ตามที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านคำสั่งของโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก ที่ห้ามเด็กนักเรียนมุสลิมคลุมฮิญาบตามหลักการศาสนาอิสลาม ซึ่งความขัดแย้งระหว่างสังคมมุสลิมกับโรงเรียนมัธยมหนองจอกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินต่อเนื่องมายาวนาน 7 เดือน เพื่อความกระจ่างในการเคลื่อนไหว กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ ซึ่งเป็นแกนนำในการเคลื่อนไหว ได้ลำดับการเคลื่อนไหวตั้งแต่เริ่มต้น
กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ ระบุว่า กรณีปัญหาเรื่องโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอกออกคำสั่งห้ามนักเรียนมุสลิมคลุมฮิญาบในโรงเรียน ซึ่งเป็นคำสั่งที่ขัดกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 เป็นคำสั่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 ว่าด้วยสิทธิในการนับถือศาสนา และเป็นคำสั่งที่ละเมิดต่อสิทธิพื้นฐานในการนับถือศาสนาตามกฏบัตรสหประชาชาติ ซึ่งคำสั่งนี้ส่งผลกระทบให้เด็กนักเรียนมุสลิมไม่สามารถปฏิบัติตามหลักการของศาสนาอิสลามในขณะเรียนได้ อีกทั้งยังสร้างความแตกแยกให้เกิดขึ้นในโรงเรียนและสังคมโดยรอบ จากความพยายามสร้างความสับสนให้สังคมเข้าใจว่าคำสั่งห้ามนักเรียนมุสลิมคลุมฮิญาบเป็นคำสั่งที่ถูกต้อง แม้ว่าจะเป็นคำสั่งที่ขัดกับระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการ
นอกจากนี้ยังมีความพยายามสร้างเรื่องให้ร้ายป้ายสีนักเรียนมุสลิม และผู้ที่ออกมาเรียกร้องให้โรงเรียนปฏิบัติตามตัวบทกฏหมาย ยึดในระเบียบของกระทรวงศึกษาธิการเป็นหลักสากลของประเทศในการบริหารงานโรงเรียนให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลว่าเป็นกลุ่มที่ใช้ความรุนแรง และไม่เคารพความแตกต่างทางพหุศาสนา
เพื่อให้สังคมตระหนักในข้อเท็จจริงที่ปราศจากการให้ร้ายป้ายสี และรับรู้ข้อเท็จจริงร่วมกันในขั้นตอนการดำเนินการต่างๆ ซึ่งใช้เวลายาวนานกว่า 7 เดือนในขั้นตอนต่างๆ นับตั้งแต่เริ่มการดำเนินการ จนถึงการเจรจาต่อหน้ารัฐมนตรี และยอมรับร่วมกันว่าคำสั่งของโรงเรียนขัดต่อระเบียบกระทรวงศึกษา แต่ด้วยความดึงดันของผู้อำนวยการโรงเรียนฯ ที่ไม่ยอมแก้ไขคำสั่งของตนให้ถูกต้องตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ กระทั่งเกิดปัญหาบานปลายจนถึงขณะนี้ จึงขอนำเสนอลำดับเหตุการณ์ต่างๆ ดังนี้
29 ตุลาคม 2553 คณะทำงานด้านกฏหมายกลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ โดยนายสักรียา สุขจันทร์ ได้ทำหนังสือที่ กมส.053051056/2553 เรื่องการแต่งกายในสถานศึกษาของนักเรียนมุสลิม ส่งถึงผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก เพื่อชี้แจงหลักการศาสนาอิสลามในเรื่องการแต่งกายของมุสลิม และกฏหมายที่อนุญาตให้มีการแต่งกายตามหลักศาสนาอิสลามในโรงเรียนได้ เนื่องจากได้รับร้องเรียนจากนักเรียน 2 คนให้ช่วยเหลือ หลังจากที่ทั้งสองได้ร่วมกับเพื่อนนักเรียน 17 คน (ซึ่งได้รับความช่วยเหลือจากกรรมการอิสลามประจำกรุงเทพมหานคร)ทำหนังสือขอคลุมฮิญาบกับทางโรงเรียนตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน แต่เรื่องเงียบไป
5 พฤศจิกายน 2553 ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอกทำหนังสือเลขที่ ศธ04232.28/1133 แจ้งมายังกลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ ระบุว่าให้เด็กแต่งกายตามระเบียบของโรงเรียน (ไม่สามารถคลุมฮิญาบได้) ในระหว่างรอการพิจารณา
23 พฤศจิกายน 2553 กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติได้ทำหนังสือร้องเรียนไปยังนายกรัฐมนตรี (ที่ กมส.053111783/2553) และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ที่กมส.053111782/2553) กรณีการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก ที่สั่งห้ามนักเรียนคลุมฮิญาบ ซึ่งขัดกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการแต่งกายเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 และทางสำนักนายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือตอบกลับ (ที่ นร.0105.04/86955 รหัสเรื่องที่ นร.01530021730) โดยแจ้งว่าได้ส่งเรื่องให้สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานพิจารณาแล้ว
30 พฤศจิกายน 2553 ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก มีหนังสือที่ ศธ.04232.28/ว1245แจ้งไปยังนักเรียน 17 คนที่ทำเรื่องขอคลุมฮิญาบไว้ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ที่ผ่านมา เป็นเพื่อแจ้งถึงคำสั่งที่ 240/2553 ให้ยกคำขอการแต่งกายตามศาสนบัญญัติ (ห้ามนักเรียนคลุมฮิญาบ) แต่โรงเรียนไม่ยอมแจ้งผลดังกล่าวมายังกลุ่มมุสลิมเพื่อสันติตามหนังสือที่ กมส.053051056/2553
28 กุมภาพันธ์ 2554 กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติได้ทำหนังสือที่ กมส.054030102 ถึง ประธานคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เรื่อง ปัญหาการแต่งกายตามหลักการศาสนาของนักเรียนสตรีมุสลิมโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก
7 มีนาคม 2554 กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ ส่งผู้แทน 3 ท่านเข้าชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นกับนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รัฐมนตรีแจ้งว่าได้รับบัญชาจากนายกรัฐมนตรีให้มาแก้ไขปัญหาดังกล่าว
9 มีนาคม 2554 กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ ส่งผู้แทน 5 ท่านร่วมประชุมกับผู้แทนกระทรวงศึกษาธิการ ผู้แทนสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ผู้แทนสำนักงานพุทธศาสนา ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดหนอกจอก โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นประธาน ได้ข้อสรุปว่า มติของมหาเถรสมาคมไม่ได้ห้ามนักเรียนมุสลิมคลุมฮิญาบ โดยให้ขึ้นกับระเบียบของวัด ซึ่งโรงเรียนตั้งอยู่ในที่ดินของวัดหนองจอกและวัดได้ใช้สิทธิในการเป็นเจ้าของที่ดินห้ามนักเรียนคลุมฮิญาบ ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องเจรจากันเองระหว่างส่วนราชการและวัด ซึ่งปัญหานี้เป็นปัญหาเฉพาะที่ โดยที่โรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่วัดอื่นๆ ยังคงสามารถคลุมฮิญาบได้ ซึ่งรัฐมนตรีนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าวว่าเปิดเทอมนี้เด็กต้องได้คลุมฮิญาบแน่นอน และคำสั่งของโรงเรียนที่ห้ามเด็กคลุมฮิญาบขัดกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ
15 มีนาคม 2554 กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติได้ส่งผู้แทน 4 ท่านเข้าชี้แจ้งตามข้อร้องเรียนกับอนุกรรมาธิการศาสนาอิสลาม ในคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร ซึ่งมี นายฮอชาลี ม่าเหร็ม เป็นประธานโดยมีมติให้รอผลสรุปจากทางรัฐมนตรีก่อน หากยังไม่ได้ข้อยุติทางอนุกรรมาธิการจะดำเนินการต่อ
4 เมษายน 2554 กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติทำหนังสือที่ กมส.054040411/2554 ส่งถึงนายกรัฐมนตรี สอบถามความคืบหน้าการดำเนินการตามเรื่องร้องเรียนการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบของข้าราชการ (คือผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก) ในการออกคำสั่งขัดกับระเบียบของกระทรวง หลังจากที่เรื่องนี้ถูกส่งไปยังสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานแล้วตามหนังสือตอบกลับที่ นร.0105.04/86955 รหัสเรื่องที่ นร.01530021730 แต่เรื่องยังคงเงียบ และไม่เคยมีการเรียกนายซักรียา สุขจันทร์ ฝ่ายกฏหมายกลุ่มมุสลิมเพื่อสันติเข้าชี้แจ้งข้อร้องเรียนแต่อย่างใด
ในวันเดียวกันกลุ่มมุสลิมเพื่อสันติได้ทำหนังสือถึงนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ที่ กมส.054040412/2554 สอบถามความคืบหน้าในการดำเนินการหลังจากการประชุมร่วมเมื่อวันที่ 9 มีนาคม
7 เมษายน 2554 นายสมพร หนูนุ่ม เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ได้มีหนังสือเลขที่ วธ.0102/886 ระบุว่าเรื่องดังกล่าวนั้น ทางกระทรวงวัฒนธรรมได้เรียนให้นายกรัฐมนตรีพิจารณามอบให้สำนักพุทธศาสนาแห่งชาติเป็นผู้ประสานงานและดำเนินการตามมติของที่ประชุม (ที่ประชุมร่วมเมื่อวันที่ 9 มีนาคม)
11 เมษายน 2554 กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติได้ทำหนังสือที่ กมส.054041115/2554 ถึงนายกรัฐมนตรีสอบถามความคืบหน้ากรณีปัญหาฮิญาบโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก หลังได้รับหนังสือแจ้งจากกระทรวงวัฒนธรรม
ในวันเดียวกัน กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติได้ทำหนังสือที่ กมส.054040413/2554 ถึง ประธานคณะอนุกรรมาธิการศาสนาอิสลาม สภาผู้แทนราษฎร (นายฮอชาลี ม่าเหร็ม) เพื่อแจ้งผลการดำเนินการของกระทรวงวัฒนธรรมตามหนังสือที่ วธ.0102/886 ให้ทราบ พร้อมเร่งรัดให้ดำเนินการกรณีดังกล่าวในส่วนของอนุกรรมาธิการศาสนาอิสลาม สภาผู้แทนราษฎร
20 เมษายน 2554 กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติได้ทำหนังสือที่ กมส.054042025/2554 ถึง นายอภิชาติ การิกาญจน์ ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา สภาผู้แทนราษฎร ร้องเรียนกรณีโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอกออกคำสั่งขัดกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ โดยขอให้ช่วยแก้ไขปัญหาดังกล่าวด่วนที่สุด ซึ่งกรรมาธิการการศึกษาได้มีมติให้สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐานรับเรื่องไปดำเนินการเป็นการด่วน
24 เมษายน 2554 กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติได้จัดสัมมนาเรื่อง “สิทธินักเรียนมุสลิม ในโรงเรียน” เพื่อให้ความรู้กับผู้นำศาสนา ผู้นำชุมชน ครู นักเรียน และประชาชนทั่วไป พร้อมยกตัวอย่างกรณีของโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอกเป็นกรณีศึกษา
29 เมษายน 2554 โรงเรียนเรียกผู้ปกครองของเด็กนักเรียนที่ต้องการคลุมฮิญาบไปเรียนหนังสือตามหลักการศาสนาอิสลาม ซึ่งสอดคล้องกับระเบียบกระทรวงว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 ให้เข้าพบและอ้างว่ายังไม่มีผู้ใหญ่สั่งการลงมาโรงเรียนจึงไม่กล้าดำเนินการใดๆ ขอให้เด็กถอดผ้าคลุมฮิญาบไปโรงเรียนก่อน ทั้งยังขู่ว่าหากคลุมฮิญาบไปจะถูกกักตัวไว้ที่ห้องปกครอง
9 พฤษภาคม 2554 เป็นวันเปิดเรียนปีการศึกษา 2554 ของโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอกกลุ่มมุสลิมเพื่อสันติและพี่น้องจำนวนหนึ่งร่วมแสดงพลังในการให้กำลังใจนักเรียนมุสลิมะฮฺที่ยืนยันว่าจะไม่ยอมทำผิดต่อหลักการศาสนาในการถอดฮิญาบไปเรียนหนังสือ แม้จะถูกข่มขู่จากทางโรงเรียนก็ตามโดย ดร.ประพนธ์ หลีสิน ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอกได้ยืนยันกับเด็กนักเรียนต่อหน้าผู้แทนครู นักเรียน และผู้ปกครองของเด็กว่า ถ้าเด็กนักเรียนคลุมฮิญาบตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 มาเรียนหนังสือจะถูกลงโทษตามระเบียบของโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก
ในวันเดียวกันผู้แทนกลุ่มมุสลิมเพื่อสันติส่งหนังสือร้องเรียนไปที่ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ ในฐานะผู้รักษาระเบียบตามกฏหมาย ในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551 หลังจากที่โรงเรียนยืนยันในคำสั่งของโรงเรียนที่ขัดกับระเบียบดังกล่าว
ในวันเดียวกันผู้ปกครองผู้รับมอบอำนาจ และฝ่ายกฏหมายกลุ่มมุสลิมเพื่อสันติได้เข้าแจ้งความดำเนินคดีกับ ดร.ประพนธ์ หลีสิน ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอก ในความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ในการออกคำสั่งขัดกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยเครื่องแบบนักเรียน พ.ศ.2551
10 พฤษภาคม 2554 มหาวิทยาลัยมหิดลจัดสานเสวนาเรื่อง ความหลากหลายทางศาสนา และวัฒนธรรม กรณีนักเรียนมุสลิมคลุมฮิญาบในโรงเรียน ดร.ประพนธ์ หลีสิน ผู้อำนวยการโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอกไปร่วมงานช่วงสั้นๆ เมื่อพูดเสร็จก็เดินทางกลับ
ในเย็นวันเดียวกันนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เรียกนายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานเข้าพบพร้อมมอบนโยบายให้มาแก้ปัญหาที่โรงเรียนห้ามนักเรียนมุสลิมคลุมฮิญาบดังกล่าว ให้เป็นไปตามระเบียบและอยู่ร่วมกันได้
11 พฤษภาคม 2554 ฝ่ายกฏหมายของกระทรวงศึกษาธิการร่วมประชุม และแจ้งให้โรงเรียนมัธยมวัดหนองจอกนัดทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้มาร่วมประชุมกับ นายชินภัทร ภูมิรัตน ซึ่งทางโรงเรียนฯ ได้โทรบอกผู้ปกครองของเด็กที่ต้องการคลุมฮิญาบให้เข้าประชุม โดยสั่งให้เด็กต้องไม่คลุมฮิญาบมาร่วมประชุม แต่ทางโรงเรียนฯ ไม่ได้แจ้งให้กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติ ในฐานะผู้แทนของผู้ปกครองเด็กทราบว่ากลุ่มมุสลิมเพื่อสันติได้รับเชิญเข้าร่วมประชุมด้วย
12 พฤษภาคม 2554 ที่ปรึกษากลุ่มมุสลิมเพื่อสันติได้รับแจ้งจากนิติกรของคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ว่าทางกลุ่มฯ ได้รับเชิญให้ร่วมประชุมด้วยในฐานะผู้เกี่ยวข้อง ผู้แทนของกลุ่ม 3 ท่านจึงเข้าร่วมประชุมด้วย โดยได้ข้อสรุปจากการประชุมว่าโรงเรียน และสำนักงานมัธยมศึกษาเขต 2 ตีความกฎหมายคลาดเคลื่อนไปจากข้อกฏหมายที่ถูกต้อง ทำให้คำสั่งของโรงเรียนฯขัดกับระเบียบกระทรวงศึกษาธิการ
แต่เนื่องจากโรงเรียนได้สร้างความเข้าใจผิดให้เกิดขึ้นมาตลอดในช่วงระยะเวลากว่า 7 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ยังคงมีกระแสต่อต้านจากครูและนักเรียนบางส่วนอยู่ จึงมีข้อตกลงร่วมให้ตั้งกรรมการ 3 ฝ่ายขึ้นมาแก้ปัญหาความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนที่โรงเรียนได้สร้างไว้ โดยกรรมการ 3 ฝ่ายประกอบด้วย ฝ่ายคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ฝ่ายโรงเรียน และฝ่ายผู้ปกครอง
โดยมีผู้แทนฝ่ายละ 3 ท่าน และให้มีที่ปรึกษาศาสนาอิสลาม 1 ท่าน และศาสนาพุทธ 1 ท่าน ทำงานในกรอบเวลาไม่เกิน 3 เดือน
โดยมีนายชินภัทร ภูมิรัตน เป็นประธาน โดยในระหว่างนี้ โรงเรียนต้องจัดการศึกษาในระบบการศึกษาตามอัธยาศัยให้กับนักเรียนที่บ้านโดยที่ไม่ถือว่าเด็กขาดเรียน และโรงเรียนต้องส่งแผนการเรียนให้เด็ก ซึ่งเด็กยังคงสถานะเป็นนักเรียนของโรงเรียนมัธยมวัดหนองจอกอยู่
18 พฤษภาคม 2554 กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติได้ตั้งกรรมการร่วมในฝ่ายผู้ปกครองประกอบด้วย อ.ยงยศ เกตุเลขา, อ.ยะห์ยา ทองทา, ทนายฮานีฟ หยงสตาร์ โดยมี เชคริฏอ อะหมัด สมะดี เป็นที่ปรึกษาฝ่ายศาสนาอิสลาม
ทั้งนี้ขั้นตอนต่างๆ เป็นการดำเนินการโดยสงบ สันติ เน้นการเจรจาทำความเข้าใจเป็นหลักมาโดยตลอด แต่เนื่องจากมีกลุ่มหัวรุนแรงบางกลุ่มพยายามบิดเบือนข้อมูลดังกล่าว สร้างเรื่องใส่ร้ายเพื่อใช้เรื่องนี้เป็นประเด็นหวังจุดกระแสความขัดแย้งทางศาสนาขึ้นในสังคมไทย จึงทำให้หลายฝ่ายเกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนในข้อเท็จจริง
ด้วยเหตุนี้กลุ่มมุสลิมเพื่อสันติจึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงข้างต้นพร้อมอ้างเอกสารหลักฐานซึ่งสามารถตรวจสอบได้จากส่วนราชการดังที่ระบุในรายละเอียด เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในสังคม อันจะทำให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ดังเดิม และร่วมเป็นกระบอกเสียงและส่งต่อเรื่องราวดังกล่าวแก่เพื่อนๆของท่านด้วย
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1810 ครั้ง