สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจ ปชช. ผิดหวังภิปรายไม่ไว้วางใจ ระบุไม่คุ้มค่าในการติดตาม เนื่องจากข้อมูลที่ทั้ง 2 ฝ่ายนำมาอภิปรายเป็นเรื่องเก่า
สวนดุสิตโพล เผยผลสำรวจความคิดเห็นจากประชาชนที่มีต่อการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ดำเนินมาถึงวันสุดท้ายว่า เสียงส่วนใหญ่ 61.29% มองว่าไม่คุ้มค่าในการติดตาม เนื่องจากข้อมูลที่ทั้ง 2 ฝ่ายนำมาอภิปรายเป็นเรื่องเก่า ไม่มีหลักฐานที่มีน้ำหนักหรือชัดเจนมากพอ ,มุ่งแต่เอาชนะคะคานกันเหมือนเดิม ฯลฯ
ส่วนอีก 38.71% มองว่าคุ้มค่า เพราะได้รับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆมากขึ้น ได้รับรู้ถึงความก้าวหน้าและผลงานของรัฐบาล ,ได้เห็นประสิทธิภาพและความสามารถในการอภิปรายของทั้ง 2 ฝ่าย ฯลฯ
ขณะที่ประเด็น“ความสมหวัง”หรือ“ผิดหวัง”จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจนั้น 78.91% บอกว่าผิดหวัง เนื่องจากบรรยากาศในการอภิปรายยังเหมือนเดิม มีแต่ทะเลาะกัน การใช้วาจา กริยาที่ไม่สุภาพ ,พาดพิงถึงบุคคลภายนอก ฯลฯ และ 21.09% ระบุว่า สมหวัง เพราะได้รับรู้ประเด็นที่น่าสนใจ ทั้งฝ่ายค้านและรัฐบาลมีการเตรียมข้อมูลมาอภิปรายอย่างเต็มที่ ฯลฯ
จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เรื่องที่ประชาชน“สมหวัง”อันดับ 1 คือได้รับรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และชัดเจนมากขึ้น 38.90% อันดับ 2 ได้เห็นบุคคลสำคัญของแต่ละฝ่ายขึ้นมาอภิปรายและชี้แจงในเรื่องต่างๆ 32.38% และอันดับ 3 ไม่เกิดเหตุการณ์ประท้วงจนทำให้เกิดสภาล่ม 28.72%
เรื่องที่ประชาชน“ผิดหวัง”อันดับ 1 คือ เนื้อหาที่นำมาอภิปรายเป็นเรื่องเก่า ที่นำมาพูดซ้ำๆ /ไม่มีข้อมูลแปลกใหม่ 35.61%อันดับ 2 ต่างฝ่ายต่างใช้อารมณ์ ต้องการที่จะเอาชนะกันมากกว่าคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน 34.20% และอันดับ 3 การใช้คำพูดที่ไม่สุภาพ การแสดงกริยามารยาทที่ไม่เหมาะสม 30.19%
สำหรับสิ่งที่ประชาชน “ประทับใจ” จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ อันดับ 1 การชี้แจงประเด็นที่ถูกอภิปรายของนายกฯ อภิสิทธิ์ 43.09% อันดับ 2 ข้อมูลที่ฝ่ายค้านนำมาพูดโดยเฉพาะข้อมูลของจตุพร พรหมพันธุ์ 29.67% อันดับ 3 การควบคุมการอภิปรายของประธานในที่ประชุม 27.24%
สิ่งที่ประชาชน “เบื่อหน่าย” จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ อันดับ 1 การใช้คำพูดที่ไม่สุภาพ ถ้อยคำหยาบคาย /การใช้อารมณ์ 40.08% อันดับ 2 ประเด็นที่นำมาอภิปรายส่วนใหญ่เป็นเรื่องเดิมๆ 33.89% อันดับ 3 การถาม –ตอบ ไม่ตรงประเด็น ของทั้ง 2 ฝ่าย 26.03%
จากการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ เสียงส่วนใหญ่ 54.14% ระบุว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อความนิยมของ “พรรคประชาธิปัตย์”เพราะชื่นชอบนายกฯอภิสิทธิ์และชื่นชอบพรรคประชาธิปัตย์อยู่แล้ว ,การอภิปรายเป็นเรื่องปกติที่จะต้องมี ฯลฯ ส่วนอีก 25.56% บอกว่านิยมพรรคประชาธิปัตย์ลดลง เพราะได้เห็นการทำงานที่บกพร่องของรัฐบาล รัฐมนตรีบางคนตอบข้อคำถามได้ไม่ชัดเจน ไม่มีน้ำหนักมากพอ ฯลฯ ขณะที่ 20.30% นิยมพรรคประชาธิปัตย์เพิ่มมากขึ้น เพราะรัฐมนตรีที่ถูกพาดพิงส่วนใหญ่สามารถชี้แจงประเด็นต่างๆได้ ควบคุมอารมณ์ได้ดี ฯลฯ
ด้านผลกระทบต่อความนิยมของ “พรรคเพื่อไทย” นั้น 46.62% บอกว่านิยมพรรคเพื่อไทยลดลง เพราะการอภิปรายยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควร ขาดการควบคุมอารมณ์ ผู้อภิปรายบางคนไม่น่าสนใจ ฯลฯ และ 42.10% นิยมพรรคเพื่อไทยเท่าเดิม 42.10% เพราะชื่นชอบพรรคเพื่อไทย เป็นหน้าที่ของฝ่ายค้านที่จะต้องมีการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาล ฯลฯ ส่วน 11.28% นิยมพรรคเพื่อไทย เพิ่มมากขึ้น เพราะมีการเตรียมข้อมูลมาดีกว่าที่ผ่านมา สามารถชี้ให้เห็นข้อบกพร่องในการทำงานของรัฐบาลได้ ,ฝ่ายค้านทำหน้าที่ได้ดีแล้ว ฯลฯ
ก่อนหน้านี้ เมื่อ 16 มีนาคม สำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เผยผลการวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง”ความนิยมศรัทธาของประชาชนต่อนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล” โดยสำรวจความคิดเห็นของประชาชน ที่ติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ใน 17 จังหวัดทั่วประเทศ ประกอบด้วย กรุงเทพฯ, นครนายก, จันทบุรี, ลพบุรี, สุพรรณบุรี, สมุทรปราการ, พะเยา, เพชรบูรณ์, เชียงใหม่, นครพนม, ชัยภูมิ, สุรินทร์, บุรีรัมย์, อุบลราชธานี, นครราชสีมา, ตรัง และนครศรีธรรมราช จำนวนทั้งสิ้น 948 ตัวอย่าง เมื่อ16 มี.ค.ที่ผ่านมา
ภาพประกอบข่าว
ผลสำรวจความนิยมศรัทธากับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ระหว่างนายอภิสิทธิ์ กับนายมิ่งขวัญ แสงสุวรรณ สส.สัดส่วนพรรคเพื่อไทย พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 54% ศรัทธานายอภิสิทธิ์ ส่วนอีก 30.9% นิยมศรัทธานายมิ่งขวัญ ขณะที่อีก 15.1% ไม่นิยมศรัทธาใครเลย
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบระหว่างนายอภิสิทธิ์ กับนายมิ่งขวัญแยกเป็นรายประเด็น พบว่าประชาชนให้คะแนนนายอภิสิทธิ์ มากกว่านายมิ่งขวัญ ในทุกประเด็น เช่น การพูดได้ตรงใจ ตรงความคาดหวัง นายอภิสิทธิ์ ได้ 53.5% นายมิ่งขวัญ ได้ 30.6% ประเด็นเรื่องเป็นห่วงเป็นใยประชาชนธรรมดาทั่วไป นายอภิสิทธิ์ ได้ 53.5% นายมิ่งขวัญ ได้ 28% ส่วนความน่าเชื่อถือของข้อมูล นายอภิสิทธิ์ ได้ 52.2% นายมิ่งขวัญ ได้ 29.3%
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1266 ครั้ง