สำหรับสายเลือดลูกน้ำเค็มของชาวประมงบ้านเกาะเตียบในอ่าวทุ่งมหา อ.ปะทิว จ.ชุมพรนั้น ทะเลเปรียบได้ดังบ้าน และขุมทรัพย์แห่งชีวิต
ชาวบ้านบ้านเกาะเตียบแทบทุกหลังคาเรือนประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน การดักลอบปูม้าเป็นอีกหนึ่งอาชีพของคนที่นี่ ในวันที่อากาศปลอดคลื่นลมมรสุม เรือประมงพื้นบ้านออกไปวางลอบดักปูไว้กลางทะเลตั้งแต่เย็นวาน เช้าวันรุ่งขึ้นจึงกลับมากู้และกลับเข้าฝั่งพร้อมปูม้าและปูอื่นๆ ที่พร้อมต้มแกะเนื้อและส่งขาย
วันนี้ทรัพยากรทางทะเลอย่างปูม้าในอ่าวทุ่งมหาอุดมสมบูรณ์ ไม่นับเรื่องสภาวะอากาศช่วงมรสุมที่ชาวบ้านบอกว่าจะจับปูได้มากกว่าวันอื่นๆ ที่ท้องฟ้าปลอดโปร่งคลื่นลมไม่แรง วางลอบตรงจุดไหนก็ติดปูม้าขึ้นมาทุกครั้ง นั่นเพราะชาวประมงที่นี่ตระหนักถึงการอนุรักษ์ฟื้นฟูปูม้าด้วยวิธีการที่ยั่งยืน หลังจากเคยได้รับบทเรียนวิกฤตด้านทรัพยากรทางทะเลที่ร่อยหรอเมื่อปีพ.ศ.2544
จาง ฟุ้งเฟื้อง วัย 71 ปี ผู้เฒ่าแห่งท้องทะเลบ้านเกาะเตียบ ผู้ทำอาชีพประมงมาทั้งชีวิต ได้พบเห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งดีและร้าย เคยเผชิญหน้ากับวิกฤตทรัพยากรทางทะเลในอ่าวทุ่งมหาที่ร่อยหรอ จนกระทั่งส่งผลต่ออาชีพและรายได้
ลุงจางเล่าว่า “ปี 2544 ปูหายหมด เรียกว่าไม่มีให้เราขาย แค่มีพอบริโภคในครัวเรือน ตอนนั้นมีปัญหาเรืออวนลากเข้ามาหากินในทะเลบริเวณอ่าวทุ่งมหา เรือพวกนี้เขาใช้ลอบตาถี่ขนาด 1 นิ้ว 2 หุน เรียกได้ว่าเป็นลอบทำลายล้าง ทำให้สัตว์น้ำไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ติดอวนไปหมด อย่างปูตัวเต็มวัยก็ติดลอบ ปูตัวเล็กๆ วัยอนุบาลก็ติดมาด้วย ทำให้จำนวนสัตว์น้ำในอ่าวทุ่งมหาช่วงนั้นลดลงมาก ชาวประมงบางคนทำกินไม่ได้ก็ต้องย้ายถิ่น บางคนก็หันไปทำอย่างอื่น เดือดร้อนกันมาก”
“ปี”45 ผมกับชาวบ้านก็อยู่ไม่ได้ เพราะเรามีอาชีพจับปูขาย ผมมานั่งคิดว่าเราจะมีวิธีไหนได้บ้างที่จะไม่ให้ปูหมดไปมากกว่านี้ ปูไข่นอกกระดองที่พร้อมจะวางไข่สืบพันธุ์ตัวที่เราจับมาได้ เราน่าจะลองเลี้ยงในกระชังกลางทะเลเพื่อให้ปูปล่อยไข่คืนสู่ทะเล ผมจึงหาเพื่อนสมาชิกผู้ทำอาชีพจับปูเหมือนกัน ทดลองเลี้ยงแม่ปูในกระชัง 1 ลูก หลังจากนั้นก็เพิ่มกระชังขึ้น ร่วมมือกันทำธนาคารปูขึ้น สมาชิกคนไหนจับปูมาได้ก็เอามาใส่กระชังรวมให้อาหารและเลี้ยงแม่ปูให้ปล่อยไข่ให้หมด แล้วจึงคืนปูตัวนั้นๆ ให้เจ้าของนำไปขายต่อไป
นอกจากจะทำธนาคารปู ผมยังรณรงค์ให้เพื่อนสมาชิกใช้ลอบตาห่างขนาด 2.5 นิ้ว มาใช้แทนลอบทำลายล้างอย่างลอบตาถี่ เพื่อเป็นมิตรต่อสัตว์น้ำทุกชนิดด้วย”
ผลจากการอนุรักษ์ของลุงจางและชาวบ้านกลุ่มสมาชิกเห็นผลเป็นที่น่าพอใจ ปูม้าเพิ่มจำนวนมากขึ้น นับจากเริ่มต้นแนวคิดการอนุรักษ์อย่างยั่งยืน รวมเวลากว่า 8 ปีแล้ว วันนี้ธนาคารปูม้าของลุงจากได้รับการตอบรับอย่างดี
“คำขวัญของธนาคารปูคือฟื้นฟูคู่อนุรักษ์ รู้จักใช้อย่างยั่งยืน คำว่าฟื้นฟูหมายถึงว่าเราได้แม่ปูไข่นอกกระดองหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ไข่ลากทราย เราจะนำมาใส่กระชังเพื่อให้แม่ปูวางไข่เพื่อขยายพันธุ์ ทีนี้เมื่อได้ลูกปูเยอะๆ แล้ว เราก็ต้องดูแลให้เขาเจริญเติบโต และเราต้องใช้เครื่องมือที่เป็นมิตรกับทรัพยากร เมื่อเราได้ทำอย่างนี้แล้วได้แม่ปูไข่นอกกระดองเราก็เอามาใส่ในกระชัง เมื่อใส่กระชังแม่ปูก็วางไข่ มันจะเป็นวัฏจักร เป็นลูกโซ่หมุน เรียกว่าใช้อย่างไม่มีวันหมด ใช้อย่างยั่งยืน”
ส่วนเด็กรุ่นใหม่ ลูกหลานชาวเล หลานสาวของลุงจางอย่าง น้องเมย์ ด.ญ.เฟื่องฟ้า สกุลนุ่ม วัย 12 ขวบ เด็กน้อยก็ตระหนักถึงการร่วมกันดูแลทรัพยากรท้องทะเลเช่นกัน
“ตาของหนูทำธนาคารปูมานานแล้ว โดยเอาแม่ปูไข่ไปปล่อยในธนาคารให้มันวางไข่ตามธรรมชาติ” น้องเมย์เล่ารูปแบบการอนุรักษ์ของลุงจางและชาวบ้านคนอื่นๆ
ปูม้าตัวเมียสีน้ำตาลไม่สดใสสีสวยด้วย กระดองสีฟ้าเหมือนตัวผู้ แต่สีสันของไข่นอกกระดอง หรือที่เรียกว่าไข่ลากทรายดึงความสนใจของเด็กๆ ได้
น้องดาว ด.ญ.มะลิวัลย์ ฟุ้งเฟื่อง วัย 8 ขวบ ติดใจในสีสันของไข่ปูที่เป็นสีส้ม ลูกทะเลอย่างน้องทราย มีความรู้เรื่องระยะไข่ปูด้วย เด็กหญิงบอกเสียงเจื้อยแจ้วถึงลักษณะและสีสันของไข่ปูตามช่วงเวลา ก่อนที่แม่ปูจะปล่อยไข่ว่า
“แม่ปูมีไข่ทั้งหมด 4 สี สีเหลืองอยู่กับเรา 2 วัน สีส้มอยู่กับเราอีก 2 วัน สีเทาอยู่กับเราอีก 2 วัน สีดำอยู่กับเราอีก 1 วัน พอจับปูมาได้แล้วเอาไปปล่อยในธนาคาร ปล่อยเพื่อให้ไข่มันหลุดก่อน เป็นลูกมัน ตอนโตมันก็จะเป็นปูม้าค่ะ”
เด็กหญิงเล่าถึงช่วงเวลาแต่ละขั้นของสีไข่ปู ในช่วงเวลา 7 วันนี้แม่ปูไข่จะได้รับการดูแลเป็นพิเศษจากเจ้าของกระชังแต่ละเจ้า
เรือประมงแล่นออกจากฝั่งไม่ไกลนัก กระชังปูลอยอยู่กลางทะเลหลายลูก เมย์เล่ากิจวัตรของเจ้าของกระชังปูแต่ละคนให้ฟังว่า
“เดี๋ยวนี้เขาจะแยกกัน แต่บางคนก็เอากระชังไว้รวมกัน กระชังของบางคนก็อยู่ใกล้ๆ ฝั่งไม่ต้องออกไปไกล เวลาให้อาหารจะได้ไม่ต้องยุ่งยากค่ะ เวลากู้ลอบได้แม่ปูไข่มาเขาจะเอามาใส่ไว้ในกระชังของตัวเอง แล้วเขาจะเอาเหยื่อมาให้ปู อาหารที่มันชอบคือปลา แล้วก็ดูว่าตัวไหนออกไข่หมดแล้ว เขาก็จะจับไปขายต่อไปค่ะ บางคนก็เอาไปทีละตัว บางคนก็รอให้ออกไข่หมดพร้อมกันแล้วจับขึ้นไปพร้อมกันก็มีค่ะ”
ไข่ปูม้านับแสนฟองกำลังจะได้กลับคืนสู่บ้านแห่งท้องทะเล รอวันเติบโตเป็นปูม้าต่อไป
เด็กๆ ลูกหลานชาวเลเข้าใจคุณค่าการมีอยู่ของทรัพยากรและข้อดีของการอนุรักษ์ที่ยั่งยืน
ติดตามรายการทุ่งแสงตะวัน ตอน ธนาคารในทะเล ออกอากาศวันที่ 20 มี.ค. เวลา 06.25 น. ทางช่อง 3 http://www.payai.com/
ที่มา:ข่าวสดรายวัน
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 2778 ครั้ง