“อภิสิทธิ์” ร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำประจำปีของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ตอบคำถาม”จะกลับมายืนตรงนี้อีกครั้งในปีหน้า”
วันที่ 21 มีนาคม เวลา 19.35 น. ที่โรงเรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ร่วมงานเลี้ยงอาหารค่ำประจำปีของสมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) โดยได้กล่าวปาฐกถาถึงนโยบายของรัฐบาล อาทิ นโนบายทางด้านการศึกษาที่สนับสนุนการเรียนฟรี การเปิดโอกาสที่จะฝึกอาชีพสำหรับผู้ที่ไม่มีโอกาสเรียนหนังสือ นโยบายการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน ที่เพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายของประชาชน การลดเงินกู้นอกระบบ การสร้างความมั่นคงในด้านต่างๆ
ทั้งนี้ยังได้กล่าวถึงการเลือกตั้ง โดยระบุว่าการเลือกตั้งครั้งหน้าประชาชนจะได้ตัดสินใจว่าจะเลือกพรรคที่ทำประโยชน์ให้กับประชาชน มีแนวทางที่จะให้ประเทศเดินหน้า หรือจะเลือกพรรคการเมืองที่ยังวังวนของความขัดแย้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่นายอภิสิทธิ์ ปาฐกถาจบได้เปิดโอกาสให้ผู้สื่อข่าวซัก – ถาม โดยประเด็นที่ผู้สื่อข่าวต่างประเทศสนใจ ส่วนใหญ่เป็นประเด็นเรื่องการเลือกตั้ง การแก้กฎหมายเกี่ยวกับการยุบพรรค ปัญหาความไม่สงบในภาคใต้ เป็นต้น ทั้งนี้นายกรัฐมนตรียังได้หยอกล้อระหว่างตอบคำถามด้วยว่าจะกลับมายืนตรงนี้อีกครั้งในปีหน้า
ก่อนหน้านี้ เวลา 18.35 น. ที่โรงแรมดุสิตธานี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ร่วมเป็นประธานในงานเลี้ยงรับรองผู้สำเร็จการศึกษาจากประเทศญี่ปุ่น (เจโทร) โดยมีนายมุเนโนริ ยะมะดะ ประธานเจโทรกรุงเทพฯ และบุคลากรในแวดวงธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับประเทศญี่ปุ่นให้การต้อนรับ
โดยนายอภิสิทธิ์ กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า ขอแสดงความเสียใจกับความสูญเสียซึ่งเกิดจากเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของญี่ปุ่น โดยเฉพาะผลกระทบจากโรงงานพลังงานไฟฟ้านิวเคลียร์สามารถแก้ปัญหาจนประสบความสำเร็จ รัฐบาลยืนยันที่จะช่วยเหลือญี่ปุ่นในทุกด้าน ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้มีการดำเนินการไปบ้างแล้ว อาทิ การส่งเครื่องอุปโภค บริโภค การเปิดบัญชีเงินบริจาค หวังว่าความช่วยเหลือที่ส่งไปนี้จะถึงผู้ที่ได้รับความเดือดร้อน ทั้งนี้ในช่วงที่ไทยได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 ญี่ปุ่นให้การช่วยเหลือไทยเป็นอย่างดี และความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับญี่ปุ่นนั้นมีมาอย่างช้านาน มีลักษณะทางสังคมที่คล้ายกันหลายด้าน ทั้งการศึกษา วัฒนธรรม ระบอบประชาธิปไตยซึ่งมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การนับถือศาสนาพุทธ
นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ในเรื่องการค้าการลงทุนระหว่างไทย – ญี่ปุ่น มีความเจริญก้าวหน้าและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นักธุรกิจญี่ปุ่นมีความสำคัญเป็นลำดับแรกที่มีการลงทุนในประเทศไทย และมีการลงทุนในแต่ละปีเฉลี่ยร้อยละ 34-35 ของการลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมดที่ได้รับจากการส่งเสริมจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนในปี 2553 ที่ผ่านมา ซึ่งมีโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน 364 โครงการ มีมูลค่าลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท ทั้งนี้ในปัจจุบันมีบริษัทญี่ปุ่นที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย 7000 แห่ง มีการจ้างงานมากกว่า 500,000 คน เช่นเดียวกับการแลกเปลี่ยนทางด้านการศึกษาระหว่างประเทศ มีทุนการศึกษาให้ ซึ่งถือเป็นความร่วมมือระหว่างประชาชนสู่ประชาชน