รูปภาพ : นายนาจิ๊บ ราซัก นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียระหว่างให้สัมภาษณ์พิเศษกับบลูมเบิร์กที่ที่ทำการรัฐบาลในนครปูตราจายา
ที่มา : Bloomberg
นายนาจิ๊บ ราซัก (Najib Razak) นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียให้สัมภาษณ์กับบลูมเบิร์กว่า มาเลเซียเห็นถึงแนวโน้มของการใช้เงินหยวนเพิ่มขึ้นในการค้าขายกับจีน ขณะที่ยังคงรักษาดอลลาร์เป็นเงินสกุลหลักในทุนสำรองของประเทศอยู่
“เราต้องคงเงินดอลลาร์สหรัฐฯไว้ในฐานะสกุลเงินที่สำคัญที่สุดในทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่” นายนาจิ๊บให้สัมภาษณ์สัปดาห์นี้ในเมืองปูตราจายา (Putrajaya) ใกล้กับนครกัวลาลัมเปอร์ก่อนครบรอบการครองอำนาจ 2 ปีของเขาในวันที่ 3 เมษายนที่จะถึงนี้ “เงินสกุลใหม่สามารถเกิดขึ้นได้ ผมคิดว่าเราเปิดกว้างต่อเรื่องนี้มาก แต่แน่นอนมันต้องได้รับการยอมรับจากทั่วโลกด้วยหากเงินสกุลนั้นต้องการเป็นเงินสกุลหลักของโลก” เขากล่าว โดยเสริมว่า ตอนนี้มีความเป็นไปได้สูงที่การค้าในรูปเงินหยวนจะเพิ่มขึ้น
รัฐมนตรีคลังจากประเทศพัฒนาแล้วและประเทศเกิดใหม่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกได้มารวมตัวกันเพื่อถกเถียงถึงอนาคตของระบบการเงินโลกซึ่งถูกครอบงำด้วยเงินดอลลาร์สหรัฐฯนับแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้านรัฐบาลจีนยังคงมองหาลู่ทางในการเพิ่มบทบาทของเงินหยวนในด้านการค้า ขณะที่ก็ปฏิเสธข้อเรียกร้องที่ให้มีการปล่อยให้เงินหยวนลอยตัวอย่างเสรในตลาดการเงินไปในตัวด้วยเช่นกัน
“จีนกำลังเพิ่มบทบาทของเงินหยวนในเวทีโลกในด้านการชำระค่าสินค้าในแนวทางที่ค่อยเป็นค่อยไปมาก” นายจิมมี่ โก๊ะ หัวหน้าฝ่ายบริหารสภาพคล่อง (Treasury) ที่ธนาคาร UOB ในสิงคโปร์ “เงินหยวนไม่น่าจะแซงหน้าเงินดอลลาร์ในแง่ของบทบาทด้านการชำระค่าสินค้าหรือเป็นเงินสกุลหลักของโลกในเร็วๆนี้”
แบงก์ เนการา มาเลเซีย (Bank Negara Malaysia) ธนาคารกลางของประเทศมาเลเซียไม่ได้เปิดเผยถึงโครงสร้างการถือครองเงินสกุลต่างๆในทุนสำรองและกล่าวว่า ทางธนาคารกลางยังไม่มีตัวเลขสถิติการค้าในรูปเงินสกุลท้องถิ่นระหว่างประเทศมาเลเซียและจีน
เชื่อมั่นในยูโร
“เงินยูโรก็เป็นเงินสกุลสำคัญด้วย ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในยุโรป เรามีความเชื่อมั่นในเสถียรภาพระยะยาวของเงินยูโร” นายนาจิ๊บกล่าวในระหว่างการให้สัมภาษณ์ในปูตราจายาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2011 ที่ผ่านมา โดยเมืองนี้เป็นศูนย์กลางการบริหารงานของรัฐบาลที่สร้างขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1990 เพื่อลดความแออัดเกินจำเป็นในกัวลาลัมเปอร์
รัฐบาลในยุโรปยังคงดิ้นรนเพื่อควบคุมวิกฤตหนี้สาธารณะซึ่งส่งผลให้รัฐบาลกรีซและไอร์แลนด์ต้องขอรับการช่วยเหลือจากสหภาพยุโรปเพื่อพยุงฐานะการคลังของประเทศ
จีนกำลังส่งเสริมการใช้เงินหยวนในระดับโลกหลังจากนายกรัฐมนตรีเวิน เจียเป่ากล่าวในเดือนมีนาคมว่า เขา “กังวล” เกี่ยวกับสินทรัพย์ที่ถือครองในรูปของเงินดอลลาร์ การชำระเงินผ่านแดนในรูปของเงินหยวนอยู่ที่ 506,300 ล้านหยวน (ประมาณ 77,000 ล้านดอลลาร์) เมื่อปีที่แล้ว ธนาคารกลางจีนแถลงเมื่อวันที่ 2 มีนาคมที่ผ่านมา
“นี่คือจีนใหม่ เพราะความจริงที่ว่าพวกเขามีความเชื่อมั่นกว่าแต่ก่อน” นายนาจิ๊บกล่าว “ที่กล่าวเช่นนั้น เราเชื่อว่าจีนไม่ต้องการทำอะไรก็ตามที่จะบั่นทอนสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคนี้เพราะพวกเขามีจุดมุ่งหมายชัดเจนในการก้าวขึ้นสู่มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก”
ญี่ปุ่น เวียดนาม และฟิลิปปินส์ทั้ง 3 ประเทศต่างประท้วงการกระทำของจีนในเขตน่านน้ำที่ยังคงมีข้อพิพาทอยู่เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการเรียกความสนใจถึงความเป็นไปได้ที่อาจเกิดการปะทะกันในพื้นที่ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรมหาศาลซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในทางการค้า นายนาจิ๊บกล่าวอีกว่า เขายังคงมองว่าสหรัฐฯยังคงเป็นมหาอำนาจเพียงหนึ่งเดียวในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก
สหรัฐฯสร้างสมดุลกับจีน
“เราเห็นถึงดุลยภาพบางอย่างในแง่ของมหาอำนาจหลักในภูมิภาค” เขากล่าว “ตราบที่ยังคมีดุลยภาพที่ดี ผมยังคงมองบวกถึงการมีสันติภาพและความรุ่งเรือง และภูมิภาคนี้จะยังคงเป็นผู้นำการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอนาคต”
ประเทศมาเลเซียซึ่งบังคับใช้มาตรการควบคุมเงินทุน (Capital Control) ในช่วงหลังจากวิกฤตการเงินเอเชียปี 1998 ได้ผ่อนคลายมาตรการนี้เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้วโดยการอนุญาตให้ผู้ส่งออกและการนำเข้าสามารถใช้เงินริงกิตและเงินสกุลอื่นชำระค่าสินค้ากับบริษัทต่างประเทศได้ ในเวลาเดียวกันจีนก็เริ่มให้มีการซื้อขายเงินหยวนและเงินริงกิตมาเลเซียในตลาดเงินตราต่างประเทศของทางการด้วย
บริษัทเบอรซ่า มาเลเซีย เดริเวตีฟส์ เบอร์ฮาด (Bursa Malaysia Derivatives Bhd.) ซึ่งกำหนดราคาอ้างอิงโลกของน้ำมันปาล์มดิบ ได้เริ่มอนุญาตให้มีการรับเงินหยวนเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสำหรับการวางมาร์จิ้นสำหรับการซื้อขายตราสารอนุพันธ์ในมาเลเซียตั้งเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
ที่มา Bloomberg
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday