ตร.บุกรง.ผลิตชิ้นส่วน เอ็ม 16 ที่อยุธยา ผงะเจอ นับพันชิ้น ถ้าประกอบกัน จะได้ปืนเอ็ม 16 กว่า 3,000 กระบอกหลังบุกค้นโรงงานที่อ.อุทัย พบชิ้นส่วนประกอบ ปืนเอ็ม 16 ทั้งโครงปืนส่วนบน ส่วนล่าง และชิ้นส่วนศูนย์หน้า เจ้าของโรงงานระบุ ศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ ว่าจ้างให้ทำเพื่อใช้ฝึกทหารใหม่ แต่ใช้ยิงจริงไม่ได้ ด้านโฆษกกลาโหมยันจ้างผลิตมา 3 ปีกว่าแล้ว เพื่อใช้ฝึกทหาร แต่ใช้ยิงจริงไม่ได้ เพราะบางส่วนเป็นพลาสติก ขณะที่ผบ.ศูนย์ รุดยืนยันกับผู้การอยุธยาว่า จ้างทำจริง ส.ส.เพื่อไทยจวกไทยทำผิด กฎหมายสากล แถมยังละเมิดลิขสิทธิ์สหรัฐที่เป็นเจ้าของ และอาจยัดไส้ทุจริตจัดซื้ออาวุธด้วย
เมื่อเวลา 10.00 น. 17 มี.ค. พล.ต.ต.จารุวัฒน์ ไวศยะ ผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา พ.ต.อ. อนุสรณ์ วะยาคำ ผกก.สภ.อุทัย จ.พระนครศรี อยุธยา พ.ต.อ.นฤนาท พุทไธสง ผกก.กลุ่มงานสืบสวน ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา พ.ต.ท.ธีระยุทธ์ ทองสาริ รองผกก.สส.สภ.อุทัย พ.ต.ท.มาโนช บุญส่ง สว.สส.กลุ่มงานสืบสวน ภ.จว. พระนครศรีอยุธยา พร้อมกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 50 นาย และนายวิญญาณ มาลีวัฒน์ นายอำเภออุทัย นำหมายศาล เข้าตรวจค้นบริษัท ทีเอสพี ทูลแอนด์พาร์ท จำกัด เลขที่ 210-211 ริมถนนสายอยุธยา-ภาชี หมู่ 4 ต.อุทัย อ.อุทัย จ.พระนครศรีอยุธยา หลังรับแจ้งว่าบริษัทดังกล่าวผลิตอาวุธสงครามจำนวนมาก
เมื่อเดินทางไปถึงพบว่า เป็นอาคารพาณิชย์สองชั้น 2 ห้อง 2 คูหา ชั้นล่างตั้งเครื่องจักรและเครื่องกลึง มีนายภาคิน นิลสนธิภาธร รับเป็นเจ้าของโรงงาน พบคนงานทั้งชายและหญิง 10 คน กำลังทำงานอย่างปกติ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงสั่งหยุดเพื่อตรวจสอบ พบอะไหล่ชิ้นส่วนของปืนเอ็ม 16 จำนวนมาก แบ่งเป็นโครงปืนส่วนบน 2,100 ชิ้น โครงปืนส่วนล่าง 3,000 ชิ้น และชิ้นส่วนศูนย์หน้า 2,400 ชิ้น ทำจากอะลูมิเนียมบางส่วน บรรจุใส่กล่องเตรียมส่งให้ผู้ว่าจ้าง และยังพบลำกล้อง 9 อัน เข็มแทงชนวน 11 อัน ซึ่งหากประกอบกันจะได้ปืนเอ็ม 16 ประมาณ 3,000 กระบอก เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงยึดไว้ตรวจสอบ
