วันที่ 29 มีนาคม พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ทรงห่วงใยราษฎรที่ประสบความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ จึงได้พระราชทานถุงยังชีพ เป็นเครื่องอุปโภคบริโภค ให้มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ไปมอบให้แก่ราษฎรเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น โดยนายดิสธร วัชโรทัย ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ในพระบรมราชูปถัมภ์ และนายประสงค์ วิทูรกิจจา เลขาธิการมูลนิธิฯ พร้อมคณะจากส่วนกลาง เดินทางไปมอบสิ่งของพระราชทาน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัย ในท้องที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี พัทลุง และนครศรีธรรมราช รวม 4,000 ครัวเรือน คิดเป็นมูลค่าสิ่งของสงเคราะห์ทั้งสิ้นกว่า 3 ล้าน 280,000 บาท
โดยวันนี้ เวลา 15.00 – 16.00 น.จะมอบเครื่องอุปโภคบริโภคแก่ราษฎรที่ประสบอุทกภัย ที่ศาลาประชาคมอำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี จำนวน 1,000 ครัวเรือน
ปรับเกณฑ์ช่วยเหลือ
ด้านนายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึง การให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ที่ประสบภัยน้ำท่วม ว่า รัฐบาลได้ประสานการช่วยเหลือกับผู้ว่าราชการจังหวัดตลอดเวลา และ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ก็ได้สนับสนุนการช่วยเหลือเฉพาะหน้า โดยให้อำนาจเต็มที่กับผู้ว่าราชการจังหวัดให้จัดหาอุปกรณ์จำเป็น รวมทั้งอาหารปรุงสำเร็จไปแจกจ่ายผู้เดือดร้อน แต่ปัญหาที่เราประสบขณะนี้คือมีทั้งลม และฝน ทำให้เฮลิคอปเตอร์บินไม่ได้ แต่ทันทีที่ท้องฟ้าเปิด ทางเจ้าหน้าที่ของกองทัพภาคที่ 4 จะนำเฮลิคอปเตอร์เข้าไปช่วยเหลือในพื้นที่ที่ถนนถูกตัดขาด ทั้งการขนย้ายผู้ป่วย และขนอาหารไปส่ง นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้นายสาทิตย์ ไปพิจารณาดูข้อเท็จจริงเรื่องการจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวยาครอบครัวละ 5 พันบาท ที่เดิมเคยกำหนดหลักเกณฑ์ไว้ว่าจะจ่ายกรณีที่มีภัยน้ำท่วมติดต่อกันเกิน 7 วัน แต่ครั้งนี้น้ำท่วมแบบไปเร็วมาเร็ว บ้านพังเสียหายทั้งหลัง และบางแห่งก็มีน้ำท่วมขัง จึงต้องไปดูข้อเท็จจริงว่าจะดูแลประชาชนในส่วนนี้ได้อย่างไร
เมื่อถามว่า จะนำงบประมาณจากส่วนไหนมาช่วย เพราะปีที่แล้วที่เกิดน้ำท่วมก็มีงบไม่เพียงพอ และต้องตั้งงบกลางเข้าไปดูแล นายสุเทพ กล่าวว่า เรื่องงบไม่เป็นปัญหา อยู่ที่ข้อมูลข้อเท็จจริงที่จะต้องรีบทำให้รวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ในส่วนความเสียหายนั้น ยังประเมินไม่ได้ แต่ จ.นครศรีธรรมราช ถือว่าโดนหนักที่สุด รองลงมาคือ จ.สุราษฎร์ธานี พัทลุง และชุมพร ซึ่งทันทีที่น้ำลดก็ต้องรีบสำรวจความเสียหายจะได้เยียวยากันต่อไป สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และคนไทยที่ติดค้างบนเกาะสมุย เพราะเครื่องบินไม่สามารถบินขึ้นได้นั้น มีเรือเฟอร์รี่ที่วิ่งขนส่งผู้โดยสารจากเกาะสมุยมาบนฝั่งได้
เตรียม 3 แนวทางช่วยใต้
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯเปิดเผยว่า รัฐบาลได้เตรียมการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ไว้ 3 แนวทาง คือ 1.ให้จังหวัดใช้งบทดรองจ่ายที่มีอยู่แล้ว หากไม่พอสามารถขออนุมัติเพิ่มเติมได้ 2.เครื่องมือโดยจะขอให้ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) นำเรือ เครื่องยนต์เรือ แพยาง และเครื่องสูบน้ำ โดยให้ระดมจากกทม.รวมถึงพื้นที่ภาคกลางเข้าช่วยเหลือ และ3.อาหารและน้ำดื่ม โดยจะมีการขออนุมติงบประมาณจำนวน 20 ล้านบาท เพื่อจัดหาถุงยังชีพและน้ำดื่มไปบริจาคให้ประชาชน
นอกจากนี้ในวันที่ 31 มี.ค. เวลา 21.00 น.จะมีการจัดรายการเพื่อขอรับบริจาคทางช่อง 9 โมเดิร์นไนน์ทีวี
“ในวันที่ 30 มี.ค.นี้ ศูนย์ประสานการช่วยเหลือเยียวยาผู้ประสบอุทกภัย (ศชอ.) จะมีการประชุมในเวลา 14.30 น. หลังจากที่นายกฯได้เดินทางลงไปตรวจสอบพื้นที่น้ำท่วมที่จ.สุราษฎร์ธานี โดยคาดการว่าการประชุมจะมีมาตรการช่วยเหลือเบื้องต้น อาทิ ค่าชดเชยพืชผลทางการเกษตร”นายสาทิตย์ กล่าว
ขณะนี้สถานการณ์ฝนตกในพื้นที่ภาคใต้ถือว่าหนักมาก ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ประกาศเตือน 7 จังหวัดที่จะประสบภัยหนัก คือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ตรัง และกระบี่ โดยเฉพาะแหลมตะลุมพุก จ.นครศรีธรรมราช ได้มีการประสานให้นำประชาชนออกมาแล้วเป็นบางส่วน
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าจะมีฝนตกต่อเนื่องไปอีก 5 วัน และได้ประเมินว่าสถานการณ์ดังกล่าวมีความรุนแรงกว่าพ.ย.2553 และ 2531 อีกทั้งยังถือว่าฝนตกหนักเป็นประวัติศาสตร์
อย่างไรก็ตาม ศชอ.ได้กำชับไปยังแต่ละจังหวัดเพื่อให้นำไปปฏิบัติโดยการแยกเป็นกลุ่ม คือ 1.พื้นที่เสี่ยงดินถล่ม ให้มีการขนย้ายประชาชนออกมาอยู่ในที่ปลอดภัย โดยไม่ต้องรอดูสถานการณ์ 2.ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ลุ่ม ให้ย้ายประชาชนออกมาอยู่ในที่ปลอดภัย และ3.การท่องเที่ยวตามเกาะต่างๆ โดยเฉพาะฝั่งอันดามันและอ่าวไทย ควรยกเลิกการท่องเที่ยวในขณะนี้
ด้านนายกฤษณะ เอี่ยมวงศ์นที ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า ภาวะฝนตกหนักในเขตพื้นที่จ.ระนอง ส่งผลให้น้ำป่าไหลหลากซัดทางเบี่ยงบริเวณสะพานบางหิน ต.บางหิน อ.กะเปอร์ ขาดทำให้รถยนต์ทั้งขนาดเล็กและใหญ่ไม่สามารถสัญจรในเส้นทางถนนเพชรเกษมสายระนอง-ภูเก็ต ได้ ตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค. 2554 ที่ผ่านมา สร้างความเดือดร้อนอย่างหนักให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน และผู้ที่ต้องเดินทางผ่านเส้นทางดังกล่าว ส่งผลให้ขณะนี้เกิดปัญหาสินค้าประเภทสัตว์น้ำที่มีกำหนดจะต้องออกจากโรงงานที่ จ.ระนองไปยัง จ.ภูเก็ตตกค้างอยู่ในห้องเย็นของแต่ละโรงงานเป็นจำนวนมาก และหากยังไม่สามารถเปิดเส้นทางดังกล่าวได้ภายในวันนี้คาดว่าจะส่งผลกระทบและสร้างความเสียหายให้กับผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก
สตูลระวังน้ำเอ่อล้น
