ที่อาคารประชาธิปก รำไพพรรณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการเสวนา “รัฐบาลใหม่กับแนวทางแก้ปัญหาไฟใต้” โดยมีตัวแทนจาก 6 พรรคการเมืองเข้าร่วม ประกอบด้วย นายถาวร เสนเนียม ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์, นพ.แวมาฮาดี แวดาโอะ ตัวแทนจากพรรคแทนคุณแผ่นดิน, พล.ต.ท.ฉลอง สนใจ ตัวแทนพรรคเพื่อไทย, นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ ตัวแทนพรรคมาตุภูมิ, นายมูฮำมัดซูลฮัน ลามะทา ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา, พล.ท.ดร.สมชาย วิรุฬหผล ตัวแทนพรรคความหวังใหม่
โดยนายถาวรกล่าวว่า แนวทางที่พรรคประชาธิปัตย์เสนอมาตลอด และดำเนินการในช่วงที่เป็นรัฐบาลก็คือ การสนับสนุนการกระจายอำนาจผ่าน ศอ.บต. โดยให้ประชาชนในพื้นที่มีส่วนร่วมในการจัดการปัญหา ร่วมกับผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และตัวแทนฝ่ายต่างๆ เข้ามาร่วมกำหนดแนวทางในการจัดการ
“นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์เราต้องการเน้นใช้สันติวิธีเป็นหลัก ส่วนเรื่องกำลังทหารเราต้องการให้มีอาสาสมัครประจำถิ่นและกองกำลังประจำถิ่นเป็นหลัก เพราะคนที่มาจากต่างถิ่นมักจะไม่รู้จักกับสถานที่ ประเพณี และวัฒนธรรม ดีเท่ากับคนในพื้นที่” นายถาวรกล่าว
ขณะที่ พล.ต.ท.ฉลอง กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยยึดแนวทางตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา ความยุติธรรมเป็นปัญหารากเหง้าของปัญหาภาคใต้ เพราะเรื่องความเป็นธรรม ทั้งเรื่องการเมืองหรือเรื่องสังคม รัฐบาลที่ผ่านมาส่งใครไม่รู้ไปดูแลภาคใต้ จึงทำให้ไม่เข้าใจพื้นที่อย่างจริงจัง หากเป็นรัฐบาลจะใช้รูปแบบการเจรจากับภาคประชาสังคมและผู้นำชุมชนเป็นพื้นที่สันติสุขนำร่องขยายออกไปจนครบทุกอำเภอ
ด้านนายมูฮำมัดซูลฮันกล่าวว่า พรรคชาติไทยพัฒนามีแนวคิดที่จะปรับจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีรูปแบบคล้ายสหพันธรัฐ โดยอาจยกระดับ ศอ.บต.ให้สามารถดูแลพื้นที่ได้มากขึ้น และครอบคลุมในปัญหาที่แตกต่างของแต่ละพื้นที่มากขึ้น ทั้งนี้ ศอ.บต.ต้องพยายามถ่ายโอนภารกิจให้กับท้องถิ่นมากขึ้น ให้นอกเหนือจากการรวมศูนย์อำนาจไว้อย่างเดียว เพราะจะทำให้ท้องถิ่นไม่พร้อมกับการจัดการตนเองในอนาคต
ส่วนนายแวมาฮาดีกล่าวว่า จะต้องยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นอันดับแรก เพราะสถานการณ์มันเปลี่ยนไป ขบวนการก่อการร้ายนั้น ไม่สำคัญเท่ากับชาวบ้านที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม และจะต้องทำให้ประชาชนสามารถพึ่งตัวเองได้มากที่สุด รวมทั้งสนับสนุนให้มีศาลยุติธรรมในพื้นที่ และปรับโครงสร้าง ศอ.บต.ให้มีเอกภาพและมีส่วนร่วมจากประชาชน
พล.ท.ดร.สมชายกล่าวว่า ต้องลดการจัดการอำนาจส่วนกลางลง และเพิ่มความเข้มแข็งของท้องถิ่นมากขึ้น เพราะท้องถิ่นจะดำเนินการสนองความต้องการของตนเองได้ดีกว่า และยึดหลักการสานเสวนาและหลักสันติภาพ ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนมากกว่าวิธีอื่น
ขณะที่นายอารีเพ็ญกล่าวว่า หากพรรตมาตุภูมิได้เป็นรัฐบาล จะมีการปกครองพิเศษ โดยสิ่งที่จะแก้ไข คือ 1.ต้องอยู่บนพื้นฐานที่มีความจริงใจ 2.ความเป็นไปได้ และ 3.คำนึงถึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับ
ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า นโยบายของพรรคประชาธิปัตย์ต้องมีการกระจายอำนาจ คนในพื้นที่มีส่วนรวมมากยิ่งขึ้น เป็นทิศทางที่เราเดินหน้ามาตลอด โครงสร้างของศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ใหม่ ก็มีสภาที่ปรึกษาที่มีตัวแทนจากทุกภาคส่วน และแผนต่อไปคือองค์กรท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น อบต., อบจ., เทศบาล ก็ต้องได้รับอำนาจมากขึ้น
นายอภิสิทธิ์บอกว่า ถ้าเขาตกลงกันเองในการยุบรวม หรือข้อเสนอของคนในพื้นที่ ก็จะมีการพิจารณา แต่การกระโดดไปเป็นรูปแบบทันที อย่างเมืองพัทยานั้น อบต., เทศบาล, อบจ. จะหายไปทันที เพราะเป็นแนวทางการทำองค์กรปกครองท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ
“ผมสันนิษฐานว่าองค์กรนี้จะตั้งอยู่ในจังหวัดปัตตานี คนที่อยู่เบตง อยู่ที่สุไหงโก-ลก จากเดิมที่เคยมี อบต., เทศบาล, อบจ. ที่ค่อนข้างใกล้พื้นที่ของตัวเอง ต่อไปก็ขึ้นอยู่ที่ปัตตานีหมด ผมยังมองไม่เห็นว่าจะไปตอบโจทย์ของการที่จะให้แต่ละคนได้รับการดูแลและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างไร มันเป็นเพียงการพูดในเชิงสัญลักษณ์มากกว่าที่จะเป็นการตอบชีวิตจริง” นายอภิสิทธิ์กล่าว
เขาระบุว่า พรรคประชาธิปัตย์จะทำให้ อบต., เทศบาล, อบจ. มีอำนาจมากขึ้น เขามีช่องทางพิเศษในการนำเสนอนโยบายผ่านสภาที่ปรึกษาตามโครงสร้าง ศอ.บต.ใหม่ และเราก็ได้พิสูจน์ให้เห็นว่าเมื่อเหตุการณ์คลี่คลายได้ เราก็สามารถยกเลิกกฎหมายพิเศษ เช่นที่ อ.แม่ลาน จ.ยะลา และใน 4 อำเภอจังหวัดสงขลาได้ และเราก็ไม่ย้อนกลับไป ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศยอมรับว่าทำผิดพลาด
ส่วนเขตปกครองพิเศษที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์พูดถึงนิคมอุตสาหกรรมนั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า เราจะชูการทำเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบ้าน ซึ่งโครงการที่เราทำขณะนี้ เช่น โครงการพัฒนาชุมชนสันติสุขตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง หลายพื้นที่ประสบความสำเร็จมาก อย่าไปคิดแทนเขา เพราะบางทีการเอาอุตสาหกรรมหนักเข้าไป จะกลายเป็นความขัดแย้งของคนในพื้นที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความแตกต่างค่อนช้างชัดระหว่างเพื่อไทยกับประชาธิปัตย์
“การเสนอเขตปกครองพิเศษของพรรคเพื่อไทยนั้น ผมไม่กลัวว่าจะเป็นการดึงคะแนนในส่วนของภาคใต้ เพราะอย่างการโฆษณาเรื่องอุตสาหกรรมหนักเราไม่เอา เพราะคนภาคใต้ควรที่มีแหล่งท่องเที่ยว และมีหลักประกันว่าจะไม่เจอกับความเสี่ยงที่ทรัพย์สินถูกทำลาย ไม่ว่าจะเกิดจากอุบัติเหตุอะไรก็ตามจากการมีปิโตรเคมีหรืออุตสาหกรรมหนักเข้าไป” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ด้าน นางยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงการลงพื้นที่หาเสียงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เมื่อวันที่ 14 มิ.ย.ที่ผ่านมาว่า มีกระแสตอบรับดี แต่ก็ไม่คาดหวังเรื่องจำนวน ส.ส.ในภาคใต้ เพราะไม่ได้เป็นพื้นที่ฐานเสียง ส่วนจะลงพื้นที่ภาคใต้อีกหรือไม่ ก็ต้องขอดูเวลาก่อน เพราะเหลือเวลาอีกไม่มากก่อนการเลือกตั้ง
เธอบอกว่า ไม่ขอวิพากษ์วิจารณ์ในกรณีที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่าพรรคเพื่อไทยลงพื้นที่ภาคใต้เป็นเพียงการสร้างภาพ แต่มีความจริงใจ อยู่ภาคใดก็เป็นคนไทยเหมือนกัน
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 2024 ครั้ง