เหตุคลื่นยักษ์สึนามิในปี 2548 ที่มีจุดศูนย์กลางใกล้เกาะสุมาตรา ของอินโดนีเซีย และ พัดเข้าถล่มภาคใต้ของไทย ทำให้คนไทยและนักท่องเที่ยวเสียชีวิตหลายพันคนนั้น เกิดขึ้นก่อนที่จะมีปรากฏการณ์ “ซุปเปอร์มูน” เพียง 2 สัปดาห์ ซึ่งเหตุการณ์ซุปเปอร์มูน กับคลื่นสึนามิกลายเป็นปรากฏการณ์ที่เชื่อมโยงกันอย่างน่าเหลือเชื่อ เพราะในวันพรุ้งนี้ 19 มี.ค.54 ก็จะเกิดปรากฏการณ์ซุปเปอร์มูนที่นักวิทยาศาสตร์เรียกว่า “เอ็กซ์ตรีม ซุปเปอร์มูน” เนื่องจากดวงจันทร์ จะโคจรเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 18 ปี ก็เกิดเหตุแผ่นพื้นโลกฟิลิปปินส์เคลื่อนเข้าหาแผ่นพื้นโลกยูเรเชีย ทำให้เกิดการดีดตัวของแผ่นพื้นโลกส่งแรงผลักดันให้เกิดแผ่นดินไหวขนาด 8.9 ริกเตอร์ และ คลื่นยักษ์สึนามิพัดถล่มทางตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศญี่ปุ่น
นักวิทยาศาสตร์อย่างนายพอล วอล์กเกอร์ นักอุตุศาสตร์อาวุโส แห่งบริษัท แอคคูเวเธอร์ อิงค์ เชื่อว่าเหตุการณ์ซุปเปอร์มูน ไม่น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดแผ่นดินไหว โดยให้เหตุผลว่าเหตุการณ์ซุปเปอร์มูนยังไม่ได้เกิดขึ้นเพราะยังเหลือเวลาอีก 8 วันกว่าที่ดวงจันทร์จะโคจรเข้ามาใกล้โลกมากที่สุด และแรงดึงดูดจากดวงจันทร์อาจจะทำให้กระแสน้ำขึ้นสูงมากกว่าปกติ แต่ตนเองไม่เคยได้ยินว่า เหตุการณ์ทั้งซุปเปอร์มูน กับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศอย่างรุนแรงมีส่วนเกี่ยวข้องกัน
ด้านนักดาราศาสตร์แห่งองค์การนาซา นายเดฟ วิลเลียม กล่าวว่า ไม่มีเหตผลใดที่ทำให้เชื่อได้ว่าเหตุการณ์ซุปเปอร์มูนที่จะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า จะทำให้เกิดสิ่งใดขึ้นได้นอกเหนือจากการเห็นพระจันทร์ดวงโต สดใส ในปรากฏการณ์ครั้งนี้ดวงจันทร์จะเข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบ 18 ปี แต่จะเป็นการเข้าใกล้มากขึ้น 1-2 % ดังนั้น การสังเกตความแตกต่างด้วยสายตาคงจะไม่เห็นความผิดปกติแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตามในด้านสถิตินั้น ได้มีแสดงอย่างชัดเจนว่า การเกิดปรากฏการณ์ซุปเปอร์มูนได้เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกับการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติหลายครั้ง นายมาร์ค พาเควทท์ บล็อกเกอร์แห่งบริษัทแอคคูเวเธอร์ เผยว่าการโคจรของดวงจันทร์เป็นรูปวงรีรอบโลกทำให้เมื่อถึงเวลาหนึ่งๆดวงจันทร์จะอยู่ใกล้โลกมากที่สุดในช่วงเวลาหนึ่งๆ
นักพยากรณ์ของกลุ่ม “นิวเอจ” เชื่อว่า ปรากฏการณ์ซุปเปอร์มูน นำมาซึ่งเหตุแผ่นดินไหวครั้งรุนแรง พายุ หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศผิดปกติ นอกจากนั้น การเกิดปรากฏการณ์ซุปเปอร์มูนในปี 2498 ,2517,2535 และ 2548 ก็เกิดเหตุผิดปกติทางธรรมชาติ เช่น สภาพอากาศเปลี่ยนแปลง และ ภัยธรรมชาติอื่นๆ ในปี 2498 เกิดเหตุพายุทอร์นาโด “ไดแอน” ถล่มฝั่งตะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 200 