ที่จังหวัดสตูล นายวินัย ครุวรรณพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสตูล เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์ในพื้นที่จ.สตูล ได้เกิดฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องมาร่วม 3 วันแล้ว ทำให้การท่องเที่ยวของ จ.สตูล ในขณะนี้เกิดการชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัดไม่ว่าจะเป็นเกาะหลีเป๊ะ หรือเกาะลังกาวี แต่เนื่องจาก สภาพโดยทั่วไป การเดินทางระหว่างปากบารา-ตำมะลัง-หลีเป๊ะ จะใช้เรือเฟอร์รี่หรือเรือสปี๊ทโบ๊ททำให้การเดินทางไป-กลับในทะเลอันดามันในขณะนี้ เป็นไปอย่าง ลำบาก เนื่องจากฝนตกหนัก และมีคลื่นลมที่แรง ดังนั้นจึงได้สั่งการให้สำนักงานการขนส่งทางน้ำที่ 5 สาขาสตูล ร่วมกับเรือตำรวจน้ำ กองเรือภาคที่ 3 ตำรวจภูธร จ.สตูล ได้กำชับและดูแลการขนส่งทางน้ำ ให้เป็นไปอย่างเข้มงวด เนื่องจากสภาพในขณะนี้ มีนักท่องเที่ยวที่เดินทางไปยัง เกาะหลีเป๊ะ และเกาะตะรุเตา แต่ยังไม่ได้เดินทางกลับ อยู่อีกจำนวนมากโดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ
ที่อำเภอหาดใหญ่ ตลอดคืนที่ผ่านมา ได้มีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง บางช่วงตกลงมาอย่างหนัก สลับกับตกโปรยปราย กระทั่งเช้าวันนี้ (29มี.ค.) ฝนก็ยังคงตกต่อเนื่อง สภาพท้องฟ้ามืดครึ้มคาดว่าจะมีฝนตกลงมาตลอดทั้งวัน ซึ่งก่อนนี้ในช่วงบ่ายของวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา ปรากฎว่าในบางพื้นที่เกิดน้ำท่วมขัง สาเหตุคูระบายน้ำไม่สามารถระบายน้ำลงสู่คลองต่างๆได้ทัน โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณถนนกาญจนวณิชย์ ฝั่งออกจากหาดใหญ่ไป อ.สะเดา ตรงสี่แยกคลองหวะ ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่ม เกิดน้ำท่วมขังซ้ำซาก บริเวณนี้หากมีปริมาณฝนตกมากก็จะเกิดน้ำท่วมขังระบายน้ำไม่ทันทุกครั้ง ทำให้การจราจรติดขัดมาก แต่หลังจากฝนหยุดตกไม่ถึง 1ชม.ระดับน้ำท่วมขังก็ลดลงเข้าสู่ภาวะปกติ ส่วนระดับน้ำในคลองต่างๆ จากการตรวจสอบดูพบว่ามีปริมาณน้ำที่เพิ่มขึ้นจากเดิมมากพอสมควร สีของน้ำขุ่นแดง แต่ระดับน้ำยังห่างจากขอบตลิ่งของคลองต่างๆอีกมาก
ขณะที่นายวิจิตร จันทรปาน หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.สงขลา กล่าวว่า หลังจากที่พบว่าบางพื้นที่ของ อ.ระโนด และ อ.กระแสสินธุ์ เกิดน้ำท่วมขังแล้ว ส่งผลให้ภาคเกษตรกรรมของชาวบ้านได้รับความเสียหายบางส่วน โดยเฉพาะนาข้าวที่กำลังอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต เนื่องจากน้ำในทะเลสาบสงขลาหนุนสูง จากปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงน้ำที่ท่วมในพื้นที่ จ.พัทลุง ระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลาด้วย ซึ่งสถานการณ์ล่าสุดในวันนี้ ก็ยังไม่มีรายงานพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมเพิ่มเติมแต่อย่างใด และพื้นที่ที่ประสบภัยนั้น ทางจังหวัดสงขลา สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.สงขลา รวมถึงองค์กรท้องถิ่นในพื้นที่ กองทัพเรือภาคที่2 ชลประทาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแล้ว โดยรวมยังถือว่าไม่ได้รับความเสียหายมากนัก แต่ทุกฝ่ายก็ไม่ประมาท ได้เตรียมพร้อมรับมืออย่างใกล้ชิด รวมถึงแจ้งข่าวและเตือนประชาชนในพื้นที่ให้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม ดินถล่ม พร้อมกับให้คอยติดตามข่าวสารจากศูนย์อุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิดด้วย หากเกิดเหตุจะได้อพยพหลบหนีได้ทันท่วงที
ตรังย้ายผู้ป่วยออกจากรพ.นาโยง
ที่จ.ตรัง ฝนที่ตกหนักมาหลายวัน ส่งผลให้เกิดน้ำป่าจากเทือกเขาบรรทัดไหลหลากทะลักเข้าท่วม ถ.สายเพชรเกษม ตรัง-พัทลุง เจ้าหน้าที่ต้องปิดกั้นเส้นทางการจราจร และห้ามรถทุกชนิดขับผ่าน เนื่องจากระดับน้ำสูงกว่า 1 เมตร และไหลเชี่ยวกราก จึงประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้รถหลีกเลี่ยงไปใช้เส้นทางสายรอง สายบ้านนาปด-กะช่องแทน เพื่อความปลอดภัย
ที่เทศบาล ต.นาโยงเหนือ อ.นาโยง จ. ตรังได้ประกาศแจ้งเตือนให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล เตรียมอพยพขนย้ายทรัพย์สินของมีค่า และสัตว์เลี้ยง ไปไว้ในที่สูง เนื่องจากระดับน้ำที่ท่วมถนนสายเพชรเกษม เริ่มมีปริมาณสูงขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้มีการเปิดประตูระบายน้ำฝายคลองนางน้อย จึงคาดการณ์ว่า น้ำจะไหลเข้าท่วมในเขตเทศบาลในช่วงบ่ายวันนี้
นายสันติ วงศ์ยงศิลป์ ผู้อำนวยการแขวงการทางตรัง กล่าวว่า ขณะนี้ได้รับรายงานน้ำท่วมถนนสายหลักเพียง 1 สาย คือ ถ.สายตรัง-พัทลุง ส่วนสายอื่นมีน้ำท่วมแต่รถทุกชนิดยังคงสัญจรได้ตามปกติ
ขณะที่ นพ.เลิศรัตน์ เอกสถาพรสกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนาโยง กล่าวว่า ภายหลังจากได้รับการประกาศแจ้งเตือนภัยน้ำท่วม ในส่วนของโรงพยาบาลนาโยง ได้เรียกประชุมเตรียมความพร้อม โดยได้ตรวจสอบจำนวนคนไข้ที่ป่วยหนัก 9 ราย เคลื่อนย้ายส่งต่อไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลศูนย์ตรัง ซึ่งประกอบด้วย คนไข้ที่ป่วยโรคปอด ไข้เลือดออก คนไข้ใกล้คลอด คนไข้อุบัติเหตุทางสมอง ที่ต้องใช้ออกซิเจนตลอดเวลา ส่วนคนไข้อื่นยังไม่เคลื่อนย้าย และยังเปิดให้บริการตามปกติ
ขณะเดียวกันได้สำรองอ๊อกซิเจน จำนวน 30 ถัง อาหาร เครื่องดื่ม และน้ำในช่วง 3 วันนี้ ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอ พร้อมกับสำรองเซรุ่มงูไว้รองรับผู้ที่ถูกงูกัด ส่วนเครื่องปั่นไฟที่ถูกน้ำท่วมก่อนหน้านี้ เนื่องจากฐานตั้งอยู่ในที่ต่ำ จึงทำให้ถูกน้ำท่วมได้ง่าย ขณะนี้ทางโรงพยาบาลได้สร้างฐานสูงขึ้นกว่าเดิมและทำรั้วกั้นรอบ ทำให้น้ำท่วมไม่ถึง
ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ตรัง ได้สรุปสถานการณ์น้ำท่วมใน จ.ตรัง เพิ่มขึ้น 6 อำเภอแล้ว ประกอบด้วย อ.เมือง อ.นาโยง อ.ห้วยยอด อ.รัษฎา อ.ย่านตาขาว และล่าสุด อ.ปะเหลียน รวม 34 ตำบล 3 เทศบาล 166 หมู่บ้าน 2,250 ครัวเรือน ราษฎรเดือดร้อน จำนวน 7,080 คน
เร่งช่วยนักท่องเที่ยวติดเกาะสิมิลัน
ที่หมู่เกาะสุรินทร์ สิมิลัน จ.พังงา ได้มีนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ติดอยู่บนเกาะ จำนวน 84 คน ซึ่งในขณะนี้ฐานทัพเรือภาคที่ 3 ร่วมกับ ฐานทัพเรือจังหวัดพังงา และเรือหลวงบางปะกง ออกไปช่วยเหลือนักท่องเที่ยว ภายใต้การนำของ พล.ร.ต.รังสฤษดิ์ สัตยานุกูล เสนาธิการทัพเรือภาคที่ 3 ซึ่งการช่วยเหลือในขณะนี้เป็นไปด้วยความยากลำบาก เนื่องจากมีคลื่นลมแรง สูงถึง 3 เมตร อีกทั้ง บริเวณบนถนนสายตำบลทุ่งคาโงก ที่จะเข้าสู่ตัวเมืองจังหวัดพังงา ได้เกิดดินสไลด์ ทำให้ขณะนี้ต้องปิดถนน การเดินทางของชาวบ้านไม่สามารถเข้าออกได้
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1012 ครั้ง