สาทิตย์ ระบุ คชอ.เตรียมงบ 2,900 ล้านบาท ช่วยผู้ประสบอุทกภัยใต้ สั่งหน่วยงานเกี่ยวข้องเร่งสำรวจข้อมูล โวทยอยจ่ายงบเร็วๆ นี้ เกษตร ฯเร่งช่วยเกษตรกร
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานประชุมคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย (คชอ.) ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.)โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผู้ว่าราชการ 10 จังหวัดที่ประสบอุทกภัย เข้าร่วมประชุม ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยนายสาทิตย์ ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานสำรวจข้อมูล ผู้ประสบอุทกภัย เพื่อให้เงินช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 5,000 บาท ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติ ตามหลักเกณฑ์ที่ คชอ. กำหนดไว้ เช่น ต้องเป็นบ้านเรือนได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมโดยฉับพลัน ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย บ้านพักถูกน้ำท่วมขัง ติดต่อไม่น้อยกว่า 7 วัน บ้านพักได้รับความเสียหายจากดินโคลนถล่ม นอกจากนี้ ต้องเป็นบ้านพักอาศัยที่มีทะเบียนบ้าน หรือในกรณีที่เป็นบ้านเช่า ผู้เช่าจะได้รับเงินช่วยเหลือเท่านั้น อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นครม.อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณช่วยเหลือความเสียหายจากอุทกภัยไม่เกิน 2,900 ล้านบาท ซึ่งมีบ้านเรือนที่อยู่ในข่ายได้รับความเสียหายประมาณ 58,000 ครัวเรือน
นายสาทิตย์ กล่าวอีกว่า จะเร่งจ่ายเงินงบประมาณในส่วนของงบช่วยเหลือผู้ประสบภัย ช่วงปลายปีที่แล้ว ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 10 เมษายนนี้ ขณะนี้งบประมาณช่วยเหลือใหม่นี้จะเริ่มทยอยจ่ายหลังจากนั้นตามแต่ละจังหวัดที่ทำการสำรวจข้อมูลเสร็จสิ้น และจากการตรวจสอบกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่ประสบอุทกภัย คาดมีบ้านพักได้รับความเสียหายทั้งหลังประมาณกว่า 360 หลังคาเรือน ได้แก่ จ.กระบี่ 167 หลังคาเรือน ตรัง 9 หลังคาเรือน นครศรีธรรมราช 180 หลังคาเรือน สงขลา และชุมพร จังหวัดละ 5 หลังคาเรือน ส่วน จ.สุราษฎร์ธานี ยังไม่สามารถสำรวจได้ เนื่องจากสถานการณ์ยังไม่คลี่คลาย ซึ่งได้มีการเตรียมเงิยจากกองทุนช่วยเหลือจากผู้ประสบภัยจำนวน 60 ล้านบาทไว้รองรับ นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำดื่มใน จ. สุราษฎร์ธานี โดยเตรียมน้ำดื่ม 100,000 ขวดไว้ให้การช่วยเหลือ
เกษตรเร่งช่วยเหลือเกษตรกร
นายธีระ วงศ์สมุทร รมว.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า มาตรการที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะเร่งเข้าไปให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วนหลักคือ1.การให้ความช่วยเหลือเป็นเงินให้แก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบโดยกระทรวงเกษตรฯได้คาดการณ์ว่าจะมีพื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหายประมาณ 60%จากพื้นที่ประสบภัยทั้งหมดในครั้งนี้ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติอนุมัติกรอบวงเงินช่วยเหลือจำนวน 3,232 ล้านบาทโดยให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ใช้กรอบวงเงินที่เหลืออยู่ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่2พฤศจิกายน 2553 และวันที่ 24 มกราคม 2554 จำนวน 1,605.48 ล้านบาทเพื่อให้การช่วยเหลือด้านเกษตรกรในครั้งนี้และอนุมัติงบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพื่อให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมจำนวน 1,632.40 ล้านบาทโดยใช้หลักเกณฑ์การจ่ายเงินช่วยเหลือน้ำท่วมกรณีพิเศษปี 2553ต่อการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยครั้งนี้
ทั้งนี้กระทรวงเกษตรฯจะเร่งสำรวจพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายอย่างสิ้นเชิงอย่างแท้จริงหลังน้ำลดเพื่อให้การจ่ายเงินช่วยเหลือถึงมือเกษตรกรโดยเร็วแต่ในส่วนของเกษตรกรที่ไม่ได้มีการขึ้นทะเบียนเกษตรกร กระทรวงเกษตรฯจะไม่มีการผ่อนผันให้เข้ารับการช่วยเหลือจากภาครัฐในครั้งนื้ได้
2. การให้ความช่วยเหลือในมาตรการด้านการเงินให้แก่เกษตรกรโดยธนาคารกรุงไทย (KTB) และสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ อาทิธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสินธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ได้ให้ความช่วยเหลือในการลดดอกเบี้ยขยายระยะเวลาชำระคืนเงินต้น ผ่อนผันการพักชำระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยรวมถึงจำหน่ายลูกหนี้เป็นหนี้สูญกรณีเสียชีวิตจากอุทกภัยและให้เงินกู้ใหม่เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพในอัตราไม่เกินรายละ 1 แสนบาท
ด้านกรมอุตุนิยมวิทยาพยากรณ์อากาศประจำวันพฤหัสบดีที่ 7 เมษายน 2554 ลักษณะอากาศทั่วไปเมื่อเวลา 04:00 น. บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางปกคลุมด้านตะวันออกของภาคตะวันออกเฉียงเหนือและทะเลจีนใต้ ประกอบกับแนวพัดสอบของลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พาดผ่านประเทศไทยตอนบน ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานคร มีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงเกิดขึ้นได้ในระยะนี้
พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทยตั้งแต่เวลา 06:00 วันนี้ ถึง 06:00 วันพรุ่งนี้.
ภาคเหนือ อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองกระจายร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับลมกระโชกแรงบางแห่ง บริเวณจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน ลำปาง ตาก กำแพงพชร เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศา อุณหภูมิสูงสุด 35-37 องศา ลมใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม.
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 30 ของพื้นที่ กับลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากทางตอนล่างและตะวันตกของภาค อุณหภูมิต่ำสุด 21-24 องศา อุณหภูมิสูงสุด 35-36 องศา ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
ภาคกลาง อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดสระบุรี พระนครศรีอยุธยา กาญจนบุรี และราชบุรี อุณหภูมิต่ำสุด 23-25 องศา อุณหภูมิสูงสุด 35-36 องศา ลมใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
ภาคตะวันออก ทางตอนบนของภาค อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40 ของพื้นที่ กับมีลมกระโชกแรงบางแห่ง ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศา อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศา ลมใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันออก)มีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช อุณหภูมิต่ำสุด 24-25 องศา อุณหภูมิสูงสุด 32-33 องศา ลมตะวันออก ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร
ภาคใต้ (ฝั่งตะวันตก)มีฝนฟ้าคะนองกระจาย ร้อยละ 40 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต อุณหภูมิต่ำสุด 23-24 องศา อุณหภูมิสูงสุด 32-35 องศา ลมแปรปรวน ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร
กรุงเทพมหานครและปริมณฑล อากาศร้อนกับมีฟ้าหลัวในตอนกลางวัน โดยมีฝนฟ้าคะนองเป็นแห่งๆ ร้อยละ 30 ของพื้นที่ กับลมกระโชกบางแห่ง อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศา อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศา ลมใต้ ความเร็ว 10-30 กม./ชม.
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1368 ครั้ง