opinion : สามารถ ทรัพย์พจน์ : ขอรัฐมนตรีมุสลิม 2 คน นโยบายอีก 16 ข้อเพื่อมุสลิม
การเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม สังคมมุสลิมมีการตื่นตัวสูงเพื่อหวังผลักดันให้ฝ่ายการเมืองกำหนดนโยบายเพื่อสังคมมุสลิมโดยรวม เพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมายาวนาน “สามารถ ทรัพย์พจน์” นักธุรกิจและนักกิจกรรมเพื่อสังคมได้นำเสนอแนวนโยบายเพื่อให้พรรคการเมืองนำไปดำเนินการ
นายสามารถ ทรัพย์พจน์กรรมการมูลนิธิเพื่อศูนย์กลางอิสลามแห่งประเทศไทย และอุปนายกฝ่ายบริหาร สมาคมสื่อสารมวลชนมุสลิม ระบุเพื่อให้กิจการศาสนาอิสลามในประเทศไทย และพี่น้องชาวไทยมุสลิม ได้รับการดูแลและสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม “พรรคการเมือง” จึงกำหนดนโยบายเพื่อสนับสนุนส่งเสริมกิจการเพื่อศาสนาอิสลาม และพี่น้องชาวไทยมุสลิม ดังนี้
1) จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและติดตามประสานงาน เพื่อกิจการศาสนาอิสลามอย่างเป็นรูปธรรม ขึ้นตรงต่อ สำนักนายกรัฐมนตรี
2) แก้ไขพระราชบัญญัติการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม พุทธศักราช 2540 ให้เป็นไปตามความต้องการของพี่น้องชาวไทยมุสลิม และเอื้อประโยชน์ต่อการบริหารองค์กรมุสลิมทั่วประเทศอย่างกว้างขวาง
3) แก้ไขพระราชบัญญัติส่งเสริมกิจการฮัจย์ ให้ขึ้นตรงต่อ สำนักนายกรัฐมนตรี
กำหนดให้รัฐบาลเช่าบ้านพักแบบถาวรในมหานครมักกะห์ และมหานครมะดีนะห์ ราชอาณาจักรซาอุดิอาราเบีย เพื่อรองรับผู้แสวงบุญอย่างเพียงพอ รวมถึงรัฐบาลจะอำนวยความสะดวกด้วยการจัดเที่ยวบินพิเศษ ให้บริการแก่ผู้แสวงบุญอย่างเพียงพอ ต่อจำนวนผู้เดินทาง
4) ยกเลิกการเรียกเก็บเงินค้ำประกันจากผู้แสวงบุญฮัจย์ รายละ 50,000.00 บาท
ที่รัฐบาลเรียกเก็บในปัจจุบัน โดยให้ผู้ประกอบการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันแทน เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้เดินทาง รวมถึง สนับสนุนผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลไทย ให้บริการแก่ผู้ประกอบพิธีฮัจญ์ชาวไทยมุสลิม และผู้ประกอบพิธีฮัจญ์จากกลุ่มอาเซียนในขณะพำนักในราชอาณาจักรซาอุดิอารเบีย เพื่อนำรายได้เข้าประเทศอีกส่วนหนึ่งด้วย
5) จัดตั้งศาลซารีอะห์ หรือ ศาลที่พิจารณาว่าด้วยเรื่องครอบครัวและมรดกตามหลักการศาสนาอิสลาม ของพี่น้องชาวไทยมุสลิม ในจังหวัดที่มี คณะกรรมการอิสลาม
ประจำจังหวัด (ปัจจุบันจัดตั้งเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้)
6) กำหนดให้มี รัฐมนตรีที่เป็นมุสลิมไม่น้อยกว่า 2 ท่าน ตลอดวาระของรัฐบาล
7) จัดสวัสดิการ และปรับขึ้นเงินเดือน ค่าตอบแทนรายเดือนให้แก่บุคลากรในกิจการศาสนาอิสลาม ดังนี้
7.1 ปรับค่าตอบแทนแก่ อิหม่าม เป็นเดือนละ 2,000.00 บา
7.2 ปรับค่าตอบแทนแก่ คอเต็บ เป็นเดือนละ 1,800.00 บาท
7.3 ปรับค่าตอบแทนแก่ บิหลั่น เป็นเดือนละ 1,500.00 บาท
7.4 ปรับค่าตอบแทนแก่ครูสอนอิสลามศึกษาและจริยธรรมในโรงเรียนภาคสามัญของรัฐ จากเดิมชั่วโมงละ 200 บาท เป็น ชั่วโมงละ 400 บาท โดยเพิ่ม ชั่วโมงการสอน อาทิตย์ละไม่น้อยกว่า 4 ชั่วโมง ตั้งแต่ระดับประถมศึกษา ถึง ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
7.5 กำหนดให้มีเงินสนับสนุนแก่ครูสอนศาสนาอิสลามเบื้องต้น (ระดับฟัดูอัยน์) ประจำมัสยิดต่างๆทั่วประเทศ โดยใช้มาตรฐานเงินสนับสนุนครูสอนระดับ
ตาดีกา ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
7.6 จัดสวัสดิการด้านรักษาพยาบาลฟรี ให้แก่ อิหม่าม,คอเต็บ, บิหลั่น,คณะกรรมการอิสลามประจำมัสยิด, คณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดทั่วประเทศ
และคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศ
8) กำหนดให้มัสยิดอิสลามทั่วประเทศ เป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ของชุมชนอย่างเป็นระบบ อาทิ. เปิดศูนย์พัฒนาเด็กเล็กก่อนวัยเรียน, ศูนย์พัฒนาอาชีพ, ศูนย์อบรมเยาวชนภาคฤดูร้อน, ศูนย์อบรมคุณธรรมและจริยธรรมแก่พี่น้องมุสลิมในชุมชนโดยรัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณเพื่อการนี้ ตามโครงการที่ได้รับอนุมัติ
9) จัดตั้งวิทยาลัยการอาชีพให้เป็นสถานศึกษาทางเลือกสำหรับเยาวชนในพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้ เพื่อให้เยาวชนมีทางเลือกทางการศึกษาเพื่อก้าวสู่สายอาชีพมากขึ้น
10) จัดตั้งคณะทำงานเพื่อประสานความร่วมมือกับภาครัฐและภาคเอกชนในการแก้ไขปัญหา จังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างเป็นรูปธรรม เพื่อสร้างความเข้าใจในการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข โดยมีสำนักงานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนั้นๆ ร่วมประสานนโยบาย
11) ส่งเสริมและสนับสนุนทุนการศึกษาในมหาวิทยาลัย ประเทศมุสลิม ใน ตะวันออกกลาง และแอฟริกา แก่ นักเรียนไทยมุสลิม ให้มีโอกาสเดินทางไปศึกษา
ในระดับปริญญาตรี – ปริญญาโท ทั้งระดับภาคสามัญ และศาสนา รวมถึง กำหนดโครงการนักเรียนแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมกับกลุ่มประเทศข้างต้นด้วย
12) กำหนดนโยบายสร้างสัมพันธ์กับประเทศตะวันออกกลาง เพื่อส่งเสริมแรงงานไทย ให้เดินทางทำงานในประเทศมุสลิมตะวันออกกลาง ปีละไม่น้อยกว่า 30,000คน โดยการเจรจาแบบรัฐต่อรัฐ ผู้ใช้แรงงานไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น
13) ประสานสัมพันธ์กับ กลุ่มประเทศมุสลิมตะวันออกกลางในการแนะนำให้ผู้ป่วยเดินทางเข้ามารับการรักษาและพักฟื้นในประเทศไทย โดยรัฐบาลจะจัดตั้งศูนย์
อำนวยความสะดวก ระบบ One Stop Service แก่ครอบครัวผู้ป่วย โดยประมาณการว่าจะสามารถนำรายได้เข้าประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 25,000 ล้านบาท และยังเป็นการ
สร้างงาน สร้างอาชีพ ให้แก่พี่น้องชาวไทยมุสลิมที่สำเร็จการศึกษาจากกลุ่มประเทศมุสลิมตะวันออกกลาง ได้ทำงานในด้านประสานสัมพันธ์กับครอบครัวผู้ป่วย
14) ส่งเสริมและสนับสนุนผู้ผลิตสินค้าฮาลาล ตั้งแต่ระดับสินค้า OTOP ถึง ผู้ผลิตสินค้า เพื่อการส่งออก เพื่อให้ประเทศไทยเป็น HUB แห่งฮาลาลโลก ตามนโยบาย ครัวไทยสู่ครัวโลก ที่ประเทศไทยเคยทำโครงการนี้สำเร็จเป็นที่ภาคภูมิใจมาแล้ว
15) จัดตั้งผู้แทนการค้าประจำภูมิภาคตะวันออกกลาง เพื่อประสานงานด้านธุรกิจการค้าและการท่องเที่ยว เพื่อนำรายได้เข้าสู่ประเทศ ประมาณการว่าจะได้ปีละ ไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท
16) ประสานงานกับ มหาวิทยาลัยอัล-อัซฮัร หรือมหาวิทยาลัยของรัฐในกลุ่มประเทศมุสลิมตะวันออกกลาง หรือแอฟริกา ให้เปิดสาขาในประเทศไทย ตามหลัก สูตรของมหาวิทยาลัยนั้นๆ ร่วมกับมหาวิทยาลัยเอกชนในประเทศไทย เพื่อเปิดโอกาสทางการศึกษาให้แก่ เยาวชนมุสลิมทั่วประเทศเมื่อจบการศึกษาจะได้รับรองวิทยฐานะเทียบเท่าการจบการศึกษา ในมหาวิทยาลัยของประเทศมุสลิมตะวันออกกลาง หรือ แอฟริกาทุกประการ เพื่อให้เป็นสถานศึกษาทางเลือก และเยาวชนมุสลิมจะเสียค่าใช้จ่ายเพื่อการศึกษาต่อเนื่องที่น้อยลง เช่น การบริหารจัดการศึกษาของ มหาวิทยาลัยอิสลามยะลา เป็นต้น
จากนโยบายของ “พรรคการเมือง” ข้างต้นจะเอื้อประโยชน์ต่อพี่น้องชาวไทยมุสลิมและกิจการเพื่อศาสนาอิสลามทุกระดับ ให้ได้รับประโยชน์ในการดูแล เอาใจใส่จากรัฐบาลอย่างกว้างขวาง และทั่วถึง
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1842 ครั้ง