นโยบาย2 มาตรฐานในวิกฤตอาหรับ
โดยเบ๊นซ์ สุดตา
เหตุการณ์วิกฤตการเมืองในโลกอาหรับไล่ตั้งแต่ตูนีเซีย
อิยิปต์ แล้วลุกลามไปจนถึงลิเบีย ซาอุดิอาระเบีย เยเมน
บาห์เรนนั้นมีผลอย่างสำคัญต่อโลกในหลายๆด้านด้วยกันทั้งเศรษฐกิจ การเงิน
และการเมืองและความมั่นคงระหว่างประเทศ
ขณะเดียวกันวิกฤตครั้งนี้ก็สร้างความกังวลแตกต่างกันไปสำหรับแต่ละประเทศ
ทั้งนี้ขึ้นกับผลประโยชน์และยุทธศาสตร์ของแต่ละประเทศที่มีโลกอาหรับมาเกี่ยวข้องกับสมการนโยบายมากน้อยขนาดไหน
ซึ่งเรื่องนี้เห็นได้ชัดเจนว่าวิกฤตในโลกอาหรับนั้นคงสร้างความกังวลให้กับประเทศอย่างสหรัฐฯมากที่สุด
ท่าทีของสหรัฐฯนั้นแตกต่างออกไปตามสถานการณ์และสถานภาพและความสัมพันธ์ของสหรัฐฯมีกับแต่ละประเทศพันธมิตรในโลกอาหรับ
ด้วยความซับซ้อนของผลประโยชน์และยุทธศาสตร์จึงทำให้สหรัฐฯมีท่าทีที่แตกต่างกับแต่ละประเทศไปด้วยอย่างชัดเจน
เหตุผลที่ทำให้สหรัฐฯต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับโลกอาหรับนั้นหลักๆก็คือ
เหตุผลด้านการเมืองและความมั่นคง เหตุผลด้านเศรษฐกิจ
และอีกเหตุผลสำคัญที่ลึกและสำคัญกว่านั้นก็คือ เหตุผลด้านการเงิน
ซึ่งในข้อสุดท้ายนี้หากมองอีกด้านหนึ่งก็จะเกี่ยวพันไปถึงการบริหารความสมดุลในแง่ความมั่นคงของสหรัฐฯด้วย
แต่เป็นในด้านของเศรษฐกิจไม่ใช่ด้านการเมือง
เหตุผลด้านการเมืองและความมั่นคง สหรัฐฯมีมิติทางความมั่นคงที่หลากหลายในภูมิภาคนี้
สมัยสงครามเย็นสหรัฐฯอาศัยการสร้างสมดุลอำนาจในภูมิภาคต่างๆเป็นผ่านประเทศอิสราเอล,
กลุ่มประเทศ GCC ทั้ง 6 ประเทศ
และอิยิปต์เพื่อสร้างสมดุลทางความมั่นคงภายในภูมิภาคเองและเพื่อยันกับอำนาจของโซเวียต
แต่เมื่อสงครามเย็นจบลงปัญหาต่างๆก็เบนเป้ามาที่เรื่องปาเลสไตน์
สงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน และเรื่องนิวเคลียร์อิหร่าน โดยในปี 2011 นี้จุดที่ทำให้สหรัฐฯเริ่มกังวลขึ้นมาก็คือ ปัญหาวิกฤตการเมืองอิยิปต์
ซึ่งหากมีการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือขึ้นมาจะทำให้อิสราเอลมีปัญหาความมั่นคงทันทีและส่งผลสะเทือนต่อโครงสร้างความมั่นคงทั้งภูมิภาค
เหตุผลด้านเศรษฐกิจ ประเทศสหรัฐฯก็เหมือนประเทศขนาดใหญ่อื่นๆที่มีการบริโภคน้ำมันมาก
สหรัฐฯจำเป็นต้องคงกำลังทหารในตะวันออกกลางเอาไว้เพื่อรักษาเส้นทางลำเลียงน้ำมันและรักษาผลประโยชน์ของบริษัทน้ำมันขนาดใหญ่ของตัวเองเอาไว้
ซึ่งในแต่ละปีบริษัทน้ำมันในสหรัฐฯรวมถึงชาติพันธมิตรมีกำไรมหาศาลรวมกันมากกว่า 100,000ล้านดอลลาร์
ซึ่งความมั่นคงตรงนั้นย่อมหมายถึงความมั่นคงของราคาหุ้นของบริษัทย้ำมันด้วย
ซึ่งบริษัทน้ำมันในสหรัฐฯและยุโรปไม่กี่บริษัทก็มีมูลค่าหุ้นรวมกันมากกว่าหลักล้านล้านดอลลาร์แล้ว
นอกจากนั้นแล้วน้ำมันยังเป็นยุทธปัจจัยสำคัญของกองทัพสหรัฐฯและพันธมิตรด้วย
เหตุผลด้านการเงิน เป็นที่ทราบกันดีว่า แม้สหรัฐฯจะเผชิญวิกฤตการเงินกี่ครั้งต่อกี่ครั้ง
สถานะของเงินดอลลาร์ในฐานะเงินตราสกุลหลักของโลกก็ยังคงเป็นเช่นเดิม เงินดอลลาร์เป็นสื่อกลางหลักในระบบการค้าโลกซึ่งรวมถึงสินค้ายุทธปัจจัยอย่างน้ำมันด้วย
เงินดอลลาร์เป็นสกุลเงินอันดับที่ 1 ในทุนสำรองของธนาคารกลางทั้งโลก
แต่ความพิเศษของระบบการเงินอาหรับโดยเฉพาะในชาติกลุ่ม GCC นั้นไม่ธรรมดาเนื่องจากว่า
ระบบความสัมพันธ์เปโตรดอลลาร์ในภูมิภาคนี้เป็นระบบโครงสร้างที่เชื่อมโยงสายสัมพันธ์ทางการเมืองและการทูต
ความมั่นคงทางทหาร และการเงินเข้าไว้ด้วยกัน
เป็นตัวยึดโยงความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์เชิงซ้อนทั้งระหว่างสหรัฐฯและชาติตะวันตกกับอาหรับ
และอาหรับกับระบบเศรษฐกิจโลกอีกชั้นหนึ่งด้วย
สำหรับสหรัฐฯแล้ว
การคงไว้ซึ่งระบบเปโตรดอลลาร์สำคัญเหนือสิ่งอื่นใดเพราะนั่นหมายถึงชะตาของเงินดอลลาร์ในระบบการเงินและเศรษฐกิจโลกและยุทธศาสตร์ทางอำนาจของสหรัฐฯที่หากว่าระบบนี้ล้มลงไปแล้ว
ย่อมส่งผลต่อพลวัตทางการเมืองไม่เฉพาะในโลกอาหรับเท่านั้น
แต่หมายถึงในพื้นที่ข้างเคียงส่งผลให้เกิดการล้มลงของโดมิโน่ในทางภูมิรัฐศาสตร์ไปถึงเอเชียกลาง
เอเชียใต้ ยุโรป และแอฟริกา
ระบบเปโตรดอลลาร์ยังหมายถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจสหรัฐฯด้วย
เนื่องจากในแต่ละปีนั้นเงินจากการค้าน้ำมันมหาศาลที่อาหรับได้มาจะถูกส่งกลับไปซื้อสินทรัพย์ทั่วสหรัฐฯและยุโรปทั้งหุ้น
พันธบัตร อสังหาริมทรัพย์ และกองทุนเฮดจ์ฟันด์ต่างๆ อีกทั้งประเทศกลุ่ม GCC ยังตรึงค่าเงินตัวเองคงที่ไว้กับเงินดอลลาร์ 100% ด้วย
เงินเปโตรดอลลาร์ในมือพันธมิตรทางการเมืองที่ไว้ใจได้จึงหมายถึงการมีหลักประกันสำหรับความมั่งคั่งของนายทุนการเงินตะวันตกโดยเฉพาะนายทุนยิว
อีกทั้งสหรัฐฯจะมีหลักประกันอีกว่า หากสหรัฐฯมีความขัดแย้งกับจีนและรัสเซียอย่างรุนแรง
สหรัฐฯจะมีเปโตรดอลลาร์เป็นไม้ตายสุดท้ายในการตอบโต้สงครามการเงินที่จีนและรัสเซียอาจรวมหัวกันเทขายดอลลาร์
เพราะฝั่งอาหรับก็มีเงินมหาศาลที่จะเป็นแรงซื้อดอลลาร์ในตลาดได้เหมือนกัน
ดังนั้นสหรัฐฯแล้ววิกฤตอาหรับนั้นสหรัฐฯจึงมีการ
“เลือกที่รักมักที่ชัง” อย่างที่เห็น สำหรับสหรัฐฯแล้วฮอสนี่
มูบารักไมได้มีความสำคัญไปกว่าบรรดาราชวงศ์ผู้มั่งคั่งในตะวันออกกลางรวมถึงความมั่นคงของอิสราเอล
สหรัฐฯจึงไม่ลังเลที่จะถีบส่งมูบารักออกจากอำนาจทั้งที่เป็นพันธมิตรกันมานานเพื่อรักษาเส้นทางขนส่งน้ำมันผ่านคลองสุเอซและรีบๆทำให้ทุกอย่างในอิยิปต์กลับสู่สภาพเดิม
ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างภาพนักประชาธิปไตยของสหรัฐฯไปในตัวได้ด้วย
ทั้งนี้สหรัฐฯไม่ได้ใส่ใจตัวบุคคลมากเท่าไร
เนื่องจากเมื่อมองดูภาพรวมแล้วโครงสร้างอำนาจต่างๆของอิยิปต์ยังอยู่ครบและยังเอนเอียงมาฝั่งสหรัฐฯและอิสราเอลอยู่
ขณะที่กรณีของลิเบียนั้นไม่มีอะไรซับซ้อนไปกว่าการฉวยโอกาสหลังจากการล้มลงของเบนอาลีและมูบารักได้ก่อให้เกิดกระแสการประท้วงใหญ่ไปทั่วโลกอาหกรับ
สำหรับสหรัฐฯแล้วแม้ลิเบียจะหันมามีท่าทีอ่อนตามสหรัฐฯแล้วก็ตาม
แต่การที่คนอย่างกัดดาฟี่พ้นสายตาไปได้ก็ย่อมเป็นเรื่องที่ดีกว่า
การมีผู้นำใหม่ในลิเบียที่ยอมตามสหรัฐฯและชาติตะวันตกในทุกเรื่องทั้งด้านการต่างประเทศไปจนถึงผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะน้ำมันย่อมเป็นการดีกว่าอยู่แล้ว
ดังนั้นสหรัฐฯและนาโต้จึงไม่ลังเลที่จะเข้าช่วยกลุ่มกบฏเร่งเผด็จศึกกัดดาฟี่
แต่ท่าทีสหรัฐฯที่อ้างเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนนั้นดูจะตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงในกรณีของซาอุดิอาระเบียและบาห์เรนซึ่งก็มีการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงของเจ้าหน้าที่รัฐเช่นกัน
แต่เนื่องจากเดิมพันในทางการเมือง การเงิน
และยุทธศาสตร์ที่สูงมากจึงทำให้สหรัฐฯต้องเลือกผลประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้งอย่างไม่ต้องสงสัย
และไม่มีการขัดขวางใดๆเลยด้วยเมื่อชาติพันธมิตร GCC ตัดสินใจส่งกำลังทหารเข้าแทรกแซงกิจการภายในของบาห์เรนเพื่อช่วยเหลือรัฐบาลบาห์เรนปราบปรามประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตย
และหากดูข้อเรียกร้องในตะวันออกกลางนั้นจะพบว่า
ประชาชนไม่ได้ถึงกับต้องการล้มรัฐบาลเพื่อเปลี่ยนผู้นำใหม่โดยสิ้นเชิง
แต่ต้องการความเป็นธรรมและการกระจายอำนาจและโอกาสทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเท่านั้น
ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่นักคิดนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ตะวันตกพร่ำสอนคนทั้งโลกมาตลอด
แต่เมื่อมีการปราบปรามประชาชนที่ก็ไมได้รุนแรงน้อยไปกว่าที่อื่นประเทศตะวันตกเจ้าสำนักกลับเงียบเป็นเป่าสาก
โดยเฉพาะพันธมิตรและเพื่อนที่ดีของบรรดาราชวงศ์ผู้มั่งคั่งในตะวันออกกลางอย่างสหรัฐฯที่ตระหนักดีถึงชะตากรรมร่วมกันของตัวเองที่หากว่า
ราชวงศ์อาหรับต้องล้มลงหรือสูญเสียอำนาจเบ็ดเสร็จในการกำหนดนโยบายทุกอย่าง สหรัฐฯจะประสบปัญหาอย่างหนักในการบริหารและครอบงำภูมิภาคตะวันออกกลางในแง่การเมืองและความมั่นคงโดยเฉพาะกับอิหร่าน
นอกจากนั้นแล้วในทางการเงินสหรัฐฯจะมีปัญหาอย่างยิ่งยวดในการรับมือพันธมิตรการเงินอย่างจีน-รัสเซียที่พร้อมจะบีบหรือถล่มสหรัฐฯได้ทุกเวลาจากการใช้พลังทุนสำรองเงินตราต่างประเทศที่รวมกันแล้วเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งโลกในสงครามการเงินที่สามารถปะทุได้ตลอดเวลา
ดังนั้นแล้วจึงไม่น่าแปลกใจที่สหรัฐฯจะมีนโยบายแบบ 2
มาตรฐานในวิกฤตโลกอาหรับที่ดูจะขัดกันไปหมดนั่นเอง
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1479 ครั้ง