รูปภาพ : ทองคำแท่งจำนวนมหาศาลที่ถูกเก็บไว้ที่ตู้นิรภัยใต้ดินของธนาคารกลางอังกฤษ
ที่มา : Daily Mail
อิหร่านได้ซื้อทองคำจำนวนมหาศาลในตลาดระหว่างประเทศจากการระบุของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางอังกฤษ ถือเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าแรงกดดันทางการเมืองที่สูงขึ้นได้ขับเคลื่อนให้รัฐบาลอิหร่านลดการถือครองเงินดอลลาร์ในทุนสำรองอย่างไร
นายแอนดรูว์ ไบลี่ย์ (Andrew Bailey) หัวหน้าฝ่ายการธนาคารของธนาคารกลางอังกฤษกล่าวกับเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากสหรัฐฯว่า ธนาคารกลางอังกฤษได้สังเกตเห็นถึง “ความเคลื่อนไหวที่มีนัยสำคัญโดยอิหร่านเพื่อซื้อทองคำ” จากการระบุของข้อมูลในเคเบิ้ลที่วิกีลีกส์เจาะมาได้จากสถานทูตสหรัฐฯซึ่งหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์ของอังกฤษได้เห็น
นายไบลี่ย์กล่าวอีกว่า การซื้อทองในครั้งนี้ “คือความพยายามของอิหร่านในการปกป้องทุนสำรองของตัวเองจากความเสี่ยงในการถูกยึด”
ผู็สังเกตการณ์ในตลาดเชื่อว่า รัฐบาลอิหร่านคือหนึ่งในผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุดในช่วงกว่าทศวรรษที่ผ่านมารองจากรัฐบาลจีน รัสเซีย และอินเดีย และเป็นหนึ่งใน 20 ชาติผู้ถือทองคำสำรองรายใหญ่ที่สุด
พวกเขาคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางอิหร่านมีทองคำสำรองมากกว่า 300 ตันเพิ่มขึ้นจาก 168.4 ตันในปี 1996 ซึ่งเป็นปีล่าสุดที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศมีข้อมูลทองคำสำรองของอิหร่าน
เคเบิ้ลที่วิกกิลีกส์ได้มาซึ่งตรงกับช่วงเดือนมิถุนายน 2006 ถือเป็นการยืนยันอย่างเป็นทางการครั้งแรกถึงการไล่ซื้อทองคำของอิหร่าน
ปีที่แล้วธนาคารกลางทั่วโลกได้กลายเป็นผู้ซื้อทองคำสุทธิเป็นครั้งแรกหลังจากเทขายมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลาถึง 22 ปีซึ่งช่วยดันราคาทองคำขึ้นจุดสูงสุดตลอดกาลมในแง่ของราคาที่เป็นตัวเงิน (Nominal Price) การค้าทองคำของธนาคารกลางมักถูกเก็บไว้เป็นความลับ
บรรดานายธนาคารยังกล่าวอีกว่า ชาติตะวันออกกลางทั้งหลายยังคงแอบซื้อทองคำกันอย่างเงียบๆเพื่อกระจายทุนสำรองออกจากดอลลาร์ท่ามกลางความตึงเครียดทางการเมืองและความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน
“จำนวนรวมทั้งหมดของทองคำสำรองไม่ใช่สิ่งที่ถูกรายงานโดยไอเอ็มเอฟ” นายฟิลลิป คลัปวิค (Philip Klapwijk) ประธานกรรมการบริหารของจีเอฟเอ็มเอส บริษัทที่ปรึกษาด้านโลหะมีค่าให้ความเห็นกับไฟแนนเชียลไทม์ “เป็นไปได้ว่าตัวเลขจริงอาจมากกว่าที่รายงานอยู่ 10%”
ข้อมูลเคเบิ้ลที่วิกกิลีกส์ได้มายังได้อ้างคำพูดของนายกรัฐมนตรีแห่งจอร์แดนว่า ธนาคารกลางของจอร์แดน “ได้รับคำสั่งให้เพิ่มทองคำสำรอง” นอกจากนั้นในเคเบิ้ลก็มีการอ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่ระดับสูงจากกองทุน QIA (Qatar Investment Authority) ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของรัฐบาลกาตาร์ด้วยวว่า กองทุน QIA สนใจซื้อทองคำและเงิน
“ตอนนี้ไม่มีคำถามแล้วว่า ประเทศในแถบบางตะวันออกกลางบางส่วนสนใจที่จะซื้อทองคำอย่างมาก” นายจอร์จ มิลลิ่ง-สแตนลี่ย์ หัวหน้าฝ่ายกิจการรัฐบาลของสภาทองคำโลก (World Gold Council)
ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา ความไม่สงบทางการเมืองในตะวันออกกลางได้ช่วยดันให้ราคาทองคำพุ่งแตะสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1444.40 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ธนาคารกลางอังกฤษปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเรื่องที่อยู่ในเคเบิ้ลแต่ก็ไม่ออกมาโต้แย้งเนื้อหาในนั้นเช่นกัน ด้านธนาคารกลางของอิหร่าน ธนาคารกลางจอร์แดน และกองทุน QIA ก็ไม่ได้ตอบกลับคำร้องขอความเห็นจากหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทม์เช่นกัน
ที่มา Financial Times
แปลและเรียบเรีบงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday