นโยบายการถมทะเลเนรมิตเมืองใหม่ตามที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ผู้อยู่เบื้องหลังพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ได้สำรวจพื้นที่เบื้องต้นดำเนินการจากปากน้ำไปจนถึง จ.สมุทรสาคร รวมพื้นที่ 3 แสนไร่ แบ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ 2 แสนไร่ อีก 1 แสนไร่ นำไปขายทำเป็นศูนย์กลางทางการเงิน ได้กำไรไร่ละ 20 ล้านบาท รวม 1 แสนไร่ เป็นเงิน 2 ล้านล้านบาท ชาวบ้านได้ออกมาคัดค้าน
วรพล ดวงล้อมจันทร์ ผู้ประสานงานเครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบน ระบุว่า หากต้องถมทะเลออกไป 10 กิโลเมตรจริง ระบบนิเวศชายฝั่งจะสูญหายไปทั้งระบบ ไม่ว่าป่าชายเลนและสัตว์น้ำที่หล่อเลี้ยงปากท้องคนอ่าวไทยมาเนิ่นนาน กระแสน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาก็จะเปลี่ยนทิศ เกิดปัญหาน้ำกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ใหม่
สิ่งที่ตามมาคือ การล่มสลายของวิถีชุมชนชายฝั่งอ่าวไทย ทั้งผู้ประกอบอาชีพประมงขนาดเล็ก เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ จะหมดหนทางทำมาหากินทันที
“เขาไม่เคยถามความคิดเห็นชุมชนเลย คิดเองเออเอง ไม่เคยคิดถึงระบบนิเวศ คนชายฝั่งที่อาศัยทรัพยากรชายฝั่ง คนที่ทำประมงพื้นบ้านจะอยู่ตรงไหน”วรพล กล่าว
วรพล กล่าวด้วยว่า ขณะนี้เครือข่ายรักษ์อ่าวไทยตอนบนตั้งแต่เพชรบุรี-ชลบุรี เตรียมประชุมและออกแถลงการณ์แสดงจุดยืนถึงโครงการดังกล่าวกลางเดือน ก.ค.นี้
สอดคล้องกับความคิดเห็นของ กำจร มงคลตรีลักษณ์ นายกสมาคมประมงสมุทรสาคร เห็นในทำนองเดียวกันว่า โครงการนี้ส่งผลเสียต่อระบบนิเวศชายฝั่ง ซึ่งเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา ที่สุดก็จะกระทบต่อคนทำอาชีพประมงพื้นบ้านซึ่งอาศัยอยู่ตลอดแนวฝั่งทะเล 41.8 กม. ในที่สุด
“พวกหอยแครงจะหมดไปเพราะไม่มีหน้าดินให้อาศัย หอยพิมซึ่งมีแหล่งอาศัยเพียงแห่งเดียวที่สมุทรสาคร ปลาทูแม่กลองที่หากินตั้งแต่สมุทรสาครไปจนถึงสมุทรปราการก็จะไม่มีอีกต่อไป ทุกวันนี้เราปลูกป่าชายเลนฟื้นฟูทรัพยากรทะเลเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นลูกรุ่นหลาน แต่ถ้าทำโครงการนี้ระบบนิเวศจะเสียหายหมด อาชีพประมงพื้นบ้านจะตายแน่นอน” กำจร กล่าว
อย่างไรก็ตาม ชาวบ้านยังไม่เคลื่อนไหวคัดค้าน เพราะต้องรอความชัดเจนของโครงการก่อนว่าจะถมทะเลจุดไหน
ด้าน หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิเพื่อการบริหารการจัดการน้ำแบบบูรณาการ กล่าวว่า แนวคิดดังกล่าวจะสร้างผลกระทบอย่างมหาศาลในหลายด้าน เช่น กระแสน้ำอาจเปลี่ยนทิศทาง กระทบต่อเนื่องไปถึงระบบนิเวศที่อ่อนไหว และอาจจะเป็นการล่มสลายของการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมในบริเวณนี้ตลอดแนวชายฝั่งจนยากจะเยียวยา
นอกจากนี้ โครงการนี้เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำประชาพิจารณ์ตามข้อกำหนดโครงการหรือกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ตามมาตรา 67 วรรค 2
“การถมทะเลแค่จำนวน 100 ไร่ ก็อยู่ในข่ายโครงการรุนแรงแล้ว โครงการนี้จะมองข้ามผลกระทบและความเห็นประชาชนในพื้นที่ไปได้อย่างไร เชื่อว่าทุกฝ่ายคงยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้ ขอแนะนำให้รัฐบาลล้มเลิกโครงการนี้” หาญณรงค์ กล่าว
ขณะที่ ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน กล่าวว่า โครงการดังกล่าวไม่มีวันเกิดขึ้นได้ เพราะจะสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมมาก และอยู่ในข่ายโครงการหรือกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ตามมาตรา 67 วรรค 2 ต้องผ่านการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) และหากรัฐบาลนี้ดึงดันโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยสิ่งแวดล้อม ตัวแทนองค์กรพัฒนาเอกชนก็พร้อมจะรวมตัวกันฟ้องร้องอย่างถึงที่สุด
“พื้นที่บริเวณนี้ต่างจากพื้นที่อื่นๆ ในโลก เป็นพื้นที่เลนมีความอ่อนตัวมาก ไม่มีใครมองออกเลยว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดผลกระทบในวงกว้าง อย่าลืมบทเรียนจากมาบตาพุด จะมาขายฝันว่าจะสร้างเมืองแบบดูไบ ก็ต้องบอกด้วยว่าในดูไบเองก็มีปัญหาเรื่องผลกระทบ เรื่องนี้เรายอมกันไม่ได้ ตราบใดที่ประเทศนี้ยังมีเอ็นจีโออยู่ โครงการนี้จะไม่มีวันเกิดขึ้นได้ จะสู้กันกี่ศาลก็พร้อมสู้เสมอ” ศรีสุวรรณ ระบุ
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 1297 ครั้ง