นักการทูตอาวุโสและเป็นราชนิกูลของราชวงศ์ซาอุดิอาระเบียได้สร้างภาพอันน่าสะพรึงกลัวของความขัดแย้งนิวเคลียร์ในตะวันออกกลางขึ้นหากว่าอิหร่านเข้าใกล้การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์
เจ้าชายเตอร์คี อัลไฟซาล (Turki al-Faisal) อดีตหัวหน้าสำนักข่าวกรองแห่งชาติและเอกอัครราชทูตประจำกรุงวอชิงตันได้เตือนนายทหารระดับสูงของนาโต้ว่า การมีตัวตนของอาวุธนิวเคลียร์ “จะบีบให้ซาอุดิอาระเบีย … ให้หันเหสู่นโยบายซึ่งสามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ไม่สามารถบอกได้และอาจมีผลกระทบใหญ่หลวงได้”
เขาไม่ได้ระบุชักเจนว่านโยบายเหล่านี้คืออะไร แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงในริยาดซึ่งใกล้ชิดกับพระองค์กล่าวเมื่ออังคารที่ 28 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า รับสั่งของพระองค์นั้นชัดเจน
“เราไม่สามารถอยู่ในสถานการณ์ที่อิหร่านมีอาวุธนิวเคลียร์ได้และเราไม่มี ความหมายมันคือแบบนั้น” เจ้าหน้าที่คนดังกล่าวกล่าวกับเดอะการ์เดียน “หากว่าอิหร่านพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ นั่นเป็นสิ่งที่เรารับไม่ได้และเราจำเป็นต้องมีตามไปด้วย”
เจ้าหน้าที่ระดับสูงในริยาดกล่าวว่า ซาอุดิอาระเบียอาจผลักดันโครงการนิวเคลียร์ภาคพลเรือนแบบรั้งๆไปก่อน ขณะที่เจ้าชายเตอร์คีตรัสว่า การใช้นิวเคลียร์อย่างสันติเป็นสิทธิ์ของทุกประเทศ
เจ้าชายเตอร์คีเคยกล่าวก่อนหน้านี้ในเดือนมิถุนายนในการประชุมที่ไม่มีการเผยแพร่ที่อาร์เอเอฟโมลส์เวิร์ธ ฐานทัพอากาศในเคมบริดจ์เชียร์ที่นาโต้ใช้เป็นรวบรวมและเปรียบเทียบข่าวกรองจากตะวันออกกลางและเมดิเตอร์เรเนียน
จากบทถอดรับสั่งของพระองค์ที่เดอะการ์เดียนได้มานั้น พระองค์กล่าวกับผู้เข้าร่วมประชุมว่า อิหร่านเป็น “เสือกระดาษที่มีกรงเล็บเป็นเหล็กกล้า” ซึ่งกำลัง “แทรกแซงและสร้างความไร้เสถียรภาพ” ไปทั่วทั้งภูมิภาค
“อิหร่าน .. หวั่นไหวมากหากว่าประเทศอื่นเข้าไปยุ่งกับกิจการภายในของตัวเอง แต่อิหร่านก็ควรปฏิบัติต่อประเทศอื่นเหมือนอย่างที่อิหร่านเองก็คาดหวังว่าจะได้รับการปฏิบัติเช่นนั้น ซาอุดิอาระเบียคาดหวังว่าอิหร่านจะปฏิบัติอย่างที่เที่ยวสั่งสอนคนอื่น” พระองค์ตรัส
ปัจจุบันเจ้าชายเตอร์คีไม่มีตำแหน่งใดๆในรัฐบาลซาอุดิอาระเบียแต่ถูกมองว่าเป็นทูตของประเทศในภาพใหญ่และเป็นผู้ที่มีโอกาสได้รับตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศในอนาคต
เคเบิ้ลการทูตที่วิกิลีกส์ได้มาและตีพิมพ์โดยเดอะการ์เดียนปีที่แล้วเปิดเผยว่า กษัตริย์อับดุลเลาะห์ซึ่งปกครองซาอุดิอาระเบียนับแต่ปี 2005 ได้เตือนรัฐบาลสหรัฐฯเป็นการส่วนพระองค์ในปี 2008 ว่า หากว่าอิหร่านได้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ “ทุกประเทศในภูมิภาคจะทำเช่นเดียวกันด้วย รวมถึงซาอุดิอาระเบีย”
นักการทูตและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของซาอุดิอาระเบียได้ทำการรณรงค์ครั้งใหญ่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อให้มหาอำนาจโลกและภูมิภาคต่อต้านอิหร่าน โดยหวาดกลัวว่าอิหร่าน คู่แข่งสำคัญของซาอุดิอาระเบียซึ่งใหญ่กว่าแต่จนกว่ากำลังใช้ประโยชน์จากการปฏิวัติอาหรับเพื่อเพิ่มอิทธิพลในภูมิภาคและรวมถึงในซาอุดิอาระเบียเองด้วย
