รูปภาพ : อาคารของธนาคารประชาชนจีนหรือ People’s Bank of China (PBOC) ซึ่งเป็นธนาคารกลางของจีน ปัจจุบันวงการการเงินจีนกำลังส่งเสียงเรียกร้องให้มีการลดขนาดทุนสำรองหลังจากที่จีนมีทุนสำรองพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ทะลุ 3 ล้านล้านดอลลาร์ท่ามกลางความเสี่ยงของเงินดอลลาร์ที่ร่วงหนักต่อเนื่อง
ที่มา : Bloomberg
จีนควรลดขนาดทุนสำรองเงินตราต่างประเทศซึ่งมีมากเกินจำเป็นและกระจายการถือครองทุนสำรองให้มากกว่านี้ นายถัง ซวงหนิง (Tang Shuangning) ประธานคณะกรรมการของกลุ่มธนาคารไชน่า อีเวอร์ไบรท์ กรุ๊ป (China Everbright Group) กล่าวเมื่อวันเสาร์ที่ 23 เมษายน 2011 ที่ผ่านมา
ปริมาณทุนสำรองเงินตราต่างประเทศควรควบคุมให้อยู่ระหว่าง 0.8-1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นายถังกล่าวในที่ประชุมในนครปักกิ่ง กล่าวว่าปริมาณทุนสำรองในปัจจุบันนั้นสูงเกินไป
ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีนเพิ่มขึ้นกว่า 197,400 ล้านดอลลาร์ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้มาอยู่ที่ 3.04 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2011
คำกล่าวของนายถังสะท้อนถึงจุดยืนของนายโจว เสี่ยวชวน ผู้ว่าการธนาคารกลางของจีนซึ่งได้กล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 18 เมษายนที่ผ่านมาว่า ทุนสำรองเงินตราต่างประเทศของจีน “เกินความต้องการที่สมเหตุสมผลของเรา” และรัฐบาลควรยกระดับและกระจายการบริหารจัดการทุนสำรองนี้โดยใช้ประโยชน์จากทุนสำรองส่วนเกิน
ขณะเดียวกัน นายเซี่ย ปิน (Xia Bin) สมาชิกของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางจีนกล่าวเมื่ออังคารที่ 19 เมษายนว่า ทุนสำรองจำนวน 1 ล้านล้านดอลลาร์ถือว่าเพียงพอแล้ว เขาเสริมอีกว่า จีนควรลงทุนทุนสำรองอย่างมียุทธศาสตร์มากกว่านี้ โดยใช้ทุนสำรองที่มีเพื่อซื้อหาทรัพยากรและเทคโนโลยีที่จำเป็นต่อภาคเศรษฐกิจจริง
นายถังยังกล่าวอีกด้วยว่า จีนควรกระจายการถือครองทุนสำรองให้มากกว่านี้ เขาได้เสนอแนะ 5 แนวทางในการใช้ประโยชน์จากทุนสำรองอันได้แก่ การเพิ่มทุนให้กับรัฐวิสาหกิจจีนในภาคธุรกิจและบริษัทสำคัญๆต่างๆ, การซื้อหาทรัพยากรยุทธศษสตร์, การขยายการลงทุนในต่างประเทศ, การออกพันธบัตรต่างประเทศ และการปรับปรุงระบบสวัสดิการของประเทศในสาขาต่างๆเช่น การศึกษา และ สุขภาพ
อย่างไรก็ตาม ยุทธศาสตร์เหล่านี้สามารถทำได้เพียงการรักษาอาการได้เท่านั้นแต่ไม่สามารถรักษาสาเหตุที่เป็นต้นตอได้ นายถังกล่าว โดยเน้นว่า กุญแจสำคัญก็คือ การปฏิรูปกลไกการสะสมและบริหารทุนสำรอง
ที่มา สำนักข่าวซินหัว
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday