มาตุภูมิ 26 เสียง …หวังเพียงแค่มุสลิมยังไม่พอ
นักการเมืองมุสลิม ที่อาสาเข้ามาทำงานเพื่อคนมุสลิม “ พรรคมาตุภูมิ” ดูเหมือนจะเป็นพรรคการเมืองเดียว ที่มีหัวหน้าพรรคเป็นมุสลิมและมีโอกาสที่ผู้สมัครของพรรคได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเป็นกอบเป็นกำ ที่จะสร้างพลังต่อรองทางการเมืองได้มากพอ แต่เป้าหมาย ที่พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ตั้งไว้ 26 เสียงตามหมายเลขผู้สมัคร พึ่งพามุสลิมเพียงอย่างเดียว ไม่เพียงพอ….
ส.ส.มุสลิมกระจายขาดอำนาจต่อรอง
ประเทศไทยมีมุสลิม ประมาณ 6 ล้านคน หรือ 10% ของประชากรทั้งประเทศ กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ แต่ไม่สามารถรวมกันอย่างมีเอกภาพ เพื่อขับเคลื่อนสังคมมุสลิมได้อย่างมีพลัง มีอำนาจต่อรองทางการเมืองสูงเพียงพอที่จะผลักดันความต้องการของมุสลิมได้ สภาผู้แทนราษฎรสมัยที่ผ่านมา มี ส.ส.มุสลิมทุกพรรค รวมกัน 26 คน กระจายไปอยู่เกือบทุกพรรคการเมือง ประชาธิปัตย์ มีจำนวน ส.ส.มุสลิมมากที่สุด กว่า 10 คน พรรคเพื่อแผ่นดิน พรรคเพื่อไทย พรรคมาตุภูมิ พรรคชาติไทยพัฒนา มีจำนวน ส.ส.ลดหลั่นกันไป แต่พวกเขาไม่สามารถผลักดันกฎหมายเพื่อคนมุสลิมได้แม้แต่ฉบับเดียว
ในสมัยประชุมของสภาผู้แทนราษฎร มีกฎหมายที่จะยังประโยชน์ต่อสังคมมุสลิมหลายฉบับรอเข้าสู่วาระการพิจารณา แต่สุดท้ายก็ถูกเลื่อนแล้วเลื่อนอีก จนต้องตกไปในที่สุดเมื่อมีการยุบสภา กฎหมายฉบับหนึ่ง ที่ผลักดันโดยนักวิชาการมุสลิม ดร.อิศรา ศานติศาสน์ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬ่าลงกรณ์มหาวิทยาลัย คือกฎหมายจัดตั้งกองทุนซะกาต ซึ่งอ.อิศรา ได้ผลักดันมาตั้งแต่สมัยรัฐบาล คมช. แต่ไม่สามารถข้ามฝ่าความขัดแย้งของมุสลิม 2 ฝ่ายไปได้ ตกไปในชั้นของคณะกรรมการกฤษฎีกา
จนเมื่อมีสภาผู้แทนราษฎร อ.อิศรา ได้ประสานกับ ส.ส.มุสลิมทุกพรรค มีการประชุมสัมมนาร่วมกันหลายครั้ง จนมีการผลักดันร่างเข้าสู่สภาฯ แต่ด้วยเป็นกฎหมายการเมือง ขั้นตอนการรอนายกฯ ลงนามจึงกินเวลานาน เมื่อเข้าสู่สภาฯ ก็ถูกกฎหมายหลายฉบับแซงหน้าไป จนต้องตกไปในที่สุด ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะหากกฎหมายฉบับนี้ผ่านสภา ก็จะมีกองทุนขนาดใหญ่เข้ามาดูแลพี่น้องมุสลิมที่ด้อยโอกาส
ไม่อาจผลักดันกม.เพื่อมุสลิมได้
น่าเสียดายที่พลังของ ส.ส.มุสลิม มีน้อยเกินไปที่จะผลักดันกฎหมายกฎหมายที่เป็นประโยชน์เพื่อสังคมมุสลิม แม้จะมี 26 เสียง แต่การกระจายไปอยู่หลายพรรค จึงขาดเอกภาพในการขับเคลื่อน ยังขาดคนที่มีเสียงดังเพียงพอ
ไม่เพียงการจัดตั้งกองทุนซากาต ยังมีกฎหมายอีกหลายฉบับที่รอการผลักดัน อาทิ การแก้ไขกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในส่วนที่เกี่ยวกับครอบครัวและมรดกตามหลักชารีอะห์ ที่เคนประกาศใช้แต่ถูกยกเลิกไป การแก้ไขกฎหมายอัจญ์ที่เป็นปัญหาเรื้อรังมานานหลายสิบปี รวมถึงปัญหาที่รอการแก้ไข ทั้งปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่เป็นปัญหาต่อเนื่องยาวนาน ตั้งแต่ยุคทักษิณ ปัญหาความยากจน ปัญหาการศึกษา หรือแม้กระทั่งปัญหาอย่างการคลุมฮิญาบในโรงเรียน
ทั้งหลายทั้งปวงนี้ หาก ส.ส.มุสลิมในจำนวนที่มากพอ หากไม่มีคนที่มีบารมีมากพอ ก็ยากยิ่ง ที่ผลักดันให้การแก้ไขปัญหาประสบความสำเร็จ
เมื่อเป้าหมายเพื่อการพัฒนาสังคมมุสลิมอย่างเป็นระบบอย่างเข้าใจหลักการอิสลาม ซึ่งชัดเจนว่า คนที่ไม่ใช่มุสลิมย่อมไม่เข้าใจความต้องการของมุสลิมได้อย่างแท้จริง ดังเห็นได้จากการพัฒนาที่ผิดพลาดมาตลอด ดังนั้น สังคมมุสลิมจำเป็นต้องมีคนมุสลิมเข้ามาขับเคลื่อน ซึ่งในการเลือกตั้งครั้งนี้ มีมุสลิมลงสมัคร ส.ส.จำนวนมาก มีทั้งที่เป็นหัวหน้าพรรคการเมือง ลงสมัครปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 และคนที่ลงสมัคร ส.ส.ธรรมดาๆ
เปรียบเทียบมุสลิมทุกพรรค
เมื่อมีความจำเป็นที่มุสลิมจำเป็นต้องมีตัวแทนที่เป็นมุสลิมเข้าไปในปริมาณที่มากพอ เพราะไม่มีพลังในวุฒิสภาที่จะมาช่วย เพราะคณะกรรมการสรรหามองไม่เห็นความสำคัญตัดตัวแทนมุสลิมทิ้งไปทั้งหมด จึงต้องมาสแกนกันว่า นักการเมืองคนไหนพรรคไหนเหมาะสมที่ควรจะเลือกเข้ามา
พรรคการเมืองที่มีหัวหน้าพรรคเป็นมุสลิม มี พรรคมาตุภูมิ มีพล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน เป็นหัวหน้าพรรค มีพรรคประชาธรรม พรรคแทนคุณแผ่นดิน มี น.พ.แวมาหาดี แวดาโอะ เป็นผู้สมัคร ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่ออันดับ 1 ส่วนพรรคที่มีมุสลิม เป็นระดับแกนนำ ประชาธิปัตย์ มี เจะอามิง โตะตาหยง เป็นผู้รับผิดชอบผู้สมัคร ส.ส.ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พรรคชาติไทยพัฒนา นายธานินทร์ ใจสมุทร อดีต ส.ส.ประชาธิปัตย์ เป็นหัวหน้าทีมผู้สมัคร 5 จังหวัดภาคใต้ พรรคเพื่อไทย นายพิเชษฐ์ สถิรชวาล แม้ไม่ได้มีชื่ออยู่ในผู้สมัคร ส.ส.แต่มีชื่ออยู่ในบัญชี 2 เป็นผู้ดูแลผู้สมัครภาคใต้ฝั่งตะวันตก นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ดูแลผู้สมัคร ส.ส.ใน 3 จังหวัด แต่เป็นคนที่ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง จึงได้แต่อยู่เบื้องหลัง พรรคภูมิใจไทย มีอดีต ส.ส.นายนิมุกตาร์ วาบา เป็นแกนนำ
เจะอามิง แวมาหาดี ซูการ์โน นิมุกตาร์
สามารถ รถฤทธิชัย วันมูหะมัดนอร์
จากองคายพยพของแต่ละพรรค จะเห็นว่า พรรคมาตุภูมิ มี อดีตส.ส.หลุ่มวาดะห์ นายอารีเพ็ญ อุตรสินธุ์ นายนัจมุดดีน อูมา นายเด่น โต๊ะมีนา นายมุข สุไลมาน นายไพศาล ยิ่งสมาน และมีมุสลิมรุ่นใหม่ เข้ามาสมทบอีกหลายคน โดยในพื้นที่กรุงเทพฯและใกล้เคียงมี ภักดี มะแอ เป็นแกนนำ ในขณะที่พรรคประชาธรรม ส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่ ที่ทำงานที่พื้นที่ เป็นอุซตาดที่ใกล้ชิดกับชาวบ้าน ส่งผู้สมัครเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วน พรรคแทนคุณแผ่นดิน ดูเหมือนจะชูหมอแวเพียงคนเดียว ผู้สมัครส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นใหม่และไม่ส่ง ส.ส.เขตมาช่วยหาเสียง
ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ มีอดีต ส.ส.มุสลิมลงครบเกือบทุกคน ยกเว้นที่จังหวัดสงขลา ที่พรรคไม่ส่งอดีต ส.ส.ลงสมัคร อ้างว่า ขาดประชุมสภาฯอย่างต่อเนื่อง ที่เหลือไล่จากกรุงเทพฯ มีนายสมัย เจริญช่าง นายสามารถ มะลูลีม นางนาตยา เบญจศิริวรรณ เป็นต้น มีอดีต ส.ส.และคนรุ่นใหม่อีกจำนวนหนึ่ง จนไปถึง 4-5 จังหวัดที่มีผู้สมัครมุสลิมหนาแน่น
พรรคเพื่อไทย ที่เป็นอดีต ส.ส.มีนายซูการ์โน มะทา น้องชายนายวันนอร์ และอดีต ส.ส.จังหวัด พรรคภูมิใจไทย มีอดีต ส.ส.มุสลิมอีสาน นายรณฤทธิชัย คานเขต ยโสธร นางฟารีดา สุไลมาน สุรินทร์ ชาติไทยพัฒนา มีตระกูลฮาหวอซัน เป็นหลักในจังหวัดนราธิวาส
มาตุภูมิศักภาพเหนือกว่า
เมื่อพิจารณาโครงสร้างของแต่ละพรรค พรรคที่จะมีส.ส.มุสลิมเข้ามาเป็นกอบเป็นกำ จะมีพรรคมาตุภูมิกับพรรคประชาธิปัตย์ แต่เมื่อนำบุคคลของทั้ง 2 พรรค มาเทียบเคียงกันแล้ว ชื่อชั้นของ พล.อ.สนธิ บุณยรัตกลิน ดูจะโดดเด่นกว่า การเป็นมุสลิมที่ได้ก้าวสู่ตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ไม่ง่ายที่จะมีคนก้าวถึงระดับหนึ่ง คนที่สามารถก้าวขึ้นไปสาระดับนั้นได้แสดงว่า “ต้องไม่ธรรมดา” และไม่ธรรมดาเป็นคำรบ 2 เมื่อเขากล้ายึดอำนาจนายกฯที่มีอำนาจมากที่สุดอย่างพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร
หากพรรคมาตุภูมิได้เข้าร่วมรัฐบาล แน่นอนว่า พล.อ.สนธิ ย่อมได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง นั่นจะทำให้สามารถขับเคลื่อนอะไรได้มากกว่า และความเป็นผู้ใหญ่ การพูดของเขา น่าจะทำให้หัวหน้ารัฐบาลและพรรคร่วมรัฐบาลฟังมากกว่าคนที่อ่อนอาวุโส สามารถผลักดันอะไรเพื่อมุสลิมได้มากกว่า และที่สำคัญเขาได้ประกาศว่า จะเข้ามาทำงานเพื่อมุสลิม
ภักดี มะแอ อารีเพ็ญ พล.อ.สนธิ เด่น โต๊ะมีนา
มาติภูมิ จะก้าวสู่เป้าหมายได้อย่างไร
พล.อ.สนธิ ตั้งเป้าหมายกับพรรคมาตุภูมิ ประมาณ 20 เสียง หรืออย่างมาก คือได้รับการตามเบอร์ผู้สมัคร คือ 26 เสียง นั่นคือ เข็นกันเต็มที่แล้ว ซึ่งจะก้าวไปถึงจุดนั้นได้ สังคมมุสลิมจะต้องมองเห็นความสำคัญเป็นอันดับแรก และรวมพลังเทคะแนนให้พรรคมาตุภูมิทั้งหมด ซึ่งหากมุสลิมทั่วประเทศ 3-4 ล้านคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งลงคะแนนให้ปาร์ตี้ลิสต์ของมาตุภูมิทั้งหมด มาตุภูมิ จะมีส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อประมาณ 10-12 เสียง หรือมุสลิมครึ่งหนึ่งที่มีสิทธิ์เลือกตั้งเทคะแนนให้พรรคมาตุภูมิ จะมีส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อประมาณ 5 เสียง ตามประมาณการมีผู้ใช้สิทธิ์ 70% (ประมาณ 260,000 คนต่อ ส.ส. 1 คน) แต่คงเป็นได้ยาก มีมุสลิมเทเสียงให้ 2 ล้านคนก็ถือว่ามากแล้ว ซึ่งจะทำให้มาตุภูมิมี ส.ส.ประมาณ 8 คน
ภาคใต้ตอนล่างไม่มีปัญหา
จะมีมุสลิมที่ไหนบ้างลงคะแนนให้พล.อ.สนธิ และพรรคมาตุภูมิ เป็นคำถาม ที่ต้องหาคำตอบในแต่ละพื้นที่
มุสลิมทั่วประเทศ 6 ล้านคนนั้น กระจายอยู่ในหลายพื้นที่ ที่หนาแน่นอนที่สุด คือ 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส มีคนมีสิทธิ์เลือกตั้งไม่กว่า 2 ล้านคน รองลงมา สงขลา มีมุสลิมหนาแน่นที่จะนะ เทพา เป็นต้น มี ส.ส.มุสลิมได้ 1 คน แต่เป็นพื้นที่ที่ประชาธิปัตย์ยึดครอง ซึ่งใน 4 จังหวัดมาตุภูมิ ส่งส.ส.เขตลงสมัครครบทุกเขต และกระแสค่อนข้างแรง ได้รับการตอบรับค่อนข้างสูง
ภาคใต้ตอนกลางติดอิทธิพลปชป.
ถัดมา ตรัง กระบี่ ภูเก็ต นครศรีธรรมราช และพัทลุง 5 จังหวัด ความหนาแน่นของมุสลิมสามารถมีมุสลิมได้จังหวัดละ 1 คน เคยมีส.ส.มุสลิมที่นครศรีธรรมราช ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ ส่วนที่กระบี่ มีสมบูรณ์ สิทธิมนต์ เป็น ส.ส.ของประชาธิปัตย์และประชาชน แต่ภาคใต้ตอนกลางอยู่ในเขตอิทธิพลของพรรคประชาธิปัตย์ แม้พล.อ.สนธิ จะลงพื้นที่พบปะกับแกนนำและผู้นำศาสนาแล้วก็ตาม แต่การไม่มีส.ส.เขต ก็เป็นจุดอ่อนให้กระแสมาตุภูมิกระจายไปสู่ระดับตำบล หมู่บ้าน อีกทั้งมีกระแสที่ประชาธิปัตย์ต้องการแย่งชิง ส.ส.อันดับ 1 กับพรรคเพื่อไทย กระแสความเป็นมุสลิมอาจจะถูกมองข้าม แต่หากพยายามเข้าถึงจริงๆ ก็ยังมีโอกาส เพราะอย่างไรเสียความเป็นมุสลิมน่าจะคำนึงถึงมุสลิมด้วยกันมากกว่า ซึ่งการที่มาตุภูมิ วางยุทธศาสตร์ เน้นบัญชีรายชื่อมากกว่า ส.ส.เขตนั้น ทำให้คนเลือกไม่ลำบากใจมากนัก เพราะบางคนอาจผูกพันอยู่กับผู้สมัครเขตพรรคอื่น แบ่งๆคะแนนกันไป
จังหวัดที่มุสลิมหนาแน่นไม่มากนัก อย่างสุราษฎร์ธานี ระนอง พังงา ก็จำเป็นที่มาตุภูมิจะต้องเข้าถึงเช่นเดียวกัน เพราะแม้ไม่มาก แต่จังหวัดเหล่านี้ก็มีมุสลิมนับหมื่นคน อย่างสุราษฎร์ธานี การเลือกตั้งนายกฯอบจ. ก็จะมีตัวแทนมุสลิมลง 1 คน ถัดมาอีก ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี เลยถึงกาญจนบุรี มีมุสลิมประปราย มาหนาแน่นอีกที่ ที่กรุงเทพมหานคร มีมุสลิม 300,000-400,000 คน มี ส.ส.มุสลิมของประชาธิปัตย์อยู่ 3 คน ศักยภาพของภักดี มะแอ น่าจะช่วยสร้างกระแสได้รับดับหนึ่งแต่ก็ต้องทุ่มเทอย่างหนักเช่นกัน การพบปะเฉพาะแกนนำน่าจะไม่เพียงพอที่จะสร้างกระแสให้คนตระหนักได้
กทม.-ปริมณฑลเป้าหมายใหญ่
สมุทรปราการ ปทุมธานี นครนายก และนนทบุรี มีมุสลิมหนาแน่นเช่นเดียวกัน เลยถึงภาคเหนือ ที่แม่สอดจังหวัดตาก แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ เชียงราย มีมุสลิมประปราย เข้าถึงได้ไม่ยาก ส่วนในภาคอีสาน มุสลิมมีน้อยมาก หนาแน่นที่สุดคือ ขอนแก่นประมาณ 3,000 คน ส่วน ส.ส.มุสลิม 2 คนนั้น ไม่ได้เข้ามาเพราะความเป็นมุสลิม
แต่ละพื้นที่มีความแตกต่างกัน แต่มีความเหมือนกันอยู่ในความเป็นมุสลิม การเชื่อมมุสลิมที่กระจายอยู่ทั่วประเทศให้มาหลอมรวมกับมาตุภูมิ ดูจะเป็นงานหิน แต่มุสลิมส่วนใหญ่เชื่อมโยงกันอยู่แล้ว การบอกกล่าวกันแบบปากต่อปาก น่าจะได้ผล แต่อยู่ที่การสร้างกระแสขั้นต้นของพล.อ.สนธิเอง
อีสาน-ปากน้ำช่วยหนุน
แต่แม้มุสลิมทั่วประเทศเทให้มาตุภูมิ ได้ปาร์ตี้ลิสต์ 8-10 คน บวกกับเสียงในภาคใต้ 6-8 เสียง เสียงรวมกัน 14-18 เสียง ยังไม่ถึง 20 เสียงตามเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม มาตุภูมิ ก็มีความหลากหลายภายในพรรค พล.อ.สนธิ ยังมีเป้าหมายที่ สมุทรปราการ ที่ตระกูลอัศวเหม เริ่มฟื้นตัว หลังได้นายกฯอบจ. อาจได้ 2 ที่นั่ง ที่นครราชสีมา พ.ต.ท.สมชาย เพศประเสริฐ มีฐานเสียงแน่นปึ๊ก ที่อำเภอปากช่อง อยู่ที่ว่า จะดึงพวกมาได้ถึง 5 คนหรือไม่ ที่เหลือ ก็ยังมีที่ศรีสะเกษ ชลบุรี ที่มีคนตระกูล พิมพ์ใจชนลงสมัคร ชัยภูมิ เหล่านี้ น่าจะเพิ่มปาร์ตี้ลิสต์ได้ระดับหนึ่ง หากมาตุภูมิ ได้ 26 เสียง อำนาจต่อรองของมุสลิมจะสูงอย่างยิ่งกว่าทุกยุคทุกสมัย
ปัญหาอยู่ที่ว่า มุสลิมทั้งผองตระหนักในความสำคัญของความเป็นเอกภาพของนักการเมืองที่จำเป็นต้องรวมขั้วอยู่ในพรรคเดียวแค่ไหน…
มุสลิมต้องออกมาแบบถล่มทลาย เพราะโอกาสอย่างนี้ไม่รู้อีกนานแค่ไหนจะมีอีก!!!
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1500 ครั้ง