ราย และมูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในปี 2517 ได้เกิดเหตุพายุทอร์นาโดจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐซัดถล่ม 13 รัฐของสหรัฐอเมริกา และจังหวัดหนึ่งของแคนาดา มีรายงานการเกิดทอร์นาโด 148 ลูกถล่มพื้นที่สหรัฐอย่างต่อเนื่อง และทำให้มีผู้เสียชีวิต 315 ราย บาดเจ็บกว่า 5,000 คน อีกฟากหนึ่งของโลก ไซโคลน “เทรซี” ได้ซัดถล่มเมืองดาร์วิน ประเทศออสเตรเลียเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม และเกือบทำให้เมืองดาร์วินเกือบสูญหายไปจากแผนที่
นอกจากนั้นในปี 2535 พายุเฮอริเคน แอนดรูว์ ซัดถล่มสหรัฐอเมริกา ทำให้มีผู้เสียชีวิต 26 รายและได้ทำลายทรัพย์สินของประชาชนมูลค่าประมาณ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และถูกจัดให้เป็นภัยธรรมชาติที่ก่อให้เกิดความเสียหายมูลค่าสูงสุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ เช่นเดียวกับปี 2547 ที่เกิดเหตุแผ่นดินไหวขนาด 9.3 ริกเตอร์ในมหาสมุทรอินเดีย เข้าถล่มเกาะสุมาตรา ของอินโดนีเซีย หมู่เกาะอันดามัน ศรีลังกา และไทย ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 2.25 แสนคน และนับเป็นภัยธรรมชาติที่คร่าชีวิตพลเมืองโลกมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลกยุคใหม่
นักวิชาการรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งไม่ยอมจำนนต่อปัญหาดังกล่าว ด้วยเชื่อว่าระบบสุริยะ สามารถพยากรณ์แผ่นดินไหวได้ โดยมีเครือข่ายเป็นนักฟิสิกส์จากทั่วโลก เผยแพร่ข้อมูลผ่านเว็บไซต์ โดยเฉพาะนักวิจัยจากองค์การนาซา (NASA) หรือ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ผลงานของคนกลุ่มนี้ สามารถค้นคว้าเชื่อมโยงให้เห็นว่าปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นนอกโลกหรือในระบบสุริยะช่วยคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดแผ่นดินไหววันใด
ยกตัวอย่าง เหตุแผ่นดินไหวที่มณฑลเสฉวน ประเทศจีน เมื่อปี 2551 มีผู้เสียชีวิตเกือบ 7 หมื่นคน ตอนนั้นมีรายงานกลุ่มเมฆสะท้อนแสงผิดปกติ หลังจากนั้นไม่ถึง 30 นาที ก็เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.8 ริกเตอร์ สั่นสะเทือนไปทั่วเอเชีย ไทย อินเดีย ปากีสถาน ต่างรับรู้ถึงแรงสั่นที่เกิดขึ้น
นอกจากนี้นักฟิสิกส์นำโดย ศาสตราจารย์ ฟราน เดอ อาควิโน (Fran De Aquino) จากมหาวิทยาลัยมารานฮาว ประเทศบราซิล เชื่อว่า ความแปรปรวนของพลาสมาบนชั้นบรรยากาศ และการแปรปรวนในอวกาศ เป็นลางบอกเหตุแผ่นดินไหว !!
นื่องเพราะนักวิจัยค้นพบการเปลี่ยนแปลงของชั้นบรรยากาศ “ไอโอโนสเฟียร์” (Ionosphere) ที่อยู่สูงจากโลกไป 50-500 กิโลเมตร ก่อนเกิดแผ่นดินไหวขนาดเกิน 6 ริกเตอร์ประมาณ 1-2 วัน ชั้นบรรยากาศ “ไอโอโนสเฟียร์” มักเปลี่ยนแปลงฉับพลัน อธิบายตามหลักฟิสิกส์ได้ว่า พลังงานในชั้นนี้มีความสัมพันธ์ระหว่างการแกว่งตัวของสนามแม่เหล็ก
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1456 ครั้ง