วันที่ 7 เมษายน ศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ร่วมกับ สมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง ดัชนีความรู้สึกผู้บริโภคประจำไตรมาส 1/2554 (ABAC Consumer Index: ACI) กรณีศึกษาตัวอย่างผู้บริโภคระดับครัวเรือน อายุ 15 – 60 ปี ใน 12 จังหวัดของประเทศ
ดร.อุดม หงส์ชาติกุล ผู้อำนวยการโครงการ ABAC Consumer Index บัณฑิตวิทยาลัยบริหารธุรกิจ และนายกสมาคมศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยอัสสัมชัญร่วมกับ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบค นวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ (Social Innovation Management and Business Analysis, ABAC – SIMBA) โดยการสนับสนุนของธนาคารกรุงศรีฯ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ โครงการดัชนีความรู้สึกผู้บริโภคประจำไตรมาสที่ 1/2554 (ABAC Consumer Index: ACSI) กรณีศึกษาตัวอย่างผู้บริโภคระดับครัวเรือน อายุ 15-60 ปี จำนวน 2,453 ตัวอย่าง จาก 12 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี ชลบุรี นครราชสีมา อุดรธานี กาฬสินธุ์ เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ ภูเก็ต และสงขลา ดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 25 มีนาคม – 6 เมษายน 2554 ที่ผ่านมา
ผลสำรวจความรู้สึกของผู้บริโภคต่อสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผลสำรวจไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา กับไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่า จำนวนของผู้บริโภคที่รู้สึกว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบัน “แย่ลง” มีสัดส่วนเพิ่มสูงขึ้นจาก ร้อยละ 58.8 ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 เป็นร้อยละ 70.8 ในไตรมาสแรกของปี 2554 เมื่อถามถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า จำนวนผู้บริโภคที่ระบุว่า “แย่ลง” มีสัดส่วนมากขึ้นเช่นกัน จากร้อยละ 41.6 ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่ผ่านมา เป็นร้อยละ 61.1 ในไตรมาสแรกของปีนี้ ในขณะที่ จำนวนคนที่บอกว่า “ดีขึ้น” มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 20.4 มาอยู่ที่ร้อยละ 9.4 เท่านั้น
ผลสำรวจยังพบด้วยว่า รายได้ปัจจุบันของผู้บริโภคที่ระบุว่า “แย่ลง” มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 49.8 ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว เป็นร้อยละ 54.1 ในไตรมาสแรกของปีนี้ ในขณะที่ คนที่บอกว่ารายได้ปัจจุบัน “ดีขึ้น” มีสัดส่วนลดลงจากร้อยละ 8.3 มาอยู่ที่ร้อยละ 5.9 นอกจากนี้ ผู้บริโภคที่ระบุว่า รายได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะ “ดีขึ้น” มีสัดส่วนลดลงเช่นกัน จากร้อยละ 18.8 มาอยู่ที่ร้อยละ 10.6 ในไตรมาสแรกของปีนี้ ในขณะที่ผู้บริโภคที่ระบุว่ารายได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้าจะ “แย่ลง” มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 32.6 มาอยู่ที่ร้อยละ 44.8
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อถามถึงโอกาสที่จะหางานทำในปัจจุบัน พบว่า ส่วนใหญ่ของผู้บริโภคที่ถูกศึกษาคือร้อยละ 67.4 ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว และร้อยละ 68.6 ในไตรมาสแรกของปีนี้ระบุ “หางานได้ยากขึ้น” และเมื่อถามถึงโอกาสหางานทำในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ผู้บริโภคที่ระบุว่า “ยากขึ้น” มีจำนวนเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 62.7 ในไตรมาสสุดท้ายของปีที่แล้ว เป็นร้อยละ 66.9 ในไตรมาสแรกของปีนี้
เมื่อถามถึง ราคาสินค้าอุปโภค บริโภคในอีก 3 เดือนข้างหน้า พบว่า ผู้บริโภคที่คาดว่า ราคาจะสูงขึ้น มีจำนวนเพิ่มจากร้อยละ 78.6 ในไตรมาสสุดท้ายของปีทีแล้ว มาอยู่ที่ร้อยละ 87.3 ในไตรมาสแรกของปีนี้
อย่างไรก็ตาม เมื่อจำแนกระดับรายได้ของผู้บริโภค พบว่า คนที่มีรายได้สูงขึ้นจะระบุว่ารายได้ปัจจุบันของตนเอง “ดีขึ้น” ตามไปด้วย โดยพบว่า คนที่มีรายได้มากกว่า 75,000 บาทต่อเดือนร้อยละ 21.4 ระบุว่ารายได้ดีขึ้น ในทิศทางที่ตรงกันข้าม กลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 56.0 ระบุรายได้แย่ลง มีเพียง ร้อยละ 5.1 ของผู้มีรายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือนเท่านั้นที่ระบุว่า รายได้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา
เมื่อจำแนกตามอาชีพ พบว่า กลุ่มอาชีพ 5 อันดับแรกที่ระบุว่ารายได้ปัจจุบัน “แย่ลง” มากที่สุดหรือร้อยละ 59.7 ได้แก่ กลุ่มอาชีพรับจ้างใช้แรงงานทั่วไป รองลงมาคือ ร้อยละ 59.1 ได้แก่กลุ่มอาชีพ ค้าขาย อันดับที่สามหรือร้อยละ 57.6 ได้แก่ กลุ่มคนว่างงาน อันดับที่สี่หรือร้อยละ 51.5 ได้แก่ ผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการ และอันดับที่ห้า ได้แก่ ร้อยละ 50.2 ได้แก่ เกษตรกร/ประมง ตามลำดับ แต่กลุ่มที่มีจำนวนคนที่ระบุว่ารายได้ “แย่ลง” น้อยกว่ากลุ่มอาชีพอื่นๆ ได้แก่ กลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ร้อยละ 43.2 และกลุ่มพนักงานบริษัทเอกชน ร้อยละ 34.7 ตามลำดับ
ผอ.เอแบคโพลล์ กล่าวว่า เห็นได้ชัดเจนว่า คนที่มีรายได้สูงจะมีความรู้สึกว่าเศรษฐกิจ “ดีขึ้น” และรายได้ของตนเอง “ดีขึ้น” ตามไปด้วย มากกว่า กลุ่มผู้บริโภคที่มีรายได้น้อย ที่ส่วนใหญ่ยังคงรู้สึกว่าเศรษฐกิจ “แย่ลง” และรายได้ของตนเอง “แย่ลง” สะท้อนให้เห็นช่องว่างระหว่างคนที่มีรายได้มาก กับผู้มีรายได้น้อยอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อส่วนใหญ่ในทุกกลุ่มระบุว่าราคาสินค้าจะสูงขึ้นอีก ย่อมสะท้อนให้เห็นถึงความเดือดร้อนของประชาชนผู้มีรายได้น้อยว่าจะรับภาระค่าใช้จ่ายที่หนักหน่วงกว่ากลุ่มคนที่มีรายได้สูง ข้อเสนอแนะในเวลานี้คือ หลักการใช้ชีวิตตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้บริโภคให้ผ่อนหนักเป็นเบาและลดกลุ่มคนที่ตกเป็นเหยื่อของการพัฒนาด้านวัตถุนิยมแบบสุดโต่ง
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ร้อยละ 62.6 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 37.4 เป็นเพศชาย ทั้งนี้เมื่อพิจารณาจำแนกตามช่วงอายุพบว่า ร้อยละ 13.0 ระบุอายุ 18-24 ปี ร้อยละ 27.4 อายุ 25-35 ปี ร้อยละ 27.1อายุ 36-45 ปี ร้อยละ 32.5 ระบุอายุ 46-60 ปี ตัวอย่างร้อยละ 78.7 ระบุสำเร็จการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีร้อยละ 20.4 ระบุสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี และร้อยละ 0.9 ระบุสำเร็จการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรี
ทั้งนี้เมื่อพิจารณาอาชีพประจำที่ทำอยู่ในปัจจุบันพบว่า ร้อยละ 38.6 ระบุอาชีพค้าขายอิสระ/ส่วนตัว ร้อยละ 16.0 ระบุรับจ้างทั่วไป/ใช้แรงงาน ร้อยละ 9.2 ระบุเป็นแม่บ้าน/พ่อบ้าน/เกษียณอายุ ร้อยละ 8.5 ระบุอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 7.9 ระบุเป็นพนักงานบริษัท ร้อยละ 5.2 ระบุเป็นผู้ประกอบการ/เจ้าของกิจการ ร้อยละ 4.6 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 3.6 ข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 2.9 ระบุเป็นลูกจ้างโรงงาน/สถานประกอบการ ร้อยละ 2.4 ระบุว่างงาน ร้อยละ 1.0 ระบุเป็นทหาร/ตำรวจ และร้อยละ 0.1 ระบุอื่นๆ ทั้งนี้เมื่อพิจารณารายได้ส่วนตัวต่อเดือนพบว่าร้อยละ 74.2 ระบุรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน ในขณะที่ร้อยละ 25.8 ระบุรายได้มากกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ตามลำดับ
ผลสำรวจทั้งหมดนี้สามารถดึงข้อมูลได้ฟรีทั้งหมดที่ http://www.abacpolldata.au.edu/
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1146 ครั้ง