เจ้าชายเตอร์คียังกล่าวหาอีกว่า อิหร่านกำลังแทรกแซงอิรัก เลบานอน ซีเรีย และบาห์เรนซึ่งซาอุดิอาระเบียได้ส่งกำลังทหารเข้าไปในปีนี้ในฐานะส่วนหนึ่งของกองกำลังกลุ่ม GCC หลังจากการประท้วงเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยในบาห์เรนลุกลาม
แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีคำตอบจากรัฐบาลซาอุดิอาระเบียน้อยมากในเรื่องพัฒนาการในบาห์เรน เจ้าชายเตอร์คีได้ตรัสกับผู้เข้าประชุมที่โมลส์เวิร์ธในวันนั้นว่า ประธานาธิบดีบาชาร์ อัลอัสซาด “จะกอดอำนาจเอาไว้จนกว่าชาวซีเรียคนสุดท้ายจะถูกฆ่า”
ซีเรียได้ก่อให้เกิดทางสองแพร่งต่อผู้ดำเนินนโยบายของซาอุดิอาระเบีย: แม้ว่าพวกเขาไม่ต้องการที่จะเห็นการประท้วงของมวลชนล้มอำนาจรัฐบาลได้สำเร็จอีกที่ในภูมิภาค แต่พวกเขาก็มองว่ารัฐบาลดามัสกัสซึ่งถูกครอบงำโดยสมาชิกคนส่วนน้อยที่เป็นชีอะห์ว่าเป็นตัวแทนของอิหร่าน
“การสูญเสียชีวิต (ในซีเรีย) ในการต่อสู้กันภายในในตอนนี้เป็นเรื่องที่น่าเสียใจ รัฐบาลขาดความสามารถอย่างมากในการจัดการสถานการณ์” เจ้าชายเตอร์คีรับสั่งในที่ประชุมที่โมลส์เวิร์ธซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 8 มิถุนายนที่ผ่านมา
แม้ว่าบรรดานักวิเคราะห์จะกล่าวว่า การประท้วงในบาห์เรนไม่ใช่ความขัดแย้งทางศาสนาโดยธรรมชาติ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของซาอุดิอาระเบีย 2 คนในริยาดกล่าวในสัปดาห์นี้ว่า รัฐบาลอิหร่านได้ขับเคลื่อนให้ผู้ประท้วงชาวชีอะห์ต่อต้านผู้ปกครองชาวซุนหนี่ของบาห์เรน อิหร่านมีประชาการส่วนใหญ่เป็นชาวชีอะห์ ขณะที่ 15% ของชาวซาอุดิอาระเบียเป็นชีอะห์ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของซาอุดิอาระเบียหลายคนอธิบายชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้ซึ่งเจ็บปวดจากการเลือกปฏิบัติอย่างกว้างขวางแม้ว่าจะมีความพยายามในการปฏิรูปว่า “สุ่มเสี่ยงต่อิธิพลจากภายนอก”
แม้ว่าจะยังคงมีการประท้วงประปรายอยู่ภายในประเทศ ซาอุดิอาระเบียก็ถูกสั่นคลอนจากเหตุการณ์ต่างๆทั่วโลกอาหรับในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาและได้เฝ้ามองสถานการณ์ด้วยความวิตกกังวลหลังจากพันธมิตรหลายคนเช่น ประธานาธิบดีฮอสนี่ มูบารัก ถูกโค่นลงจากอำนาจหรือพบว่าตัวเองอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำลากอย่างรุนแรง ประธานาธิบดีอาลี อับดุลเลาะห์ ซาเละห์แห่งเยเมนกำลังรับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลในซาอุดิอาระเบียหลังจากได้รับบาดเจ็บจากเหตุระเบิดซึ่งส่งผลให้เขาต้องออกจากประเทศในเดือนมิถุนายน
ไซน์ อัลอะเบดีน เบนอาลี อดีตผู้นำตูนิเซียซึ่งความสัมพันธ์ของเขากับรัฐบาลซาอุดิอาระเบียซับซ้อนมาก ได้รับการรายงานว่าพักอาศัยอยู่ในบ้านพักตากอากาศหรูในเจดดาห์ เมืองท่าแถบทะเลแดงหลังจากเขาหนีออกจากตูนีเซียมายังซาอุดิอาระเบีย
