รูปภาพ : สำนักงานใหญ่เอชเอสบีซีในลอนดอน
ที่มา : Bloomberg
โกลด์แมน แซคส์ และ เอเชเอสบีซีดูแลทรัพย์สินของกองทุนน้ำมันรัฐบาลลิเบียรวมกัน 335 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ธนาคารโซซีเยเต้ เจเนอรัล (Societe Generale) ของฝรั่งเศสบริหารเงินกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ในสินทรัพย์ที่เป็นตราสารอนุพันธ์ในรูปของ Structured Products รายงานล่าสุดจากโกลบอล วิตเนส (Global Witness) ระบุวานนี้ (พฤหัสบดีที่ 26 พฤษภาคม 2011)
กลุ่มเคลื่อนไหวในประเด็นด้านการพัฒนากลุ่มนี้กล่าวว่า ทางกลุ่มได้รับเอกสารในปี 2010 ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากองทุน LIA (Libya Investment Authority) ซึ่งเป็นกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของรัฐบาลลิเบียที่บริหารรายได้จากการค้าน้ำมันมีสินทรัพย์ทั่วโลก 53,000 ล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2010 น้อยกว่าที่มีการประมาณกันไว้ที่ราว 70,000 ล้านดอลลาร์
รายงานฉบับนี้ได้ให้ข้อมูลเชิงลึกที่หาได้ยากเกี่ยวกับการทำงานของกองทุน LIA ที่ดูเป็นความลับมาก โดยให้รายละเอียดถึงขอบข่ายความเกี่ยวพันกันของธนาคารชาติตะวันตกในกองทุนนี้ซึ่งสินทรัพย์ของกองทุน LIA ถูกอายัดตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมาโดยรัฐบาลสหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่นในบรรดารัฐบาลที่ประกาศอายัดทั่วโลก
โกลบอล วิตเนสกล่าวว่า ธนาคารเอเชเอสบีซีดูแลเงินกว่า 293 ล้านดอลลาร์ของ LIA ในกว่า 10 บัญชี ขณะที่โกลด์แมน แซคส์ดูแลเงินจำนวน 43 ล้านดอลลาร์ใน 3 บัญชีซึ่งกระจายอยู่ในเงินสกุลต่างๆทั้งเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ปอนด์อังกฤษ ฟรังก์สวิส ยูโร และดอลลาร์แคนาดา ทั้งโกลด์แมน แซคส์ และ เอชเอสบีซีปฏิเสธที่จะให้ความเห็น
ขณะที่เงินฝากส่วนใหญ่ของกองทุน LIA ซึ่งมีมูลค่ารวมกว่า 19,000 ล้านดอลลาร์ ส่วนมากอยู่ในธนาคารในลิเบียและตะวันออกกลางซึ่งรวมถึงธนาคารกลางลิเบีย, อาหรับ แบงกิ้ง คอร์เปอเรชั่น (Arab Banking Corporation) และ ธนาคารบริติช อาหรับ คอมเมอรเชียล แบงก์ (British Arab Commercial Bank)
ขณะที่เงินเกือบ 4,000 ล้านดอลลาร์ของกองทุน LIA ลงทุนในรูปของผลิตภัณฑ์ที่มีการจัดโครงสร้างหรือ Structured Products ซึ่งมีลักษณะเป็นอนุพันธ์ทางการเงินประเภทหนึ่ง โดยธนาคารโซซีเยเต้ เจเนอรัลบริหารอยู่ 1,000 ล้านดอลลาร์, เจพีมอร์แกน 171 ล้านดอลลาร์ และกองทุนออคซิฟฟ์ (OCH-ZIFF) ของสหรัฐฯบริหาร 329 ล้านดอลลาร์
เอกสารฉบับนี้ยังแสดงอีกว่า กองทุน LIA ของลิเบียเป็นเจ้าของหุ้นของบริษัทจดทะเบียนชั้นนำของโลกหลายแห่งไม่ว่าจะเป็น บีพี, ดอยช์ เทเลคอม (Deutsche Telekom), จีอี และ วิวองดี (Vivendi)
สินทรัพย์ส่วนมากของ LIA ยังคงถูกอายัดเอาไว้หลังจากสหรัฐฯและยุโรปประกาศมาตรการคว่ำบาตรทางการเงินในเดือนมีนาคม หลังจากการประกาศมาตรการอายัดทางการเงินที่มีต่อทรัพย์สินของกัดดาฟี่และครอบครัวของเขา
กองทุน LIA ก่อตั้งขึ้นในปี 2006 เพื่อบริหารรายได้จากการส่งออกน้ำมันของประเทศ กองทุนนี้เป็นเจ้าของหุ้นบริษัทจดทะเบียนชั้นนำในยุโรปเช่น ธนาคารยูนิเครดิตของอิตาลี บริษัทสื่อสิงพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของอังกฤษนาม เพียร์สัน เป็นต้น
ที่มา Reuters
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday