นายเดินทามุสซา คุสซา งถึงสนามบินฟาร์นโบโรจ์ ทางตะวันตกของกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ เมื่อวานนี้ ก่อนจะประกาศลาออกจากตำแหน่ง โดยบอกว่าเขาไม่ต้องการเป็นตัวแทนของรัฐบาลลิเบียอีกต่อไป โดยกระทรวงต่างประเทศของอังกฤษ ได้ออกแถลงการณ์ว่า นายคุสซาเดินทางไปยังอังกฤษด้วยความตั้งใจของเขาเอง และได้แจ้งว่าเขาลาออกจากตำแหน่งแล้ว
แถลงการณ์ ระบุอีกว่า นายคุสซา เป็นหนึ่งในสมาชิกระดับสูงสุดในรัฐบาลของพันเอกกัดดาฟี และมีบทบาทในการเป็นตัวแทนของลิเบียในเวทีสากล ซึ่งเขาไม่อยากจะทำหน้าที่นี้อีกต่อไปแล้ว ทางการอังกฤษได้สนับสนุนให้คนที่อยู่รอบตัวพันเอกกัดดาฟี ถอยห่างจากเขาและไปหาอนาคตที่ดีกว่าให้กับลิเบีย ที่ยอมรับการส่งผ่านอำนาจทางการเมืองและมีการปฏิรูปอย่างแท้จริงตามความปรารถนาของประชาชนชาวลิเบีย
นายคุสซา เดินทางถึงอังกฤษ หลังจากพักอยู่ที่ตูนิเซียเป็นเวลา 2 วัน ซึ่งรัฐบาลลิเบีย ระบุว่าเป็นการเยือนอย่างเป็นการส่วนตัว และหลังจากมีรายงานว่าเขาเดินทางต่อไปยังอังกฤษรัฐบาลลิเบีย ก็ยังอ้างว่า เขากำลังปฏิบัติภารกิจทางการทูต แต่ข่าวการไปถึงอังกฤษของเขาได้มีขึ้นในเวลาไม่กี่ชั่วโมง หลังจากนายวิลเลียม เฮ้ก รัฐมนตรีต่างประเทศ ประกาศว่า อังกฤษได้ขับนักการทูตลิเบีย 5 คน รวมทั้งทูตทหารด้วย
ก่อนหน้านี้ มีเจ้าหน้าที่ระดับสูงหลายคน ที่เป็นคนใกล้ชิดของพันเอกกัดดาฟี รวมทั้งรัฐมนตรีและนายทหารระดับสูง พากันแปรพักตร์ นับตั้งแต่เกิดการลุกฮือขึ้นต่อต้านอำนาจการปกครองอันยาวนานถึง 42 ปี ของเขา แต่การแปรพักตร์ของนายคุสซา ถือเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงสำหรับพันเอกกัดดาฟี เพราะที่ผ่านมา เขาได้ชื่อว่าเป็นบุคคลสำคัญที่พยายามปรับปรุงภาพลักษณ์และชื่อเสียงของลิเบียในต่างประเทศ สำหรับวิกฤติที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน
นายคุสซา วัย 59 ปี ได้ชื่อว่าเป็นมือขวาของพันเอกกัดดาฟี เขารับรัฐมนตรีต่างประเทศ เมื่อเดือนมีนาคม 2552 หลังจากดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการข่าวกรอง เมื่อปี 2537 เชื่อกันว่า เขาคือคนที่โน้มน้าวให้พันเอกกัดดาฟี ละทิ้งโครงการนิวเคลียร์ ที่เปิดทางไปสู่การยกเลิกมาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ เขาเคยดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตลิเบีย ประจำอังกฤษ เมื่อปี 2523 แต่ถูกขับออกไป หลังจากระบุว่า เขาต้องการกำจัดศัตรูของลิเบียในอังกฤษ
CIA แทรกซึมลิเบีย
หนังสือพิมพ์นิวยอร์ค ไทม์ส รายงานว่า สหรัฐและอังกฤษได้ส่งเจ้าหน้าที่ข่าวกรองแอบแทรกซึมเข้าไปในลิเบีย เพื่อติดต่อกับฝ่ายต่อต้านและรวบรวมข้อมูล เพื่อชี้เป้าให้กองกำลังผสมใช้ปฎิบัติการทางอากาศ ขณะที่ ABC นิวส์ รายงานว่า ประธานาธิบดีบารัค โอบาม่า ได้ลงนามในคำสั่งลับ เปิดทางให้สำนักข่าวกรองกลาง หรือ CIA เข้าไปปฏิบัติภารกิจในลิเบีย แต่ทำเนียบขาวได้ปฏิเสธที่จะให้ความเห็น โดยอ้างธรรมเนียมปฏิบัติที่จะไม่พูดเรื่องข่าวกรอง และยืนยันว่าประธานาธิบดีโอบาม่า ยังไม่มีการตัดสินใจเรื่องการติดอาวุธให้กับฝ่ายต่อต้าน หรือกลุ่มอื่นใดในลิเบีย แต่จะใช้การประเมินและทบทวนทางเลือกที่สามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนชาวลิเบีย ซึ่งต้องมีการหารือโดยตรงกับทั้งฝ่ายต่อต้านและหุ้นส่วนนานาชาติด้วย
รายงานของนิวยอร์ค ไทม์ส ระบุว่า CIA ได้ส่งสายลับแทรกซึมเข้าไปรวมรวมข้อมูลเพื่อใช้ในการปฏิบัติการโจมตีทางอากาศในกรุงทริโปลี และยังสร้างเครือข่ายเชื่อมโยงกับฝ่ายต่อต้าน ที่เมื่อวันพุธ เพิ่งจะเสียพื้นที่ในการควบคุมให้กับกองกำลังของพันเอกกัดดาฟี และแม้ประธานาธิบดีโอบาม่าจะยืนยันว่า ไม่มีทหารราบของอเมริกัน เข้าไปปกป้องพลเรือนในลิเบีย แต่นิวยอร์ค ไทม์ส ระบุว่า มีสายลับอเมริกันกลุ่มย่อย ๆ เข้าไปปฏิบัติภารกิจในลิเบียมาหลายสัปดาห์แล้ว
รายงานยังอ้างเจ้าหน้าที่ทั้งในอดีตและปัจจุบันของอังกฤษด้วยว่า กองกำลังชุดปฏิบัติการพิเศษของอังกฤษ และเจ้าหน้าที่ข่าวกรองต่างประเทศ หรือ เอ็มไอซิกซ์ ได้เข้าปฏิบัติภารกิจภาคพื้นดิน เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาวุธและกองกำลังฝ่ายรัฐบาล ด้าน ABC นิวส์ ได้รายงานว่า ประธานาธิบดีโอบาม่า ได้ลงนามในคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ CIA เข้าไปปฏิบัติภารกิจในลิเบีย ซึ่งการลงนามในคำสั่งของประธานาธิบดีไม่ว่ากรณีใด ๆ ถือเป็นการวางกรอบทางกฎหมาย เพื่อการใช้ปฏิบัติการลับ และจะต้องมีขึ้นก่อนการปฏิบัติภารกิจทุกครั้ง
มีรายงานด้วยว่า เจ้าหน้าที่ CIA ที่แทรกซึมเข้าไป ได้มีส่วนช่วยในการใช้ปฎิบัติการช่วยเหลือลูกเรือ 2 นาย ของเครื่องบินรบ เอฟ-15 อี สไตรค์ อีเกิล ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญข่าวกรอง ระบุว่าCIA ได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปติดต่อกับฝ่ายต่อต้านและประเมินความแข็งแกร่งและความจำเป็นในการรับความช่วยเหลือของฝ่ายต่อต้าน เผื่อว่าประธานาธิบดีโอบาม่าจะตัดสินใจติดอาวุธให้พวกเขา
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1355 ครั้ง