รูปภาพ : สำนักงานของบาร์เคลย์ในกรุงลอนดอน
ที่มา : Bloomberg
ธนาคารบาร์เคลย์ (Barclays) กำลังกลายเป็นจุดโฟกัสหลักของการสอบสวนโดยหน่วยงานของรัฐบาลสหรัฐฯและอังกฤษกรณีการปั่นดอกเบี้ย Libor ซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงของตราสารการเงินมูลค่า 350 ล้านล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 10,000 ล้านล้านบาท แหล่วงข่าวใกล้ชิดการสอบสวนกล่าวกับไฟแนนเชียลไทม์
บรรดาเจ้าหน้าที่สอบสวนกำลังตรวจสอบว่า การสื่อสารระหว่างนักค้าตราสารหรือ “เทรดเดอร์” (Traders) และฝ่ายบริหารสภาพคล่อง (Treasury) ของธนาคารซึ่งทำหน้าที่ช่วยกำหนดอัตราดอกเบี้ยเสนอขายในตลาดระหว่างธนาคารลอนดอนหรือ Libor (London Interbank Offered Rate) ได้ละเมิดกฎเข้มงวดดั่ง “กำแพงเมืองจีน” ซึ่งห้ามมิให้มีการแบ่งปันข้อมูลกันระหว่างฝ่ายต่างๆของธนาคารหรือไม่
หน่วยงานกำกับดูแลกำหนดให้ธนาคารต่างๆตั้งกลไกควบคุมเพื่อป้องกันฝ่ายต่างๆของธนาคารทำกำไรอย่างไม่เหมาะสมจากการไหลเวียนของข้อมูลที่เป็นความลับที่ฝ่ายอื่นๆได้รับ
แหล่งข่าวยังระบุอีกว่า เจ้าหน้าที่สอบสวนกำลังเล็งที่จะตรวจสอบว่า มีการเกิดขึ้นของอิทธิพลที่ไม่เหมาะสมจากการยืนยันการตั้งอัตราดอกเบี้ย Libor ในแต่ละวันของบาร์เคลย์ซึ่งจะถุกนำมากำหนดอัตราดอกเบี้ย Libor ที่ธนาคารใช้กู้ยืมระหว่างกันหรือไม่ ช่วงระหว่างปี 2006-2008 ซึ่งถูกสอบสวนนั้น บาร์เคลย์เป็น 1 ใน 16 ธนาคารที่ร่วมกำหนดอัตราดอกเบี้ย Libor สกุลดอลลาร์สหรัฐฯในแต่ละวันด้วย
บาร์เคลย์และหน่วยงานของสหรัฐฯและอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับการสอบสวนปฏิเสธที่จะออกความเห็น
การสื่อสารภายในของบาร์เคลย์เป็นแค่ปมเงื่อนหนึ่งของการสืบสวนกรณีอื้อฉาวครั้งใหญ่ของวงการการเงินโลกที่มีการปั่นดอกเบี้ย Libor อย่างเป็นขบวนการ ธนาคารอังกฤษแห่งนี้เป็น 1 ใน 4 ธนาคารซึ่งได้รับหมายเรียกจากหน่วยงานรัฐบาลเกี่ยวกับกรณีการตั้งอัตราดอกเบี้ย Libor ในช่วงปี 2006-2008 ธนาคารอีก 3 แห่งได้แก่ ซิตี้กรุ๊ป แบงก์ออฟอเมริกา และยูบีเอส เจ้าหน้าที่สอบสวนยังได้ร้องขอเอกสารไปยังธนาคารเวสต์แอลบีของเยอรมนีด้วย แม้ว่าทางเวสต์แอลบีจะกล่าวว่า ทางธนาคารยังไม่ได้รับหมายเรียกก็ตาม
การสอบสวนครั้งนี้ถูกเปิดเผยครั้งแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้วหลังจากยูบีเอสได้เปิดเผยในรายงานประจำปีว่า ธนาคารได้รับหมายเรียกจากสำนักงานก.ล.ต.สหรัฐฯ, คณะกรรมการกำกับดูแลการซื้อขายสัญญาโภคภัณฑ์ล่วงหน้าสหรัฐฯหรือ CFTC (Commodity Futures Trading Commission) และกระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ขณะที่บาร์เคลย์ไม่ได้กล่าวถึงการได้รับหมายเรียกในการยื่นแบบฟอร์มเปิดเผยข้อมูลใดๆต่อหน่วยงานกำกับดูแล
สำนักงานกำกับดูแลภาคการเงินญี่ปุ่นหรือ FSA (Financial Supervisory Agency) และ สำนักงานกำกับดูแลธุรกิจการเงินของอังกฤษหรือ FSA (Financial Services Authority) ก็เข้าร่วมในการสอบสวนด้วย พยานหลายปากถุกเรียกสัมภาษณ์ที่ลอนดอนและคาดว่าจะมีพยานถูกเรียกสอบเพิ่มอีกในอนาคต
ด้านสมาคมนายธนาคารอังกฤษหรือ BBA (British Bankers’ Association) ซึ่งสนับสนุนการจัดทำอัตราดอกเบี้ยและว่าจ้างบริษัททอมสัน รอยเตอร์ (Thomson Reuters) ในการทำการคำนวณอัตราดอกเบี้ย Libor กลางที่ประกาศในแต่ละวันยังคงออกมาปกป้องกระบวนการกำหนดอัตราดอกเบี้ยอย่างเต็มกำลัง
ธนาคารจะถุกสำรวจในแต่ละวันเกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยซึ่งแต่ละแบงก์คิดว่าพวกเขาสามารถกู้ยืมได้ในตลาดเปิด
ค่าดอกเบี้ยที่เบี่ยงเบนเกินไปจะถูกตัดออก ทำให้เป็นการยากขึ้นที่ธนาคารแห่งใดแห่งหนึ่งจะมีอิทธิพลต่อผลลัพธ์ และดอกเบี้ยที่ประกาศในแต่ละวันจะเป็นค่าเฉลี่ยของค่ากลาง
“เราเฝ้าสังเกตมาตรฐานที่เข้มงวดในการตรวจสอบและกระบวนการกำหนด Libor ของเรา และทำงานร่วมกับอุตสาหกรรม (การเงินการธนาคาร) เพื่อให้แน่ใจถึงความมั่นใจเต็มที่ที่มีอย่าสงต่อเนื่องในหนึ่งในอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงที่มีความถูกต้องแม่นยำและน่าเชื่อถือที่สุดอัตราหนึ่ง” BBA ระบุ
ที่มา Financial Times
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday