ผบ.ทบ.ชมสุวิทย์เยี่ยมหลังถอนตัวภาคีมรดกโลกสั่งทหารชายแดนไทย-เขมรเตรียมพร้อมรักษาอธิปไตย ด้านพันธมิตรฯประกาศยุติชุมนุม1กค.หลังไทยถอนตัวมรดกโลก ยกเป็นผลงานของ”สุวิทย์” พร้อมจี้รัฐทบทวนยกเลิกเอ็มโอยู43
สุวิทย์ คุณกิตติ
วันที่ 27 มิ.ย. นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนการเจรจามรดกโลกฝ่ายไทย เดินทางกลับถึงประเทศไทยแล้วตั้งแต่เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา โดยให้สัมภาษณ์ว่า หากไม่ตัดสินใจถอนตัวออกจากภาคีมรดกโลก ในอนาคตอาจถูกประณามว่าทำให้สูญเสียอธิปไตยของชาติและเราอาจต้องร้องให้อีก ถ้าไม่ทำอย่างนี้ อาจไม่สามารถป้องกันอธิปไตยได้
“เรื่องนี้ ครม.มีมติตั้งแต่ขอไว้คราวที่แล้ว เพราะเกรงว่าปัญหานี้จะเกิดขึ้นแล้วมันก็เกิดขึ้นจริงๆ ผมขอไว้ว่าถ้าการเจรจาถึงที่สุดแล้วอาจจะมีปัญหาผมขอถอนตัว และผมก็ตัดสินใจไปตามความจำเป็น และสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อที่จะดูแลอำนาจอธิปไตยของไทย ซึ่งก่อนหน้าตัดสินใจก็ถามนายกฯก่อนหน้าแล้ว ท่านนายกฯโทรมาถามความคืบหน้า ผมก็รายงานไป บอกว่ามีอยู่ 2-3ส่วน แต่ก็บอกว่าส่วนสุดท้ายผมอาจจะต้องดำเนินการอย่างนี้ ท่านก็บอกให้พยายามทำอย่างอื่นไปก่อน” นายสุวิทย์ กล่าว
นายสุวิทย์กล่าวอีกว่า หลังการถอนตัว ทางผู้ช่วยผู้อำนวยการใหญ่ ที่เคยเป็นผู้อำนวยการศูนย์มรดกโลกคนเดิม ที่เคยขึ้นทะเบียนพระวิหารเป็นมรดกโลก ขอร้องว่าอย่ายื่นหนังสือได้หรือไม่ ก็บอกไปว่าหากไม่ฟังเสียงของไทยเราไม่ยื่นหนังสือก็ไม่ได้ ทางฝ่ายโน้นช่วยทางกัมพูชามาตลอด คราวนี้ก็มาช่วยอีก ทั้งๆที่กรณีของเยรูซาเลมมีปัญหามาตั้ง 20 ปี ก็เลื่อนไปวันจันทร์ แต่ของเราให้เข้าประชุมทันที ส่วนของมรดกโลกที่ขึ้นทะเบียนไปแล้วว่าไม่กระทบกระเทือน แต่ที่ขึ้นใหม่เราก็ไม่เกี่ยวข้องด้วยแล้วและไม่จำเป็นต้องไปอาศัยเขา
ผบ.ทบ.สั่งทหารพร้อม
ด้านพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก เปิดเผยว่า ทหารเตรียมความพร้อมในการดูแลรักษาความปลอดภัยชายแดนไทย-กัมพูชาเอาไว้แล้วหลังจากที่ทางการไทยถอนตัวออกจากภาคีสมาชิกมรดกโลก ทั้งการติดตามด้านการข่าว และการสัญจรไปมา เพื่อรักษาอธิปไตยของชาติ และทั้ง 3 เหล่าทัพจะทำหน้าที่อย่างดีที่สุด พร้อมกันนี้ จะจัดส่งกำลังทหาร หมอและพยาบาล ไปทำความเข้าใจกับประชาชนตามแนวชายแดน เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนก
ภาพประกอบข่าว
“เมื่อไทยประกาศถอนตัวจากการเป็นภาคีแล้ว ก็จบ ตอนนี้ควรมาดูการพิจารณาของศาลโลกสั่งให้คุ้มครองหรือไม่ ส่วนความสัมพันธ์ของทหารทั้งสองประเทศขณะนี้ยังไม่ได้มีการพูดคุยกัน เนื่องจากเหตุการณ์เพิ่งเกิดขึ้น แต่ที่ผ่านมาหลังมีการปะทะกันก็ได้มีการพูดคุยกันมาตลอด แต่ทั้งสองฝ่ายก็ไม่ได้มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
หลังให้สัมภาษณ์ของผู้บัญชาการทหารบก ได้พบกับนายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนการเจรจามรดกโลกฝ่ายไทย ที่เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งได้เข้ามาทักทาย พร้อมกล่าวชื่นชมกับการทำหน้าที่ของนายสุวิทย์ว่า”เยี่ยม ที่ดำเนินการถอนตัว”
กลุ่ม ASTV เก็บของบกลับบ้าน
ขณะที่นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกกลุ่มเอเอสทีวี แถลงว่า หลังจากที่ไทยได้ถอนตัวออกจากการเป็นภาคีสมาชิกอนุสัญญามรดกโลกแล้ว ทางคณะกรรมการป้องกันราชอาณาจักรไทย ของกลุ่ม พธม. และกองทัพธรรมได้มีมติว่าจะยุติการชุมนุมที่สะพานมัฆวานฯ และสะพานชมัยมรุเชฐ ในวันที่ 1 ก.ค.นี้ โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการเคลียร์พื้นที่ประมาณ 4-5 วัน
ทั้งนี้พธม.ขอประกาศจุดยืน 8 ข้อต่อการที่ไทยถอนตัวออกจากมรดกโลกดังนี้
1.ภาคประชาชนขอขอบคุณ นายสุวิทย์ คุณกิตติ รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าผู้เจรจามรดกโลก ที่ได้ตัดสินใจถอนตัว แม้จะมีแรงกดดันขอให้เสนอเลื่อนการพิจารณาวาระแผนบริหารจัดการมรดกโลกปราสาทพระวิหารจากทั้งรัฐบาลไทยและข้าราชการเป็นจำนวนมาก
2.ภาคประชาชนถือว่าการที่รัฐบาลตัดสินใจถอนตัวจากภาคีมรดกโลกเป็นการทำตามข้อเรียกร้อง 1 ใน 3 ข้อของภาคประชาชน ถือเป็นชัยชนะของประชาชนคนไทยทั้งประเทศ ถือเป็นความสำเร็จ 1 ใน 3 ข้อของการชุมนุมรวมพลังปกป้องแผ่นดิน
3.การที่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ออกมาให้สัมภาษณ์ก่อนการถอนตัวว่าคณะกรรมการมรดกโลกจะมีมติให้เลื่อนการพิจารณาวาระแผนบริหารจัดการมรดกโลกเขาพระวิหาร แต่ไทยต้องดูถ้อยคำเรื่องการส่งทีมบูรณะปฏิสังขรณ์ว่าจะมีปัญหาหรือไม่ แต่ต้องเคารพมติของที่ประชุมนั้น แสดงว่าจุดยืนของนายอภิสิทธิ์ต้องการเพียงแค่การเลื่อน การตัดสินใจครั้งนี้จึงไม่ถือเป็นผลงานของนายอภิสิทธิ์ แต่เป็นผลงานของนายสุวิทย์โดยตรง
4.การถอนตัวครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าสิ่งที่ภาคประชาชนพูดมาตลอดเป็นความจริงทุกประการ และยังสะท้อนด้วยว่าเอ็มโอยู 2543 ที่นายอภิสิทธิ์พยายามยึดถือว่าจะเป็นอำนาจและกลไกในการปกป้องไม่ให้คณะกรรมการมรดกโลกเดินหน้าเรื่องปราสาทพระวิหารนั้น เป็นความเท็จทั้งสิ้น
5.การที่รัฐบาลไทยล้มเหลวในการใช้เอ็มโอยู 2543 ในเวทีคณะกรรมการมรดกโลก แสดงว่าไม่มีชาติไหนๆเห็นด้วยกับการใช้เอ็มโอยู 2543 ในการปกป้องอธิปไตยของชาติ ดังนั้นหากไทยยังยึดมั่นในเอ็มโอยู 2543 ก็จะเป็นอันตรายต่อไปในอนาคตไม่ว่าจะในเวทีศาลโลก การประชุมอาเซียน หรือการประชุมในสหประชาชาติก็ตาม รัฐบาลจึงต้องทบทวนเอ็มโอยู 2543 อย่างเร่งด่วน
6.แม้ว่ารัฐบาลไทยจะถอนตัวออกมาแล้วแต่ในช่วงเวลาที่เหลือจนถึงวันที่ 29 มิ.ย.ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะมีการพิจารณาเรื่องปราสาทพระวิหารหรือไม่ และผลจะเป็นอย่างไร เมื่อไทยถอนตัวแล้วต้องมีการดำเนินการต่อเนื่องไม่ให้ฝ่ายกัมพูชาหรือยูเนสโกเข้ามากระทำการใดในพื้นที่รอบปราสาทพระวิหาร
7.นับจากนี้ประเทศไทยจะต้องประกาศจุดยืนให้ชัดเจนอย่างแข็งขันในการยืนหยัดที่จะปกป้องอธิปไตยของชาติ โดยเฉพาะในเวทีศาลโลก ที่ประเทศไทศไม่เคยยอมรับอำนาจศาลโลกมาตั้งแต่คดีปราสาทพระวิหารเมื่อปี 2505 ดังนั้น ในเวทีศาลโลกไทยก็ไม่สมควรจะไปรับอำนาจศาลโลกอีก
8.ขอขอบคุณพี่น้องประชาชนชาวไทยที่ยืนหยัดต่อสู้ในครั้งนี้ ถือว่าความสำเร็จครั้งนี้ไม่ใช่ของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ถือว่าเป็นความสำเร็จของประชาชนทุกหมู่เหล่าที่ได้ช่วยกัน
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1059 ครั้ง