วันที่ 20 มีนาคม โทรทัศน์เอ็นเอชเคของญี่ปุ่นรายงานว่า เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ภัยของญี่ปุ่นสามารถช่วยเหลือผู้รอดชีวิตจำนวน 2 รายได้จากเมืองอิชิโนมากิ ในจังหวัดมิยางิ หลังจากติดอยู่ใต้ซากปรักหักพังนานถึง 9 วันนับตั้งแต่เหตุภัยพิบัติแผ่นดินไหวและคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา
เจ้าหน้าที่ตำรวจญี่ปุ่นเปิดเผยว่า ผู้รอดชีวิต 2 ราย ประกอบด้วยหญิงชราวัย 80 ปี และหลานชายวัยรุ่นอายุ 16 ปี ซึ่งติดอยู่ภายใต้ซากบ้านที่พังเสียหายจากคลื่นยักษ์สึนามิ โดยได้อาศัยรับประทานโยเกิร์ตและอาหารที่เหลืออยู่เพื่อประทังชีวิต ทั้งนี้ทั้งคู่ยังมีสติ แต่อุณหภูมิร่างกายค่อนข้างต่ำ โดยเจ้าหน้าที่ได้นำตัวขึ้นเฮลิคอปเตอร์ของหน่วยกาชาดเพื่อส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลแล้ว
ด้าน สำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น แถลงตัวเลขผู้เสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ ที่ได้รับการยืนยันและรวบรวมถึงเวลา 12.00 น.วันนี้ (20มี.ค.) ตามเวลาท้องถิ่น มีจำนวนทั้งสิ้น 8,133 คน และมีผู้อยู่ในบัญชีแจ้งสูญหายอย่างเป็นทางการ 12,272 คน
จ.มิยางิ เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบหนักสุด มีผู้เสียชีวิต 4,882 คน อันดับสอง ได้แก่ จ.อิวาเตะ มีผู้เสียชีวิต 2,525 คน และจ.ฟูกูชิมะ 670 คน และมีผู้ไร้ที่อยู่อาศัยที่ต้องพักตามศูนย์อพยพชั่วคราวอีกกว่า 3.6 แสนคน ในพื้นที่ 15 จังหวัด
ทั้งนี้เฉพาะในจังหวัดมิยางิแห่งเดียว ต้องการสถานที่สำหรับเก็บศพกว่า 15,000 ราย ทำให้เป็นไปได้สูงว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ จะเพิ่มขึ้นอีกมาก
ขณะที่ความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่ประสบภัยยังคงเดือดร้อนอย่างหนัก โดยเฉพาะปัญหาขาดแคลนน้ำและเชื้อเพลิง ซึ่งตลอดหลายวันที่ผ่านมา ผู้คนจำนวนมากต้องนำรถไปรอต่อคิวเติมน้ำมันเป็นแถวยาวเหยียด และสถานีบริการหลายแห่งไม่มีน้ำมันจำหน่าย
เทปโคยอมรับรายงานเท็จ
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า บริษัทโตเกียว อิเล็กทริค เพาเวอร์ (เทปโค) ได้ออกมายอมรับว่า รายงานการซ่อมบำรุงและตรวจสอบอุปกรณ์ภายในโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ ฟูกชิมา ไดอิชิ ที่ส่งให้สำนักงานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ญี่ปุ่นประมาณ 10 วันก่อนเกิดเหตุแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ เป็นรายงานที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง
ทั้งนี้เทปโค ยอมรับว่าไม่ได้ตรวจสอบอุปกรณ์ 33 ชิ้นภายในเตาปฏิกรณ์ทั้ง 6 แห่ง ซึ่งมีอายุการใช้งานมานานหลายสิบปี โดยแผงจ่ายไฟฟ้าของวาล์วควบคุมอุณหภูมิของเตาปฏิกรณ์ตัวหนึ่ง ก็ไม่ได้รับการตรวจมานานถึง 11 ปีแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบ ได้เขียนรายงานเท็จให้ดูเหมือนว่ามีการตรวจสอบอย่างละเอียดแล้ว ทั้งที่ในความเป็นจริง เป็นการตรวจสอบเพียงผิวเผินเท่านั้น รวมทั้งยอมรับว่าไม่ได้ตรวจสภาพอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับระบบหล่อเย็น เช่น มอเตอร์สูบน้ำ และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองแบบดีเซล
หลังจากที่เทปโคได้ยื่นรายงานดังกล่าวแล้ว ทางสำนักงานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ของญี่ปุ่น ได้สั่งให้มีการตรวจสอบว่า ผู้ตรวจสอบของเทปโคได้ตรวจตราอุปกรณ์ภายในโรงไฟฟ้าอย่างละเอียดแล้วหรือไม่ และสรุปผลได้ว่า การตรวจสอบยังไม่ได้คุณภาพเพียงพอ โดย สำนักงานความปลอดภัยด้านนิวเคลียร์ญี่ปุ่นได้สั่งให้ เทปโค จัดทำแผนแก้ไขให้ถูกต้องภายในวันที่ 2 มิ.ย. แต่มาเกิดภัยพิบัติขึ้นเสียก่อน
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ด้านความปลอดภัยนิวเคลียร์ยังไม่ยืนยันว่า ข้อบกพร่องที่ปรากฎในรายงานเป็นสาเหตุของปัญหาวิกฤตนิวเคลียร์ที่โรงไฟฟ้าฟูกุชิมากำลังเผชิญหรือไม่ พร้อมทั้งยืนยันว่า จะต้องมีการตรวจสอบการทำงานของเทปโคอย่างละเอียดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ในขณะนี้จะต้องเร่งควบคุมสถานการณ์ในโรงไฟฟ้าให้ได้เสียก่อน
อนึ่งนับตั้งแต่เกิดวิกฤตรังสีรั่วไหล เทปโคได้ถูกตั้งข้อสงสัยเรื่องความพยายามปกปิดปัญหามาโดยตลอด เนื่องจากในปี 2545 เทปโคเคยยอมรับว่าทำรายงานเท็จ จนนำไปสู่การปิดเตาปฏิกรณ์ 17 แห่ง รวมทั้งโรงไฟฟ้าฟูกุชิมาเพื่อทำการตรวจสอบ ซึ่งจากเหตุการณ์ครั้งนั้นส่งผลให้ผู้บริหารระดับสูงของเทปโคต้องลาออก
คนญี่ปุ่นเลี่ยงซื้อพืชผักจากฟูกุชิมา-อิราบากิ
หลังจากทางการญี่ปุ่นออกมายอมรับว่าได้พบ นม และผักโขม ในพื้นที่ใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้าฟูกุชิมา ไดอิชิ มีการปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี แต่ยังไม่ถึงระดับที่จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ก็ทำให้ประชาชนชาวญี่ปุ่นในกรุงโตเกียว หลีกเลี่ยงที่จะซื้อผลิตผลการเกษตรและสินค้าแปรรูปที่มาจากจังหวัด ฟูกุชิมา และ อิราบากิ
ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขญี่ปุ่นได้ส่งข้อมูลการตรวจพบการปนเปื้อนกัมมันตรังสีในนม และผักโขมไปให้องค์การอนามัยโลก เพื่อพิจารณาว่าจำเป็นต้องสั่งให้งดจำหน่ายอาหารที่มาจากฟูกุชิมาหรือไม่
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1002 ครั้ง