สอบสวนนายภาคินทราบว่า ตนเปิดร้านกลึงเหล็กมาประมาณ 10 ปี โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในจ.พระนคร ศรีอยุธยา ส่วนชิ้นส่วนปืนเอ็ม 16 ที่ผลิตขึ้นนี้ รับทำมาประมาณ 2-3 ปีแล้ว โดยมีนายทหารมาว่าจ้าง มีการทำสัญญาระหว่างกันอย่างถูกต้อง ในหนังสือสัญญาระบุว่า ห.จ.ก.พีซี คอมพิวเตอร์ แอนด์คอมมิวนิเคชั่น เลขที่ 88/5 หมู่ 1 ต.เขาสามยอด อ.เมือง จ.ลพบุรี โดยมีนายอมรเทพ สมบูรณ์ยิ่ง เป็นผู้ว่าจ้าง ให้บริษัท ทีเอสพี ทูลแอนด์พาร์ท จำกัด โดยมีนายภาคิน นิลสนธิภาธร เจ้าของโรงงาน เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 2552 เป็นผู้รับจ้าง
นายภาคินกล่าวต่อว่า ทุกครั้งที่ผลิตชิ้นส่วนเสร็จ จะมีเจ้าหน้าที่จากศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร จ.ลพบุรี มาตรวจสอบชิ้นส่วนอะไหล่ โดยได้รับค่าแรงประมาณชิ้นละ 300-500 บาท ซึ่งทางผู้ว่าจ้างจะนำชิ้นส่วนที่เป็นอะลูมิเนียมฉีดขึ้นรูปมาแล้ว ทางโรงงานมีหน้าที่เจาะเป็นรู กลึง และตบแต่ง ให้ขึ้นรูปตามแบบตัวอย่าง ซึ่งทราบว่าเป็นอาวุธปืนสิ่งเทียม เป็นแบบจำลองนำไปให้ทหารใหม่ฝึกในสนามฝึก ตนจึงมั่นใจว่ารับงานมาทำโดยถูกต้องไม่ได้หลบหรือซ่อนอะไหล่แต่อย่างใด
นายสุพจน์ หาวิจี อายุ 30 ปี อยู่บ้านเลขที่ 38 หมู่ 9 ต.ห้วยสะแก อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์ คนงานที่กำลังทำงานอยู่ระบุว่า ทำงานมา 2 ปี กว่าเป็นช่างกลึงเหล็กและอะลูมิเนียม ก่อนหน้านี้ทราบข่าวการจับกุมชิ้นส่วนปืนเอ็ม 79 ที่ อ.วังน้อย และที่จ.สมุทรปราการ แต่ที่โรงงานรับทำอย่างถูกต้อง ถ้าทำผิดกฎหมายเจ้าของโรงงานคงสั่งให้คนงานหยุดผลิตและนำอะไหล่ทั้งหมดไปซ่อน หรือย้ายที่แล้ว แต่คนงานที่นี่มั่นใจทุกคนจึงยังคงทำงานปกติ
ด้านพล.ต.ต.จารุวัฒน์กล่าวว่า ขณะนี้เจ้าหน้า ที่ตำรวจได้ตรวจยึดของกลางไว้ตรวจสอบก่อน ในเบื้องต้นพบว่า มีหนังสือสัญญาว่าจ้างอย่างถูก ต้อง และกำลังตรวจสอบผู้ว่าจ้างได้รับอนุญาตสั่งให้ผลิตปืนชนิดดังกล่าวจริงหรือไม่ โดย ทราบว่ามีนายทหารยศพันโทเป็นผู้ว่าจ้าง และ มาตรวจสอบคุณภาพชิ้นส่วนด้วยตนเอง ซึ่งจะประสานทหารมาตรวจอย่างละเอียด เพื่อจะดำเนินการหากถูกต้องก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าผิดเงื่อน ไขคงต้องดำเนินคดีไปตามกฎหมาย ส่วนของกลางทั้งหมดได้นำมาเก็บรักษาเอาไว้ที่สภ. อุทัย รอเจ้าหน้าที่ทหารมาร่วมตรวจสอบอีกครั้ง ส่วนเจ้าของร้านช่วงนี้ยังไม่ได้แจ้งข้อกล่าวหา
นายประยูร ติ่งทอง อุตสาหกรรม จ.พระนคร ศรีอยุธยา เดินทางไปตรวจสอบ พร้อมกล่าวว่า ทางอุตสาหกรรมจังหวัดได้อนุญาตให้กลึง เจาะ ไส เจีย คว้าน แต่โรงงานมาผลิตอาวุธปืนโดยผิดพ.ร.บ.โรงงานไม่ได้อนุญาต จึงรายงานให้นายวิทยา ผิวผ่อง ผวจ.พระนครศรีอยุธยา ทราบ และสั่งปิดโรงงานไว้ชั่วคราวก่อน เพื่อตรวจสอบหาข้อเท็จจริงต่อไป
ทางด้าน พ.อ.ธนาธิป สว่างแสง โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้แจงถึงเรื่องเดียวกันว่า ศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ ศูนย์การอุตสาหกรรม ป้องกันประเทศและพลังงานทหาร สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม ว่าจ้างบริษัทดังกล่าวสร้างมา 3 ปีแล้ว เพื่อสนับสนุนภารกิจการฝึกของเจ้าหน้าที่ของกองทัพ ให้เกิดความคุ้นเคยกับการใช้อาวุธ ซึ่งมีลักษณะเหมือนจริงแต่ไม่สามารถยิงได้ โดยที่บางชิ้นส่วนที่เป็นงานพลาสติก จำเป็นต้องจ้างเอกชนจัดสร้าง เช่น ฝาประกรับลำกล้อง พานท้ายปืน ส่วนโครงสร้างที่เป็นเหล็ก ศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร จะจัดสร้างเอง สำหรับงบประมาณดำเนินการใช้งบเงินทุนหมุนเวียนของศูนย์ ซึ่งมีคณะกรรมการจากส่วนราชการต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณและผู้อำนวยการสำนักบัญชีกลาง ร่วมพิจารณาอนุมัติใช้งบประมาณ
ต่อมาเวลา 15.00 น. วันเดียวกัน พล.ท.ชูศักดิ์ สันติวรวุฒิ ผบ.ศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ ศูนย์การอุตสาหกรรมป้องกันประเทศและพลังงานทหาร (ผบ.ศอว.ศอพท.) เดินทางเข้าพบพล.ต.ต. จารุวัฒน์ ไวศยะ ผบก.ภ.จว.พระนครศรีอยุธยา เพื่อชี้แจงกรณีเป็นผู้ว่าจ้างให้ผลิตของกลางดังกล่าว
พล.ต.ต.จารุวัฒน์กล่าวว่า ของกลางที่ยึดได้ทั้งหมดเป็นสิ่งเทียมอาวุธปืน ไม่ใช่อาวุธปืนสงคราม หรือเรียกว่าเป็นปืนจำลอง ที่ใช้สำหรับให้ทหารฝึกการใช้อาวุธ จึงจำเป็นต้องทำให้ เหมือนของจริง ของกลางที่พบเป็นปืนจำลองที่ไม่สามารถบรรจุกระสุนจริงได้ อีกทั้งก็ยิงกระสุนปืนไม่ได้ และเมื่อศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธมายืนยันหนักแน่นว่า เป็นการว่าจ้างให้ผลิตชิ้นส่วนของสิ่งเทียมอาวุธ โดยตำรวจเชื่อว่าเป็นชิ้นงานที่ทหารสั่งทำจริง มีการสั่งทำเพื่อไว้ใช้ในราชการเท่านั้น และทางทหารจะมีการทำหนังสืออย่างเป็นทางการมายืนยันอีกครั้ง เบื้องต้นได้ส่งคืนของกลางทั้งหมดให้กับทหารไปแล้ว และไม่ได้มีการตั้งข้อหาใดๆ แก่เจ้าของโรงงานหรือคนงาน
“การที่ตำรวจตรวจค้นโรงงานขนาดย่อม และพบการผลิตชิ้นส่วนอาวุธสงครามใน อ.วังน้อย และอ.อุทัย นี้ แสดงให้เห็นว่า ในอนาคตจะต้องมีการประสานงานระหว่างตำรวจ ฝ่ายปกครอง และอุตสาหกรรมจังหวัด เข้าไปตรวจสอบโรงงานขนาดย่อมจำนวนมากใน จ.พระนครศรรีอยุธยา โดยเฉพาะโรงงานที่ผลิตในประเภท หล่อ กลึง เจาะ เจีย โลหะ ว่า ได้ผลิตตามที่ขออนุญาตไว้หรือไม่ เพราะปัจจุบันโรงงานขนาดย่อมกลุ่มนี้ มีศักยภาพสูงในเรื่องจักรและฝีมือแรงงานในการผลิตชิ้นงาน ซึ่งต้องมีการควบคุมให้ผลิตชิ้นงานตามที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น” พล.ต.ต.จารุวัฒน์กล่าว
ส่วนความคืบหน้ากรณีการตรวจยึดโรงงานผลิตชิ้นส่วน ปืนยิงลูกระเบิดเอ็ม 79 ที่อ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 13 มี.ค.ที่ผ่านมานั้น พ.ต.ท.ณรงค์ฤทธิ์ วาพันสุ รองผกก.สส. สภ.วังน้อย จ.พระนครศรีอยุธยา เปิดเผยว่า ชิ้นส่วนที่เป็นของกลางที่ตรวจยึดมาจากโรงงานนั้น ได้ส่งไปให้กองพลาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตรวจสอบว่าเป็นชิ้นส่วนสำคัญของอาวุธปืนหรือไม่ ถ้าพบว่าเป็นชิ้นส่วนสำคัญก็ผิด ถ้าเป็นสิ่งเทียมของอาวุธก็ไม่ผิด และกำลังรอการตอบรับยืนยันจากกองทัพบกว่า มีการสั่งทำหรือไม่ ส่วนผู้ต้องหาคือนายเชิดยศ จีรวัฒนะรักษ์ และผู้ต้องหาทั้งหมด ต้องมารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกวัน ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยเฉพาะนายเชิดยศช่วงนี้รอผลการตรวจสอบ จะใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน
นายสุรเชษฐ ชัยโกศล ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เรื่องนี้ทหารน่าจะรู้ดี เพราะการผลิตอาวุธสงคราม โดยเฉพาะอาวุธปืนเอ็ม 16 นั้นกฎหมายไทยและกฎหมายสากลไม่อนุญาตให้ไทยผลิต เพราะการผลิตอาวุธลักษณะนี้เป็นลิขสิทธิ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ได้หมายความประเทศใดจะผลิตก็ผลิตได้ หากทหารไทยผลิต เท่ากับละเมิดลิขสิทธิ์หรือละเมิดข้อตกลงระหว่างประเทศ เชื่อว่าเรื่องนี้น่าจะมีเงื่อนงำที่แอบแฝง เช่น อาจเป็นขบวน การค้าอาวุธข้ามชาติ หรือค้าอาวุธให้ชนกลุ่มน้อย แต่ก็อาจตรวจสอบได้ยาก เพราะผู้มีอำนาจในการตรวจสอบ ผู้มีอำนาจในการสั่งซื้อ ผู้มีอำนาจในการสั่งผลิต เป็นกลุ่มเดียวกัน
นอกจากนี้ อาวุธปืนที่ผลิตในประเทศไทย หลายฝ่ายก็ทราบดีว่าเป็นของเทียม แต่ในทางปฏิบัติพบว่าใช้งานได้จริง และถูกนำไปใช้ในกองทัพ ในแต่ละปีจะมีการสั่งซื้อจากต่างประเทศเป็นจำนวนมาก หมายความว่าในวงการทหารอาจมีการทุจริต สั่งซื้ออาวุธจากบริษัทต่างประเทศ แต่พอส่งมอบปืน กลับส่งมอบปืนที่ผลิตในไทยเอง ทำให้ทหารที่อยู่ในขบวนการนี้ร่ำรวยกันเป็นอย่างมาก
ที่มา:วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 19 ฉบับที่ 7049 ข่าวสดรายวัน
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1547 ครั้ง