รูปภาพ : นาย Ali Babacan รองนายกรัฐมนตรีตุรกี
ที่มา : Bloomberg
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลตุรกีกล่าวเมื่อวันศุกร์ที่ 29 เมษายน 2011 ที่ผ่านมาว่า ตุรกีกำลังอยู่ในเส้นทางของการเป็น 1 ใน 10 ศูนย์กลางการเงินชั้นนำของโลกภายในปี 2023
นายอาลี บาบาคัน (Ali Babacan) รัฐมนตรีแห่งรัฐ (State Minister) และ รองนายกรัฐมนตรีของตุรกีกล่าวในที่ประชุม “ศูนย์กลางการเงินอิสตันบูล” (“Financial Center Istanbul” conference) ว่า การประกาศของรัฐบาลในการดันอิสตันบูลเป็นศูนย์กลางการเงินนั้นสามารถย้อนหลังไปได้ถึงเดือนกันยายน 2009
ทุกๆอย่างได้ดำเนินมาตามแผนงานที่วางเอาไว้และยังมีเวลาเหลืออีก 5 ปีก่อนที่แผนการปฏิบัติจริงจะสมบูรณ์ เขากล่าว
ในบรรดาแผนการปฏิบัติจริงทั้ง 71 แผนที่เสนอนับแต่นั้นมา 9 แผนได้ดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้วและพัฒนาการสำคัญกำลังดำเนินอยู่ในอีก 13 แผน เขากล่าวเสริม
นอกเหนือจากที่การเป็นเมืองที่ใหญ่ที่สุดและเป็นอดีตเมืองหลวงของประเทศตุรกีแล้ว นครอิสตันบูลยังคงมีบทยาทในด้านของการเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจของตุรกีเนื่องจากมีตำแหน่งที่ตั้งที่เป็นทางผ่านของเส้นทางการค้าระหว่างประเทศทั้งทางบกและทางทะเล
นอกจากนั้นอิสตันบูลยังเป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรมของตุรกีด้วย โดยมีการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมของตุรกีนั้นอยู่ในอิสตันบูลถึง 20% และกว่า 38% ของพื้นที่งานในภาคอุตสาหกรรมของตุรกีก็อยู่ที่อิสตันบูลด้วย จากข้อมูลของนิตยสารฟอร์บส์ นครอิสตันบูลเป็นที่อยู่ของมหาเศรษฐีที่มีทรัพย์สินมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์มากกว่า 30 คน
“เมื่อคุณมองไปที่แผนที่จากเยอรมนีไปจนถึงเอเชียตะวันออก ศักยภาพของนครอิสตันบูลในการเป็นศูนย์กลางการเงินนั้นชัดเจน ที่นี่มีการชื่นชมในคุณค่าของอิสตันบูลอย่างมาก: ไม่มีนักลงทุนต่างประเทศคนใดที่มาตุรกีในรอบ 8 ปีครึ่งที่ผ่านมาต้องได้รับความเสียใจใดๆเลย” รองนายกฯตุรกีกล่าวเสริม
งานประชุมนี้จัดขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนจากสภาธุรกิจตุรกี-อเมริกันหรือ TAIK (Turkish-American Business Council) และสภาธุรกิจตุรกี-อังกฤษหรือ TIIK (Turkish-English Business Council) โดยงานนี้ได้มีผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินทั้งในตุรกีเองและจากต่างประเทศเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง
ด้านประธานของธนาคาร Akbank และ สภาธุรกิจตุรกีอังกฤษ นางซูคาน ซาบันซี ดินเซอร์ (Sucan Sabanci Dincer) กล่าวว่า สิ่งที่อิสตันบูลจะต้องทำเป็นอันดับแรกก็คือ การเป็นศูนย์กลางการเงินภูมิภาค จากนั้นจึงค่อยขยับไปสู่ศูนย์กลางการเงินโลก
เธอยังเสริมอีกว่า เนื่องจากการแข่งขันกันเป็นเมืองหลวงทางการเงินนั้นเข้มข้นมาก มันจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทั้งภาครัฐและเอกชนเช่นเดียวกับภาคประชาสังคมที่จะต้องทำงานร่วมกัน
ที่มา สำนักข่าวซินหัว
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday