ระวังเงินดอลลาร์ล้ม
โดย เบ๊นซ์ สุดตา
วันที่ 19 เมษายน 2011
วงการการเงินและเศรษฐกิจโลกเกิดอาการช็อคอย่างหนักเมื่อบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือStandard
& Poor’s หรือ S&P ออกมาประกาศปรับลดมุมมองต่อความน่าเชื่อถือหรือCredit Outlook ของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯจากระดับมีเสถียรภาพหรือStable มาเป็นลบหรือ Negative Outlook โดยข่าวนี้ได้สร้างความหวั่นไหวและสั่นสะเทือนระบบการเงินโลกไม่น้อยเพราะที่ผ่านมากองทุนการเงินขนาดใหญ่และธนาคารกลางทั่วโลกต่างขนเงินออมและทุนสำรองมหาศาลมาซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯก็เนื่องด้วยว่า
พันธบัตรสหรัฐฯมีความน่าเชื่อถือเป็น AAA ซึ่งเป็นอันดับที่สูงที่สุดไม่ว่าจะเป็นS&P, Moody’s หรือ Fitch ซึ่งนั่นมีความหมายว่า
รัฐบาลสหรัฐฯจะไม่มีวันผิดนัดชำระหนี้ (Default) หรือพูดเป็นภาษาชาวบ้านง่ายๆก็คือ
ไม่มีวันชักดาบเบี้ยวเงินนั่นเอง
ครั้งหนึ่งสหรัฐฯด้วยอำนาจในการควบคุมระบบการเงินโลกในทุกมิติรวมถึงบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ล้วนมีสำนักงานใหญ่อยู่ในสหรัฐฯทั้งสิ้น
และกลุ่มผลประโยชน์ทางการเงินต่างๆก็โยงใยกับอำนาจรัฐในทำเนียบขาวและสภาคองเกรสอย่างแนบแน่น
ดังนั้นอย่าแปลกใจหากจะพบว่าในช่วงที่ผ่านมาสหรัฐฯจะไม่เคยเสีย AAA เลยแม้ว่าประเทศนี้จะเป็นประเทศที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวมากที่สุดในโลกและมีปัญหาด้านเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจสูงที่สุดแห่งหนึ่งในโลกมากก็ตามทั้งๆที่ประเทศที่มีหนี้สินล้นพ้นตัวอื่นๆเช่น
กรีซ ไอร์แลนด์ โปรตุเกส กลับถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจนพันธบัตรรัฐบาลประเทศเขตเงินยูโรเหล่านี้แทบเป็นพันธบัตรขยะแบบเดียวกับที่ประเทศไทยก็เคยโดนบริษัทจัดอันดับเหล่านี้กระทำมาแล้วช่วงหลังวิกฤตการเงิน
1997 ก็ตาม
แม้ว่าสหรัฐฯจะยังคงรักษาสัญลักษณ์ AAA อันศักดิ์สิทธิ์ไว้ได้ก็ตามแต่สิ่งที่น่าสนกว่านั้นก็คือ S&P ก็มีการออกมาพูดส่งสัญญาณเป็นนัยที่น่าคิดว่า
การให้มุมมองเป็นลบในครั้งนี้หมายความว่า สหรัฐฯมีเวลา 2
ปีในการควบคุมปัญหาด้านการคลังให้เข้าร่องเข้ารอย
ขณะเดียวกันด้วยสถานการณ์ในปัจจุบันก็มีโอกาสราว 1 ใน 3 ที่ประเทศสหรัฐฯจะเสีย AAAภายในปี 2013 ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่าในทางการเงินแล้วพันธบัตรสหรัฐฯในเวลานั้นไม่ใช่สินทรัพย์ที่ปลอดภัยที่สุดในโลกอย่างที่เราเข้าใจกันและมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดการชักดาบได้
ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจริงๆตลาดการเงินโลกจะปั่นป่วนแบบเกิดบรรยายเลยทีเดียวเพราะหากสหรัฐฯมีการผิดนัดชำระหนี้แม้แต่งวดเดียวนั่นย่อมทำให้ผู้ที่ถือพันธบัตรทั่วโลกโดยเฉพาะธนาคารกลางของประเทศต่างๆมีปัญหาในการหมุนกระแสเงินทั้งในประเทศตัวเองและทั่วโลกด้วย
ดอกเบี้ยและเงินต้นจากพันธบัตรสหรัฐฯมีความสำคัญต่อการรักษาสมดุลในด้านนโยบายทางการเงินทั้งมาตรการแทรกแซงอัตราแลกเปลี่ยน
การกำหนดปริมาณเงิน และการบริหารกระแสเงินในการลงทุนทั่วโลก
การผิดนัดชำระหนี้แม้เพียงเสี้ยววินาทีย่อมเป็นการส่งสัญญาณถึงสิ่งที่เป็นจริงในสหรัฐฯและสิ่งที่ทั่วโลกคาดคิดว่าน่าจะเป็น
เมื่อความนึกคิดของเจ้าหนี้และความเป็นจริงของลูกหนี้เกิดอาการขัดกันหรือไม่สอดคล้องกันอย่างรุนแรง
นั่นย่อมหมายความว่าระบบทุนสำรอง ตลาดเงิน ตลาดทุน ระบบการค้า
และเศรษฐกิจทั้งโลกย่อมได้รับผลทางลบที่รุนแรงมากอย่างที่สุด
พันธบัตรสหรัฐฯจะถูกเทขายอย่างถล่มทะลายจากทั้งกองทุนภาคเอกชนและหน่วยงานรัฐบาลทั่วโลก
ความเสียหายอันเกิดจากการปั่นป่วนทางการเงินนี้มากมายเหลือคณานับ
แต่หากมองในมุมกลับแล้วในขณะที่สหรัฐฯมีหนี้สินล้นพ้นตัวขนาดนี้และยังสามารถดึงดูดเงินทั้งโลกมาสนับสนุนการใช้จ่ายในประเทศได้ขนาดนี้ก็นับว่าคุ้มแสนคุ้ม
และหากว่าในวันนั้นการชักดาบออกมานั้นผลประโยชน์จะตกอยู่ที่ใครในท้ายที่สุดซึ่งแน่นอน
ประเทศลูกหนี้อย่างสหรัฐฯหากคิดใช้วิธีนี้มาเพื่อล้างไพ่ล้มกระดานระบบการเงินโลกใหม่ทั้งหมดก็จะทำให้ตัวเองหมดพันธนาการทางการเงินซึ่งจริงๆแล้วไม่ได้ถูกล่ามแต่เป็นการลากให้ประเทศเจ้าหนี้ทั้งโลกมาติดกับดักทางการเงินมากกว่าเพราะนับวันดอกเบี้ยพันธบัตรก็ต่ำแสนต่ำสวนทางกับดอกเบี้ยของประเทศเจ้าหนี้ที่สูงขึ้นเพราะเจอเงินเฟ้อจากมาตรการQE ซึ่งย่อมส่งผลให้ประเทศเจ้าหนี้สหรัฐฯที่ถือครองสินทรัพย์ในรูปดอลลาร์มหาศาลต้องขาดทุนจากทั้งอัตราดอกเบี้ย
ขาดทุนราคา และค่าเงิน
ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นในสหรัฐฯนั้นก็ได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาเป็นวงกว้างในประชาคมการเงินโลกโดยเฉพาะในหมู่ประเทศเจ้าหนี้สหรัฐฯรายใหญ่
3 รายที่มีปฏิกิริยาแตกต่างกัน โดยในฟากของรัฐบาลญี่ปุ่นนั้นถึงกับออกมายืนยันว่า
พันธบัตรสหรัฐฯนั้นเป็นสินทรัพย์ที่ดีที่สุดสำหรับญี่ปุ่นและถึงกับออกหน้าแทนสหรัฐฯว่า
แม้จะเกิดเหตุการณ์ที่สหรัฐฯต้องเสีย AAAจริงๆในอนาคต
เงินดอลลาร์และพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯจะยังคงเป็นเสาหลักของระบบการเงินโลกต่อไป
ซึ่งท่าทีนี้ผิดกับทางฝั่งรัฐบาลจีนที่มีทุนสำรองและสถานการณ์เป็นเจ้าหนี้ที่ใหญ่กว่าญี่ปุ่นเหลือคณานับ
ด้วยทุนสำรองกว่า 3.04 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2011 โดยในวันเดียวกันนั้นที่ประเทศจีน
วันที่สหรัฐฯดดนปีบลดมุมมองความน่าเชื่อถือนั้น นายโจว
เสี่ยวชวนซึ่งดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารกลางของจีนก็ได้ถึงกับออกมาพูดเลยว่า
ประเทศจีนไม่มีความจำเป็นต้องมีทุนสำรองมากกว่านี้อีกต่อไปและสมควรลดปริมาณทุนสำรองลงด้วยซ้ำเพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจพังจากการทุนสำรองยังคงสูงต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากที่เงินทะลักประเทศมหาศาล
หรือพูดกันง่ายๆก็คือ ให้เทขายทุนสำรองทิ้งนั่นเองโดยหลังจากวันนั้นไม่นาน
บรรดาผู้เชี่ยวชาญและผู้มีอิทธิพลในแวดวงการเงินจีนก็ออกมเผยถึงตัวเลขที่ควรจะเป็นว่า
จีนควรมีทุนสำรองเพียง 0.8-1.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือพูดกันง่ายๆก็คือประมาณ 1
ล้านล้านดอลลาร์นั่นเอง ซึ่งนั่นย่อมหมายถึงจีนต้องเทขายทุนสำรองทิ้งถึง 2
ล้านล้านดอลลาร์ ขณะเดียวกันกระทรวงการต่างประเทศจีนก็ได้ย้ำถึงการให้สหรัฐฯมีความรับผิดชอบทางนโยบายและรักษาผลประโยชน์ของประเทศเจ้าหนี้เอาไว้ด้วย
ทางฟากของอาหรับนั้นไม่ได้มีการออกมาพาดพิงถึงเรื่องนี้โดยตรงแต่สัปดาห์ให้หลังหลังจากเรื่องนี้เกิดขึ้น
พี่ใหญ่กลุ่ม GCCอย่างซาอุดิอาระเบียก็ออกมาพูดชัดว่า
การตรึงค่าเงินริยัลของซาอุดิอาระเบียกับเงินดอลลาร์จะยังคงดำเนินต่อไปตราบเท่าที่ประเทศยังต้องพึ่งภาคน้ำมันและนั่นเป็นการบอกนัยๆอีกว่าซาอุและพรรคพวกจะยังคงรับเงินค่าน้ำมันเป็นดอลลาร์สกุลเดียวเท่านั้น
ซึ่งนั่นเป็นการออกมาพูดให้ความมั่นใจทางอ้อมอีกฝั่งหนึ่ง
ทั้ง 3 กลุ่มประเทศคือ ญี่ปุ่น จีน และอาหรับนั้นต่างมีท่าทีที่ตรงกันอย่างหนึ่งคือ
ความกังวลที่มีต่อชะตากรรมของเงินดอลลาร์และระบบการเงินและเศรษฐกิจโลกโดยรวมหากเศรษฐกิจและระบบการเงินสหรัฐฯต้องมีอันเป็นไป
แต่วิธีการตอบสนองนั้นต่างกันไปคนละทางโดยญี่ปุ่นนั้นใช้การออกมาให้คำมั่นและทุ่มสุดตัวมากกว่าเพื่อน
ขณะที่จีนนั้นทำตรงกันข้ามคือออกมารุมสวดสหรัฐฯพร้อมการประกาศถึงแผนในการออกจากระบบดอลลาร์ซึ่งในแง่หนึ่งก็นับว่าเป็นการฉวยโอกาสปรับกระบวนท่าของตัวเองซึ่งจะส่งผลต่อโลกไปในตัวด้วย
ขณะที่ฟากตะวันออกกลางนั้นเน้นสงวนท่าทีไปในเชิงรอดูสถานการณ์มากกว่าและเลือกที่จะบอกกับตลาดว่าทุกอย่างจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลงแต่ก็ยังมีการพูดทิ้งท้ายเล็กน้อยด้วยว่า
ทุกอย่างอาจเปลี่ยนได้นั่นคือ
ระบบอัตราแลกเปลี่ยนอาจถูกปรับหากโครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยน
สิ่งที่น่าจับตามองและวิเคราะห์ต่อนั่นคือ
ท่าทีของจีนหลังจากเหตุการณ์นี้ซึ่งทางการจีนตอบสนองด้วยการลงนามในสัญญา Currency Swap เงินหยวนกับธนาคารกลางนิวซีแลนด์และอุซเบกิสถานจำนวน 25,000 และ 700
ล้านหยวนตามลำดับแบบติดๆกัน
ขณะที่ก็ได้ออกมาเคลื่อนไหวในการดันเงินหยวนให้มีศูนย์กลางการซื้อขายนอกฮ่องกงเป็นครั้งแรกด้วยนั่นคือ
การพิจารณาให้สิงคโปร์สามารถค้าเงินหยวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยนได้
และการเล็งตั้งกองทุนรัฐบาลเพิ่มเติมเพื่อเอาทุนสำรองมาบริหารนอกเหนือจากกองทุน CICเหล่านี้ล้วนเป็นท่าทีที่แสดงให้เห็นถึงความพยายามของจีนในการหนีกับดักดอลลาร์ไปพร้อมๆกับการเร่งตั้งระบบหยวนเข้ามาสู่ระบบการเงินโลกในอนาคตด้วย
หากพิจารณาในแง่ของทฤษฎีสมคบคิด
การมองว่าการออกมาของ S&Pในครั้งนี้เปรียบเสมือนการเล่นตามบทที่วางเอาไว้ก็นับว่าเป็นการวิเคราะห์ที่น่าสนใจโดยที่บทสุดท้ายของเรื่องก็คือ
การประกาศยกเลิกเงินดอลลาร์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งซึ่งอาจไม่ได้เป็นการพูดตรงๆอย่างเดียวแต่อาจใช้วิธีการออกมาตรการQE ใหม่ที่อาจปล่อยเงินดอลลาร์ออกมาในปริมาณมหาศาลกว่าเดิมหลายเท่าหรือการแอบปล่อยให้สถาบันการเงินของรัฐบางแห่งล้มแบบไม่ทันตั้งตัวผ่านการถอนการค้ำประกันของรัฐคือFannie Mae และ Freddie Mac ซึ่งนั่นจะส่งผลต่อมูลค่าพันธบัตรของ
2 สถาบันและตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั้งระบบให้พังทลายลงมาอีกรอบได้
แล้วประกาศตั้งเงินสกุลใหม่ขึ้นมาเป็นการล้างหนี้และล้มกระดานทั้งหมดก็ได้
ซึ่งนั่นย่อมสร้างความเสียหายต่อประเทศที่ถือดอลลาร์ทั้งโลกอย่างมหาศาลและเฉียบพลันเลยทีเดียว
ซึ่งสิ่งที่เห็นจากจีนนั้นก็เสมือนการรู้เกมอเมริกาในเรื่องนี้เช่นกันดังนั้นแล้ว
2013
จึงไม่ต่างจากเส้นตายที่ทุกอย่างต้องมีการเร่งดำเนินการทั้งในฟากของประเทศศูนย์กลางโลกที่เป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้เพื่อชิงไหวชิงพริบในเกมอำนาจครั้งนี้
ซึ่งนั่นย่อมทำให้เราเห็นความเคลื่อนไหวในหลายแนวรบทั้งเงินหยวน ทองคำ
การเมืองและการทูตทางการเงิน โภคภัณฑ์ต่างๆ น้ำมัน หรือแม้แต่ความมั่นคง
โดยขณะที่ภายนอกดูเหมือนน้ำในทะเลจะนิ่งนั้น
เบื้องล่างจะเต็มไปด้วยการต่อสู้อย่างขับเคี่ยวแน่นอน
ในขณะนี้ประเทศจีนกำลังรุกคืบในด้านการค้าในรูปเงินหยวนซึ่งได้ผลดีมากในแง่ของเสียงตอบรับจากทั่วโลก
ซึ่งเมื่อฐานด้านนี้มั่นคงพอแล้วจะสามารถช่วยให้จีนบริหาร Flow ของหยวนผ่านระบบธนาคารและการค้าเงินได้เป็นขั้นเป็นตอนมากขึ้น
แต่สิ่งที่น่าจับตามองมากที่สุดก็คือการพยายามค้าโภคภัณฑ์ในรูปเงินหยวนมากขึ้นโดยเฉพาะในระบบการค้าน้ำมัน
ซึ่งน่าสนใจว่าครึ่งหนึ่งนั้นการค้าน้ำมันอยู่ในมืออาหรับแต่อีกว่าครึ่งนั้นอยู่นอกโลกอาหรับเช่นในรัสเซียและคาซัคสถาน
ซึ่งจีนมีความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงแน่นแฟ้นอยู่แล้ว
การที่น้ำมันมีราคาถีบตัวสูงขึ้นและจีนถูกสงครามการเงินต้อนให้จีนต้องปรับค่าเงินหยวนให้แข็งขึ้นเพื่อต้านเงินเฟ้อนั้น
ด้านหนึ่งก็ย่อมส่งผลลบต่อจีนที่ต้องรับผลขาดทุนในทุนสำรองมากมายแต่อีกด้านก็สามารถใช้เงินหยวนที่แข็งค่า
“อย่างเป็นขั้นเป็นตอน” เพื่อดึงความเชื่อมั่นจากทั่วโลกว่าเงินหยวนจีนเป็น “Hard Currency” หรือเงินที่แข็งมากได้ การปรับเงินหยวนให้แข็งค่าเพื่อเป็น Hard
Currency ไปพร้อมๆกับการพยายามสร้างสภาพคล่องในตลาดเงินหยวนผ่านระบบธนาคารพาณิชย์และธนาคารกลาง(Yuan Swaps) ย่อมทำให้จีนสามารถสร้างระบบเปโตรหยวนนอกโลกอาหรับผ่านการขยายกรอบขององค์กรอย่างSCO ได้
ซึ่งจีนก็มีการวางระบบการขนส่งรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการใช้เงินหยวนในเขตซินเจียงแล้ว
หากระบบเปโตรหยวนสามารถตั้งมั่นได้ในเขตอิทธิพลใกล้บ้านจีนได้แล้วนั่นก็หมายความว่าจีนจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อและลดความจำเป็นในการเก็บดอลลาร์เข้าทุนสำรองและส่งผลอย่างสำคัญต่อแรงซื้อดอลลาร์ในตลาดโลกด้วย
ซึ่งพลวัตเงินหยวนของจีนในฟากพลังงานและความมั่นคง
และด้านการค้าและการเงินนั้นย่อมมีผลต่อทิศทางการตัดสินใจของผู้เล่นอื่นๆในอนาคตที่จะต้องมีการปรับท่าทีทางนโยบายด้วย
พลวัตระบบเปโตรหยวนหลังจากการลั่นกลองนับถอยหลังการล้มกระดานดอลลาร์จึงถือเป็นสึนามิใต้ทะเลในระบบการเงินโลกที่ต้องจับตามอง
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1278 ครั้ง