง แต่อัยการเห็นแย้ง และส่งคืนกลับมาให้ดีเอสไอ รัฐบาลไม่เคยเข้าไปแทรกแซงกระบวนการอะไร
“ที่บอกว่าไปส่งเสริมสนับสนุนบริษัทบุหรี่ให้จงใจหลีกเลี่ยงภาษี ทำเพื่อผลประโยชน์ของพรรคพวก ท่านเคยสังเกตมูลค่าที่บริษัทยอมจ่ายค่าปรับการสำแดงเท็จ มันต่างจากมูลค่าจริงเท่าไหร่ ถ้าต่างกันเป็นหมื่นเป็นแสนบาทเป็นอีกเรื่อง หากต่างกันแค่ 1-2 บาทต้องมาดู กรณีกรมศุลกากรและผู้นำเข้าก็มีความเห็นไม่ตรงกัน เขาก็วางเงินประกันถูกต้องเพื่ออุทธรณ์ไปห ก่อนหน้านี้ก็ตกลงกันได้ เพราะคนศุลกากรและสรรพสามิตเห็นตรงกัน การอัยการสั่งไม่ฟ้องคดีนี้ต้องไปดูว่าเกิดจากสาเหตุอะไร ถ้าฟ้องว่าผิดกฎหมายภาษีต้องระบุราคาสำแดงเท่าไหร่ เพราะผู้กำหนดราคาคือกรมสรรพากร และกรมศุลกากร เมื่อเกิดกรณีฟ้องไปที่ดีเอสไอก็ต้องเชิญกรมจัดเก็บภาษีมาหารือ ในช่วงปี 2551 เป็นสมัยรัฐบาลใครก็ยังไม่มีเห็นมีอะไร ที่สำแดงราคาต่างกันแค่ 1 บาท แล้วทำไมอยู่ดีๆถึงมากล่าวหาพวกตนว่าทำให้เกิดความเสียหายทางภาษีมหาศาล แล้วตอนนั้นพวกท่านไปยอมรับทำไม” นายอภิสิทธิ์ กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า สำหรับกรณีกล่าวหาว่ารัฐบาลเอื้อประโยชน์ให้กับร้านค้าปลอดอากรขายบุหรี่ในราคาที่ถูกเพราะมีการเสียภาษีต่ำกว่าความเป็นจริงจนทำให้ต้นทุนในการขายถูกนั้น ยืนยันว่าไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะรัฐบาลไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการวินิจฉัยว่าการสำแดงภาษีบุหรี่ถูกต้องหรือไม่ แต่ถ้าหากมองในเชิงโครงสร้างก็จะเข้าใจว่าทำไมต้นทุนกับราคาขายให้กับผู้บริโภคถึงแตกต่างกันมาก กล่าวคือในกรณีบุหรี่ต่างประเทศจะมีต้นทุนนำเข้าเพียง 7.76 บาท แต่เมื่อมาบวกกับภาษีศุลกากร ภาษีสรรพสามิตร ภาษีส่งเสริมสุขภาพ (ภาษีบาป) และ ภาษีบำรุงท้องที่ จะเพิ่มเป็น 33 บาท และเมื่อมาบวกกับค่าการตลาด ค่าขนส่ง รวมเป็น 55 บาท ก่อนที่มาบวกกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็จะทำให้ราคาขายอยู่ที่ 70 บาท ขึ้นไป ส่วนร้านค้าปลอดอากรเขาไม่ต้องบวกภาษีบางส่วนทำให้ขายได้ถูกกว่า จึงไม่สามารถมาเปรียบเทียบกันได้
“ผมไม่เคยมอบหมายให้ผู้แทนการค้าไปแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม เพียงแค่แลกเปลี่ยนข้อมูล และรักษาผลประโยชน์ของประเทศ และคดีทั้ง 2 ก็ยังไม่ถึงที่สุด ดังนั้นถ้าหากมีความไม่ถูกต้อง ไม่ต้องห่วงผมดำเนินการแน่นอน รัฐบาลนี้แม้จะมีวิกฤติเศรษฐกิจ ผมก็ยืนยันว่าต้องเพิ่มภาษีบุหรี่และเหล้า เป็นจุดยืนของเรา ท่านคิดหรือว่าผมไม่อยากจัดเก็บภาษีให้มากขึ้น เราต้องยึดหลักเกณฑ์ กฎหมาย และยึดประโยชน์ของชาติ”นายอภิสิทธิ์กล่าว
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1029 ครั้ง