ตะลึง!พบคปร.ชุด’อานันท์’ใจป้ำแจกเงินชาวบ้านร่วมเวทีสัมมนาหัวละ 5 พัน ด้าน คปส.ของ’หมอประเวศ’ละลายงบกว่าร้อยล้านในปีเดียว แม้แต่สตง.ยังไม่กล้าแตะหวั่นเจอข้อหาขวางกระบวนการปฏิรูป
หลังจากที่คณะกรรมการปฏิรูปชุดนายอานันท์ ปัญญารชุณ ประกาศยุติบทบาทการทำงานจากการตรวจสอบการใช้งบประมาณของคณะกรรมการชุดดังกล่าวพบว่ามีการใช้งบประมาณตลอด1 ปี 57,780,000บาท โดยงบประมาณส่วนใหญ่ถูกใช้ไปเพื่อกิจกรรมสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการปฏิรูปฯในการพัฒนาข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปในประเด็นสำคัญรวม 26,100,000 บาท เป็นงบสำหรับสนับสนุนประเด็นวิชาการ 10,000,000บาท สนับสนุนสื่อสารสังคม 14,480,000บาท เป็นค่าบริหารการประชุม 80 ครั้ง คิดเป็นเงิน 7,200,000 บาท
เมื่อลงในรายละเอียดของการจัดกิจกรรมพบว่า งบประมาณส่วนใหญ่ที่ถูกใช้เพื่อจัดเวทีระดมความเห็นจากประชาชน มีรายจ่ายที่น่าตกใจคือในประเด็นด้านแรงงานจัดเวที 3 ครั้ง มีผู้เข้าร่วม200 คน โดยคนแหล่านี้ได้รับเงินรายละ 2,000บาท รวมทั้งสิ้น 1,200,000บาท ประเด็นด้านการศึกษาจัดเวที 3 ครั้ง ครั้งละ 200 คน คนละ2,000บาทเช่นเดียวกัน เป็นเงิน 1,200,000บาท ส่วนปะเด็นระบบภาษี จัดเพียงครั้งเดียวมีผู้เข้าร่วม 100 คน ได้รับค่าตอบแทนคนละ 2,000บาท รวม200,000 บาท ประเด็นอื่นๆอีก 10 ครั้งๆละ 200 คน คนละ 2,000บาท รวม 4,000,000 บาท ซึ่งรวมเป็นเงินทั้งสิ้นกับการจัดเวทีเฉพาะประเด็น 6,600,000 บาท
นอกจากนี้ ยังมีการจัดเวทีพื้นที่ในประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดินและฐานทรัพยากร โดยเป็นการลงพื้นที่รับฟังข้อเท็จจริงจากประชาชน ซึ่งค่าใช้จ่ายให้กับประชาชนที่มาร่วมเวที 70 คน รายละ 3,000บาท รวมเป็นเงิน 2,100,000บาท ส่วนประเด็นการกระจายอำนาจซึ่งเป็นการลงพื้นที่เช่นเดียวกัน จัดขึ้น 2 เวที เวทีละ 80 คน ได้รับค่าตอบแทนคนละ 5,000บาท เป็นเงิน 800,000 บาท ส่วนเวทีระดับภาคจัดขึ้น 12 ครั้ง ครั้งละ 80 คน คนละ 5,000บาท เป็นเงิน3,600,000บาท และเวทีระดับชาติอีก1 ครั้ง มีผู้เข้าร่วม 500คน คนละ 5,000บาท รวม2,500,000 บาท
ทั้งนี้ ยังมีการจัดงบประมาณสำหรับการจัดเก็บข้อมูลการร่วมประชุมเอาไว้อีก 5,000,000บาท และการจัดทำรายงานก็มีค่าใช้จ่ายถึงชุดละ 100,000บาท รวมจัดทำต้นฉบับ 5 ชุดเป็นเงิน 500,000บาท รวมทั้งยังมีค่าจัดพิมพ์เอกสาร 25 เรื่อง เรื่องละ 200,000บาท รวม5,000,000บาท วงเงินเกี่ยวกับกิจกรรมสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการปฏิรูปในส่วนนี้เท่ากับ 26,100,000 บาท
สำหรับงานสนับสนุนสื่อสารสังคมของคณะกรรมการชุดนี้ใช้งบประมาณรวม 14,480,000บาท ส่วนค่าบริหารการประชุมของคณกรรมการปฏิรูปมีค่าตอบแทน หรือเบี้ยประชุม ให้กับคณะกรรมการครั้งละ 90,000บาท จัดประชุม 80 ครั้ง คิดเป็นเงิน 7,200,000บาท
หลังการยุติบทบาทการทำงานของคณะกรรมการชุดนี้ มีเอกสารที่นำเสนอต่อสาธารณะเช่น ประเด็นเกี่ยวกับการปฏิรูปที่ดิน สร้างความเป็นธรรมในสังคม ปรับปรุงระบบภาษีเป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นเนื้อหาที่นักวิชาการหลายฝ่ายได้เคยนำเสนอต่อสาธารณะมาแล้วทั้งสิ้น
นอกจากนี้ เมื่อตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของคณะกรรมการ สมัชชาปฏิรูปชุดที่มีนพ.ประเวส วะสี เป็นประธานก็มีการใช้เงินในการจัดกิจกรรมที่ไม่แตกต่างกัน แต่มีการจัดเวทีมากกว่าคณะกรรมการปฏิรูปฯ ซึ่งใช้งบประมาณไปแล้ว 110,880,000บาท ภายในปีเดียว เมื่อรวมค่าใช้จ่ายของณะกรรมการ 2 ชุดใช้งบประมาณทั้งสิ้น 187,470,000บาท แต่คณะกรรมการชุดของนพ.ประเวสยังไม่มีการสรุปภาพรวมของการดำเนินการ เพราะยังทำงานต่อเนื่องไปอีก 2 ปีตามกรอบเวลาที่ครม.มีมติ 3 ปี เว้นแต่รัฐบาลชุดใหม่จะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายเป็นอื่น
เป็นที่น่าสังเกตว่าโครงการปฏิรูปประเทศซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2553 และจัดงบประมาณสนับสนุนเป็นระยะเวลา 3 ปี รวมกับเงินสนับสนุนจากภาคีเป็นเงินทั้งสิ้น 1,187.47 ล้านบาท แต่กลับไม่มีการตรวจสอบการใช้จ่ายเงินจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแต่อย่างใด มีเพียงการทำหนังสือแสดงความห่วงใยถึงการใช้จ่ายงบประมาณ เนื่องจากเป็นงบกลางรายการสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉิน หรือจำเป็น ซึ่งทางสำนักงบประมาณได้ส่งหนังสือถึงเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เน้นให้ใช้จ่ายตามโครงการนี้ต้องเป็นไปตามความจำเป็นเหมาะสม และประหยัด ขณะที่สำนักงานสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ก็ท้วงติงเกี่ยวกับกระบวนการสมัชชา ซึ่งเป็นการระดมความคิดเห็นและสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน เป็นกลไกในการดำเนินงานควรคำนึงถึงความเชื่อโยงและการบูรณาการการทำงานร่วมกับภาคส่วนอื่น ที่มีการดำเนินงานสอดคล้องกัน เช่นกระบวนการสมัชชาสุขภาพ กระบวนการระดมความคิดเห็นในการจัดทำแผนพัฒนาฯฉบับที่ 11 เป็นต้น เพื่อให้การดำเนินงานไม่เกิดความซ้ำซ้อนและมีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัดและคุ้มค่า
รายงานข่าวจากสำนักงบประมาณแจ้งว่า หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอึดอัดใจกับการใช้งบประมาณดังกล่าว แต่ไม่มีใครกล้าคัดค้านเพราะเป็นกระแสปฏิรูปที่ประชาชนต้องการเห็นทำให้แม้แต่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินก็ไม่ได้เข้าไปตรวจสอบการใช้จ่ายดังกล่าวว่าเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับหรือไม่ โดยข้าราชการส่วนใหญ่โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติต่างเห็นว่าเป็นการสูญเสียงบประมาณที่ไม่คุ้มค่า แลกกับการขายฝันของนักวิชาการ ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงความเป็นไปได้ในทางปฏิบัติ และยังเป็นคณะกรรมการที่ไม่มีหน่วยงานใดกล้าแตะต้องด้วย เนื่องจากคณะกรรมการชุดนี้เกิดขึ้นจากกระแสเรียกร้องของประชาชน โดยหวังว่าจะเป็นทางออกให้กับสังคมหลังเกิดเหตุคนเสื้อแดงเผาเมือง
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1463 ครั้ง