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของซาอุดิอาระเบียยอมรับว่า ผู้ดำเนินนโยบายในซาอุดิอาระเบีย “ไม่สนับสนุน” การประท้วงที่ขับไล่หลายๆรัฐบาล แต่กล่าวว่าพวกเขารู้สึก “แย่กว่าฎ หากมีการฆ่าหรือสังหารหมู่ประชาชน
เจ้าชายเตอร์คียังทรงเตือนด้วยว่า กลุ่มอัลไคด้ายังคงที่สามารถที่จะสร้าง “สถานที่กบดานซึ่งไม่ถึงกับไม่เหมือนพื้นที่ชนเผ่าในปากีสถานเสียทีเดียว” ในเยเมน
ที่ผ่านมานโยบายการต่างประเทศของซาอุดิอาระเบียมักจะยืนข้างตะวันตกแม้ว่าจะเริ่มมีความไม่ลงรอยกับสหรัฐฯในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การปฏิวัติโลกอาหรับยังได้สร้างความตึงเครียดระหว่างกันด้วย โดยสหรัฐฯคัดค้านการส่งกำลังทหารเข้าไปในบาห์เรน
นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งเกิดขึ้นด้วยหลังจากที่ชาติตะวันตกกล่าวหาซาอุดิอาระเบียว่า ซาอุดิอาระเบียได้ส่งออกกลุ่มอิสลามหัวรุนแรงไปทั่วโลกมุสลิม เจ้าชายเตอร์คีตรัสว่า “ในทุกพื้นที่ อิสลามต้องมีบทบาทหลักในการพัฒนา” และย้ำว่า “การจับตาที่ใกล้ชิดกว่าเดิม” ในตอนนี้เป็นหลักประกันว่า เงินทุนที่ระดมในซาอุดิอาระเบีย “จะไม่ถูกใช้ไปในทางที่ผิด”
ภายในซาอุดิอาระเบียเองได้เผชิญกับปัญหามากมายเนื่องจากประชากรส่วนมากยังเป็นเยาวชน ลัทธิสุดโต่ง และเอกลักษณ์ทางศาสนาที่ต่างกัน เจ้าชายเตอร์สคีตรัสรับสั่ง
เจ้าหน้าที่อาวุโสในกระทรวงมหาดไทยซาอุดิอาระเบียกล่าวว่า อิหร่านกำลังใช้อุดมการณ์เพื่อ “เจาะ” เข้ามาในคาบสมุทรอาระเบีย “ในแบบเดียวกับที่อัลไกด้าทำ”
เจ้าชายเตอร์คียังทรงย้ำจุดยืนเดิมของซาอุดิอาระเบียที่เรียกร้องให้ภูมิภาคตะวันออกกลางเป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งรวมถึงอิหร่านและอิสราเอลด้วยและต้องมีการบังคับใช้โดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ
พระองค์ยังรับสั่งอีกว่า การคว่ำบาตรอิหร่านกำลังได้ผล ทรงตอบรับฉันทามติในวอชิงตันว่า การใช้กำลังทหารโจมตีรัฐบาลเตหะรานเป็นมาตรการที่ไม่ได้ผล
บรรดานักวิเคราะห์กล่าวว่า คำพูดของเจ้าชายเตอร์คีเกี่ยวกับการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อาจมีจุดประสงค์เพื่อมุ่งไปยังความสนใจของตะวันตกที่มีต่อความกังวลของซาอุดิอาระเบียเกี่ยวกับอิหร่านมากกว่าที่จะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงการตัดสินใจอย่างเด็ดขาดในลักษณะใดๆก็ตามโดยรัฐบาลริยาดเนื่องจากว่า อุปสรรคในทางปฏิบัติและการทูตในการทำเช่นนั้น (มีอาวุธนิวเคลียร์) ย่อมมีมหาศาล
นายวิลเลียม เฮก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษกล่าวว่า ก่อนหน้านี้อิหร่านได้ทำการทดลองขีปนาวุธทำลายล้างสูงอย่างลับๆเช่นเดียวกับการทดลองยิงขีปนาวุธพิสัยกลางอย่างลับๆ 3 ครั้งนับแต่เดือนตุลาคมปีที่แล้ว
อิหร่านและชาติตะวันตกยังคงขัดแย้งกันเรื่องโครงการนิวเคลียร์ สหรัฐฯและชาติพันธมิตรกล่าวหาว่า รัฐบาลเตหะรานต้องการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่อิหร่านปฏิเสธ
ที่มา Daily Mail
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday