การเงินญี่ปุ่นยังคงมีเสถียรภาพ
โดยนายเสี่ยว กัง (Xiao Gang)
รูปภาพ : นายเสี่ยว กัง ประธานกรรมการธนาคาร Bank of China
ที่มา : China Daily
ภัยพิบัติหลายระลอกที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นก่อให้เกิดความปั่นป่วนแค่ชั่วคราวเท่านั้นแต่จะไม่สั่นคลอนระบบการเงินและความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจญี่ป่น
แผ่นดินไหวครั้งร้ายแรงของญี่ปุ่นได้ก่อให้เกิดสึนามิขนาดรุนแรงและการรั่วไหลของสารกัมมันตรังสี ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างหนักต่อประเทศญี่ปุ่นและประชาชนโดยทั่วกัน การเกิดภัยพิบัติถึง 3 อย่างในคราวเดียวกันยังได้ส่งผลให้ราคาหุ้นทั่วโลกร่วงลงอย่างหนัก ธนาคารญี่ปุ่นคือหนึ่งในบรรดาบริษัทที่ราคาหุ้นร่วงลงหนักที่สุด
โดยธรรมชาติแล้ว นักลงทุนมักจะกังวลมากว่า ผลกระทบเชิงลบที่มีต่ออุตสาหกรรมธนาคารนั้นจะมากมายและยาวนานแค่ไหน จากข้อสังเกตของผม ภัยพบัติที่ญี่ปุ่นในคราวนี้ไม่น่าที่จะนำมาซึ่งการสั่นคลอนทางการเงินรอบใหม่
ญี่ปุ่นคือศูนย์กลางการค้าเงินตราต่างประเทศใหญ่อันดับที่ 3 ของโลกด้วยมูลค่าการซื้อขายโดยเฉลี่ยต่อวันกว่า 312,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ธนาคารสหรัฐฯและยุโรปจำนวนมากที่ดำเนินงานในญี่ปุ่นต่างอพยพพนักงานของตัวเองและโยกธุรกิจการซื้อขายเงินตราต่างประเทศไปยังฮ่องกงหรือสิงคโปร์หลังจากเกิดเหตุแผ่นดินไหวและสึนามิ
ตรงกันข้ามกับธนาคารของชาติตะวันตก ธนาคารแบงก์ออฟไชน่า (Bank of China) สาขาโตเกียวโดยการร้องขอจากหน่วยงานกำกับดูแลภาคการเงินของญี่ปุ่น ไม่ได้หยุดการทำธุรกิจในญี่ปุ่นในช่วงที่ต้องเผชิญกับอาฟเตอร์ช็อคหลายระลอกและความหวาดกลัวต่อภัยจากสารกัมมันตรังสี เนื่องจากปริมาณธุรกรรมด้านการธนาคารได้พุ่งขึ้นอย่างมากและทันทีทันใดในภาวะฉุกเฉินนี้ พนักงานของเราซึ่งรวมถึงชาวญี่ปุ่นเองและพนักงานจากจีนแผ่นดินใหญ่เอง ต้องทำงานนานกว่าเดิมหลายชั่วโมง บ่อยครั้งที่ต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงฝ่าการจราจารบนท้องถนนเพื่อมาถึงสำนักงานในทุกๆวัน ในช่วงวันหยุดเสาร์อาทิตย์พนักงานของเรายังต้องไปเยี่ยมลูกค้าธุรกิจเพื่อให้บริการทางการเงินแก่ลูกค้าของเราอย่างต่อเนื่อง
พฤติกรรมของพนักงานของธนาคารแบงก์ออฟไชน่าของเราไม่เพียงแต่แสดงให้เห็นถึงจริยธรรมในการทำงานและจิตวิญญาณของการเป็นทีมที่ดีเท่านั้น แต่มันยังแสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นอันแรงกล้าของพวกเขาที่มีต่อเศรษฐกิจและระบบการเงินญี่ปุ่น
มันดูเหมือนว่า แรงกระแทกชั่วคราวที่มีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นนี้แม้ว่าจะมีตัวเลขคาดการณ์จากหลายสำนักถึงการหดตัวลงของ GDP ญี่ปุ่น จะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงปัจจัยพื้นฐานของการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโต 3.9% ในปีที่แล้วซึ่งถือเป็นการเติบโตที่ดีที่สุดในรอบกว่า 2 ทศวรรษ ความจำเป็นในการบูรณะพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจะสร้างโอกาสมหาศาลในการพัฒนาเพิ่มเติม แม้แต่การดึงเงินทุนจากต่างประเทศซึ่งรวมถึง กองทุน Private Equity, เงินกู้จากธนาคารในต่างประเทศ และกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ เข้ามายังประเทศญี่ปุ่น
โดยพื้นฐานแล้ว วิสาหกิจญี่ปุ่นยังคงมีฐานะทางการเงินที่มีเสถียรภาพมาก และมีศักยภาพสูงในการดำเนินการพัฒนาและคิดค้นนวัตกรรมในหลายๆสาขาต่อไปได้ ที่เด่นชัดที่สุดคือ ญี่ปุ่นเป็นที่รู้จักดีในฐานะผู้เล่นสำคัญในเทคโนโลยีใหม่ๆในด้านการอนุรักษ์พลังงานเช่นเดียวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ดังนั้นในช่วงของการบูรณะในญี่ปุ่นจะเน้นหนักไปที่ “การฟื้นฟูแบบสีเขียว” (Green Recovery) และโครงสร้างพื้นฐานที่สร้างขึ้นมาใหม่ควรจะมีความล้ำหน้า ชาญฉลาด และประหยัดพลังงานกว่าเดิม
ในแง่ของความเสี่ยงของโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของญี่ปุ่นทั่วโลกนั้น โรงงานของญี่ปุ่นจำนวนมากยังคงปิดอยู่ แต่นี่จะเป็นเพียงแค่ความปั่นป่วนในระยะสั้นที่อาจยาวนานเป็นเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนเท่านั้น (เนื่องจากการตัดลดการผลิตไฟฟ้าและภาวะคอขวดในระบบรางรถไฟและท่าเรือ) ไม่ใช่ความสูญเสียแบบถาวรที่มีต่อโครงสร้างพื้นฐานทางการผลิต ผลกระทบนี้จะถุกบรรเทาลงดดยการค่อยๆฟื้นกลับมาของการดำเนินการผลิต นอกจากนั้นแล้วบริษัทญีปุ่นหลายๆแห่งมีกำลังการผลิตที่ล้นเกินเหลืออยู่ในระบบโซ่อุปทานของตัวเองอีกมาก ดังนั้นบริษัทเหล่านี้จึงสามารถโยกการผลิตไปยังจุดอื่นและชดเชยการปิดตัวลงในญี่ปุ่นได้
อุตสาหกรรมธนาคารญี่ปุ่นซึ่งยังคงกำลังฟื้นตัวจากวิกฤตการเงินโลกจะรับรู้ถึงกำไรที่ลดลงหลังจากภัยพิบัติ 3 ระลอกครั้งนี้หากว่าธนาคารในญี่ปุ่นมีการตั้งสำรองการด้อยค่าของสินเชื่อ (Loan Impairments) เพิ่มขึ้น แม้กระนั้นอุตสาหกรรมธนาคารของญี่ปุ่นก็ยังคงมีความมั่นคงและมีเสถียรภาพอยู่
ต่างจากประเทศในเอเชียและภูมิภาคอื่นๆ ธนาคารญี่ปุ่นไม่ได้มีการปล่อยสินเชื่อเกินตัวอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตการเงินโลก และในทางกลับกันธนาคารญี่ปุ่นกลับมีการลดลงของอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้นแล้ว จากข้อมูลของธนาคารเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ (Bank for International Settlements) ธนาคารในญี่ปุ่นมีสิทธิเรียกร้องหรือสินทรัพย์ในต่างประเทศ (External Claims) รวมกันถึง 2.71 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นเดือนกันยายนปีที่แล้ว ในอีกแง่หนึ่ง บรรดาธนาคารญี่ปุ่นอยู่ในฐานะที่ได้เปรียบที่จะขายสินทรัพย์ในต่างประเทศเพื่อเพิ่มเงินสดหากจำเป็น เมื่อคำนึงว่า ภาคการธนาคารระหว่างประเทศมีส่วนเปิดความเสี่ยงต่อระบบธนาคารญี่ปุ่นไม่มาก จึงมีแนวโน้มว่าผลกระทบเชิงลบที่มีต่อระบบธนาคารระหว่างประเทศจะมีอยู่อย่างจำกัดด้วย
โดยปกติแล้ว นักวิเคราะห์ตลาดจำนวนมากมักมีประวัติที่แย่ในการวิเคราะห์ผลกระทบทางเศรษฐกิจและการเงินของเหตุการณ์ในลักษณะช็อคหรือภัยพิบัติต่างๆ ซึ่งนำไปสู่การตอบสนองเกินปกติ (Overreactions) ในตลาดหุ้นและตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ครั้งนี้ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้น ด้วยราคาหุ้นในญี่ปุ่นดิ่งลงอย่างมากไปอยู่ในระดับที่มูลค่าต่ำมาก นี่จึงเป็นโอกาสในการซื้ออย่างไม่ต้องสงสัยสำหรับนักลงทุนที่มองหามูลค่า
สำหรับตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศ ธนาคารกลางของกลุ่ม G7 ได้ดำเนินมาตรการการแทรกแซงตลาดร่วมกันเพื่อช่วยญี่ปุ่นยับยั้งการแข็งค่าของเงินเยน ผลลัพธ์ทีได้คือตลาดเริ่มนิ่งมากขึ้นและนักลงทุนตอนนี้สามารถกลับไปทำการลงทุนแบบ “Carry Trades” ซึ่งหมายถึงการซื้อสินทรัพย์ที่เสี่ยงกว่าและให้ผลตอบแทนสูงกว่า (เช่น หุ้น โภคภัณฑ์ หรืออสังหาริมทรัพย์) ผ่านการขายเงินเยนซึ่งมีต้นทุนทางการเงินต่ำกว่าเพื่อไปซื้อสินทรัพย์นั้นๆ เงินเยนที่อ่อนค่าลงสามารถช่วยให้ญี่ปุ่นฟื้นตัวได้เร็วขึ้น
ในความเป็นจริง หนี้สาธารณะมวลรวมของญี่ปุ่นอยู่ที่ราว 2 เท่าของ GDP ญี่ปุ่น และการใช้จ่ายภาครัฐเพิ่มเติมเป็นสิ่งจำเป็นในการฟื้นฟูบูรณะ สิ่งนี้ได้สร้างความกังวลอย่างมากว่า ฟองสบู่ขนาดใหญ่ในตลาดพันธบัตรอาจแตกตัวลงมาได้ แม้กระนั้น เมื่อพิจารณาอัตราการออมซึ่งสูงมากในญี่ปุ่นควบคู่ไปกับความจริงที่ว่า ธนาคารและบริษัทประกันถือครองพันธบัตรกว่า 95% ในประเทศ ความเสี่ยงจึงควรที่จะบริหารจัดการได้
อุตสาหกรรมประกันญี่ปุ่นเผชิญความเสียหายสูงไม่น้อยแม้ว่าจะยังไม่มีตัวเลขรายละเอียดเปิดเผยออกมาในขณะนี้ ความเสียหายที่เกิดกับบริษัทประกันที่ไม่ใช่กลุ่มประกันชีวิต (Non-life insurers) คาดว่าจะสูงกว่าความเสียหายที่เกิดกับกลุ่มบริษัทประกันชีวิต (Life insurers) แต่ก็มีความเป็นไปได้น้อยมากว่า บริษัทประกันเหล่านั้นจะเผชิญภาวะล้มละลาย เนื่องจากบริษัทเหล่านี้มีการกระจายความเสี่ยงไปทั่วโลกผ่านธุรกิจรับการประกันต่อ (Re-insuring) และรัฐบาลญีปุ่นต้องเข้าไปโอบอุ้มบรรดาบริษัทประกันด้วย
โศกนาฏกรรมครั้งนี้ได้ฉายให้เห็นถึงเส้นทางของกลยุทธ์การเติบโตใหม่ของญี่ปุ่นในอีก 20 ปีข้างหน้า ซึ่งได้รับการอนุมัติเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้วและมีกำหนดการที่จะบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายนนี้เป็นต้นไป อย่างไรก็ตามความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะช่วยให้ญี่ปุ่นสามารถก้าวผ่านความยากลำบากที่เกิดขึ้นนี้ไปได้
จากมุมมองของจีน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าเหตุภัยพิบัติครั้งนี้จะช่วยสร้างโอกาสใหม่มากมายสำหรับทั้ง 2 ประเทศในการขยายความร่วมมือในสถานการณ์ที่ได้ประโยชน์ทั้ง 2 ฝ่าย (Win-win situation)
ตอนนี้ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตื่นตระหนกถึงการล่มสลายทางการเงินในญี่ปุ่น ระบบการเงินญี่ปุ่นจะยังคงสามารถเล่นบทบาทสำคัญในการเติบโตของญี่ปุ่นได้อย่างแน่นอน
ผู้เขียนคือ ประธานกรรมการของธนาคารแบงก์ออฟไชน่า
ที่มา หนังสือพิมพ์ China Daily
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday