ส่วนหนึ่งของเด็กกำพร้า
ไพศาล พรหมยงค์ เป็นลูกชายอดีตจุฬาราชมนตรี แช่ม พรหมยงค์ เป็นมุสลิมที่มีบทบาทสูงคนหนึ่ง ในแวดวงศาสนาเขาเป็นประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสมุทรปราการ เคยเป็นรองเลขาธิการคณะกรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้รับการยอมจากจากนายอานันท์ ปันยารชุน แต่งตั้งเป็นกรรมการสมานฉันท์(กอฉ.) ในรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เพื่อศึกษาปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่ในวันนี้ เขาต้องรับบทบาทเป็นพ่อลูก 40 คน
“ตอนผมเป็นกรรมการกลางอิสลามฯ ได้ทำงานช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่ประสบภัยสึนามิ ที่กระบี่ พังงา ภูเก็ต ได้พบเห็นเด็กๆที่ต้องสูญเสียพ่อแม่ และตอนเป็นกอฉ. ได้ลงไปศึกษาปัญหาใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้พบเห็น ปัญหาเด็กกำพร้าที่พ่อแม่เสียชีวิตจากเหตุการณความรุนแรง จึงเห็นว่า เราน่าจะทำได้ในการนำเด็กกำพร้ามาให้การศึกษา เพราะมีมูลนิธิอัลเกาษัร อยู่แล้ว” นายไพศาล พรมยงค์ ประธานมูลนิธิอัลเกาษัร กล่าวถึงที่มาของการเป็นพ่อ ของลูก 40 คน ร่วมกับภรรยา นฤมล พรหมยงค์
มูลนิธิอัลเกาษัร ตั้งอยู่ที่อำเภอพระประแอดง จังหวัดสมุทรปราการ แต่เดิมมีบทบาทในการจัดกิจกรรมคล้ายๆกับมูลนิธิของมุสลิมทั่วๆไป คือ อบรมให้ความรู้ด้านศาสนาแก่เยาวชน มุสลิมทั่วไปและมุสลิมใหม่(มูอัลลัพ) ช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยต่างๆ ก่อนจะมารับเลี้ยงเด็กกำพร้าอย่างเป็นรูปธรรม
“เด็กที่มูลนิธิฯจะรับมาเลี้ยงได้มีการสกรีนแล้วว่า มีปัญหาและเป็นเด็กที่สนใจการเรียน เพราะเราดูแลทุกอย่าง ทั้งการเป็นอยู่ ดูแลตั้งแต่ผ้าอนามัย จนถึงเสื้อผ้าต่างๆ ดูแลเรื่องอาหารการกิน การศึกษาและสนับสนุนให้เด็กทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ ด้านการศึกษาจะให้เขาศึกษาทั้งด้านศาสนา ซึ่งมูลนิธิ จัดครูมาสอน สายสามัญ ถ้าเป็นเด็กประถามศึกษาจะให้เรียนของโรงเรียนกทม. ในระดับมัธยมจะให้เรียนที่อิสลามวิทยาลัย ทุ่งครุ ของเราจึงไม่เหมือนที่อื่นที่เฉพาะให้ทุนการศึกษา แต่ของเราดูแลทั้งหมด และหวังผลจากการดูแลนี้ด้วย”
การหวังผลของนายไพศาล ก็คือ เมื่อเด็กจบการศึกษาในระดับที่ต้องการแล้ว ซึ่งอย่างน้อยปริญญาตรี หรือสูงกว่านั้น ก็จะได้นำความรู้ไปพัฒนาท้องถิ่น นำแนวคิดจากการศึกษาไปปรับเปลี่ยนผู้คนในพื้นที่ของเขาได้
“ผมมองว่า หากเราลงไปให้ความรู้หรือปรับเปลี่ยน ชาวบ้านคงยากที่จะรับฟังแต่หากลูกหลานของเขาเข้าไปเปลี่ยนแปลง จะได้ผลกว่า” นายไพศาล กล่าว
ไพศาล พรหมยงค์
“เด็กที่จะมาอยู่กับเรารับอายุ 6 ปีขึ้นไปแล้ว เพื่อจะได้ไม่มีปัญหามาก และรับเฉพาะเด็กผู้หญิง เพราะไม่มีปัญหามากเหมือนเด็กผู้ชาย จะมีปัญหาเฉพาะเรื่องมีแฟนแค่นั้น ไม่มีเรื่องยาเสพติด เรื่องอื่นๆ ซึ่งตอนนี้มีหลายระดับอายุ เด็กทุกคนตั้งใจเรียนและมีผลการเรียนดี ซึ่งการดูแลของเรา จะดูแลด้านจิตใจด้วย เพราะรู้ว่า เด็กมาอยู่กับเรามีจะกินดีอยู่ดี แต่ก็คงไม่อบอุ่นเหมือนได้อยู่กับครอบครัว ก็พยายามให้เขามีความสุขมากที่สุด อย่างตอนปิดเทอมก็จะพาไปเที่ยวสวนสนุก อาทิ สวนสยาม สวนนงนุช ซึ่งเราขอไป เมื่อเห็นเป็นเด็กกำพร้าเขาก็ให้ไปเที่ยว”
ปัจจุบัน มูลนิธิกัลเกาษัร ได้รับเด็กกำพร้าซึ่งทั้งหมดเป็นผู้หญิง มาเลี้ยงดู 40 คน ซึ่งในปี 2554 มูลนิธิตั้งเป้าจะรับเด็กเข้ามาอีก 40 คน แต่ไม่สามารถรับภาระได้ เพราะต้องใช้จ่ายเงินปีละประมาณ 2 ล้าน 5 แสนบาท
กับเงินปีละ 2.5 ล้านบาท นายไพศาล กล่าวว่า มาจากการจัดงานประจำปี ซึ่งจัดไปล่าสุด เมื่อวันที่ 10 เมษายน จะได้เงินประมาณล้านกว่าบาท ที่เหลือมาจากเงินบริจาคเพิ่มเติมจากองค์กรต่างๆ และมาจากการขายของ ซึ่งภรรยา คุณนฤมล จะเป็นหัวเรี่ยวหัวแรง อาทิ ในเดือนรอมฎอน เราก็จะขายผลอินทผาลัม ในวันอีด ก็จะขายวัวสำหรับทำกุรบ่าน ซึ่งแต่ละปีจะได้ประมาณ 50-60 ตัว ได้เงินมา 2-3 แสนบาท ภรรยาจะวิ่งขายเป็นส่วนใหญ่
“กับหน่วยงานราชการก็ไม่มีหน่วยงานไหนเข้ามาช่วยเหลือเทาไหร่ เคยมีคุณสมัย เจริญช่าง นำคณะกรรมาธิการสวัสดิการสังคม มาเลี้ยงข้าวเด็ก และรับปาก แต่ก็หายไป หน่วยงานราชการ ส่วนใหญ่เป็นพวกสร้างภาพมากกว่าที่จะทำจริงๆจังๆ แต่ อาจเป็นเพราะของเราอาจจะยังใหม่ เพียง 2-3 ปี ใช้เวลาอีกหน่อยก็น่าจะได้รับการยอมรับเพิ่มขึ้น” พ่อลูก 40 คน กล่าว
“สิ่งที่เราทำก็เพื่อให้เด็กได้พัฒนาตัวเอง เพราะหากปล่อยให้เขาอยู่ในสภาพที่ไม่มีใครดูแล ก็ยากที่จะพัฒนาตัวเองได้ ไม่ต้องหวังว่า เขาจะพัฒนาสังคมของเขาได้” นายไพศาล กล่าวทิ้งท้าย
สนใจบริจาคเงินเข้ามูลนิธิกัลเกาษัร บริจาคได้ที่ บัญชี มูลนิธิกัลป์เกาษัร ธนาคารทหารไทย สาขาย่อยบางครุ บัญชีออมทรัพย์ เลขที่ 140-209152-2 หรือธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย สาขาทุ่งครุ บัญชีกระแสรายวัน เลขที่ 002-600063-6
ไพศาล พรหมยงค์ (กลาง) กับพล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน หัวหน้าพรรคมาตุภูมิ ในวันจัดงาน และภักดี มะแอ
ไพศาล พรหมยงค์ (กลาง)กับภรรยา นฤมล ผู้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการดูแลเด้กกำพร้า และภักดี มะแอ (ขวา)
บรรยากาศบนเวที บรรดาผู้ปกครองที่เดินทางมารับบุตรหลานกลับบ้านชมด้วยความสนใจ
บรรยายกาศการเปิดร้านขายของในงาน
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 4445 ครั้ง