“ยิ่งลักษณ์”คาดฟื้นนโยบายรับจำนำข้าวเริ่มใช้พ.ย. นี้ เล็งใช้ราคาน้ำมันเป็นปัจจัยปรับโครงสร้างราคาสินค้า-สภาอุตฯค้านขึ้นค่าแรง 300 บาท
น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ว่าที่นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการประชุมยุทธศาสตร์ด้านนโยบายต่าง ๆว่า มีการหารือใน 2 หัวข้อหลักคือ การร่างนโยบายที่จะนำเสนอกับประชาชนและนโยบายเร่งด่วน ซึ่งวันนี้ก็ได้มีการรายงานความคืบหน้าต่างๆ โดยนโยบายทุก ๆ นโยบายจะต้องรู้ว่าเมื่อปฎิบัติแล้วจะเป็นอย่างไร ทั้งนี้ก็จะต้องหารือกับผู้เชี่ยวชาญเฉพาะเรื่องต่อไป
ทั้งนี้การนำนโยบายรับจำนำข้าวกลับมาใช้แทนการประกันราคา ซึ่งเป็นเรื่องนโยบายที่พรรคเพื่อไทยนำเสนอในช่วงหาเสียงว่า ก่อนตัดสินใจเริ่มโครงการจะพิจารณาองค์ประกอบทั้งระบบ อาทิ ปริมาณผลผลิต ราคา เป็นต้น คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในผลผลิตฤดูกาลใหม่เดือน พ.ย. แต่ยังไม่อยากพูดถึงเรื่องนี้มากนัก เนื่องจากกังวลถึงการกักตุนปริมาณของข้าวเปลือก ซึ่งจะกระทบกับประชาชนในช่วงนี้ได้
ส่วนการแข่งขันของการส่งออกข้าวไทยในตลาดโลก คงไม่ใช้แนวทางการตัดราคา แต่จะพิจารณากำหนดราคาตามคุณภาพ
“โครงการรับจำนำ หากพร้อมเมื่อไหร่จะประกาศ เพราะไม่อยากให้มีการกักตุน เพราะขณะนี้มีการกักตุนเพื่อรอโครงการรับจำนำ และส่งผลกระทบถึงผู้ส่งออก ขอให้ทุกอย่างเป็นไปตามปกติ อย่ามีการกักตุน”น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าว
น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลใหม่เข้าไปทำหน้าที่แล้วจะเข้าไปดูโครงสร้างราคาสินค้าจำเป็นต่อชีวิตประจำวัน ไม่ให้มีราคาแพงเกินกว่าเหตุ แต่ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้ราคาสินค้าถูกลง คือ ราคาน้ำมัน หากราคาน้ำมันลดลงก็จะทำให้ต้นทุนสินค้าปรับลดลงไปด้วย
สำหรับความคืบหน้าในการร่างนโยบายที่ได้หาเสียงไว้กับประชาชน และนโยบายเร่งด่วนที่ได้มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาหารือนั้น เนื่องจากบางเรื่องเห็นว่ามีความจำเป็นต้องขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญเป็นการเฉพาะ
ส่วนนโยบายถมทะเลของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้กลายเป็นเมืองใหม่นั้น ในขณะนี้ยังไม่ขอพูดถึง ซึ่งหากมีความชัดเจน จะชี้แจงบให้ทราบทันที
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีที่ทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ประกาศรับรองตำแหน่งของนางสาวยิ่งลักษณ์นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวว่า ตนเข้าใจว่าในขณะนี้ กกต.กำลังมีการประชุมหารืออยู่ ก็จำเป็นที่จะต้องให้เวลา กกต.ในการพิจารณา ซึ่งไม่ได้มีความหนักใจแต่อย่างไร เพราะเชื่อว่าทุกอย่างจะเป็นไปตามกติกา
ด้านนายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวภายหลังการประชุมนัดพิเศษคณะกรรมการบริหารของ ส.อ.ท.เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจของว่าที่รัฐบาลใหม่ โดยเฉพาะการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศว่า ส.อ.ท.ไม่เห็นด้วยกับนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศ 300 บาท/วัน เนื่องจากกระทบระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้การปรับขึ้นค่าแรงนั้น ควรเป็นไปตามกลไกตลาด โดยผ่านคณะกรรมการไตรภาคี และปราศจากการแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งหากรัฐบาลจะปรับขึ้นค่าจ้างในจำนวนดังกล่าวจริง ส.อ.ท. จะเสนอให้รัฐหาแนวทางจ่ายส่วนต่างค่าจ้างที่มี และ ส.อ.ท.พร้อมจะหารือกับภาครัฐ
อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้กระทบเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ ส.อ.ท.จะเรียกประชุม คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) วาระพิเศษในสัปดาห์หน้าเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าวต่อไป
ด้านนายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธาน ส.อ.ท. ด้านแรงงาน กล่าวว่า ควรทยอยปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แบบค่อยเป็นค่อยไปและ ภาครัฐควรเข้ามาช่วยเหลือผู้ประกอบการหลังปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ด้วยการออกคูปองชดเชยให้ผู้ประกอบการในสัดส่วน 70-80% ของภาระค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งคูปองดังกล่าวสามารถนำไปใช้แทนเงินสำหรับค่าใช้จ่ายที่จ่ายให้ภาครัฐ เช่น ค่าสาธารณูปโภคต่าง ๆ เงินจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคม
“หากไม่มีมาตรการใดมารองรับ อาจทำให้ ผู้ประกอบการที่เป็นกิจการขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งมีอยู่กว่า 2 ล้านรายทั่วประเทศต้องปิดกิจการลงไปกว่าครึ่งหนึ่ง เนื่องจากไม่มีทุนที่จะย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่าได้”นายทวีกิจกล่าว
เอสซีจีชี้ขึ้นค่าแรงทำต่างชาติย้ายฐานผลิต
นายกลินท์ สารสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสซีจี เทรดดิ้ง ในเครือปูนซิเมนต์ไทย(เอสซีจี) เปิดเผยว่า นโยบายการปรับค่าแรงงานขั้นต่ำ 300 บาทของรัฐบาลใหม่ จะส่งผลให้ต้นทุนสินค้าปรับสูงขึ้น และกระทบกับผู้บริโภคในที่สุด ซึ่งค่าแรงงานถือว่าเป็นส่วนสำคัญของต้นทุนสินค้า นอกเหนือจากราคาน้ำมันที่เป็นต้นทุนหลักของธุรกิจเทรดดิ้ง
“อยากให้รัฐบาลดูความต้องการของเอกชน เพราะประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตสินค้าหลายประเภท ซึ่งหากมีการปรับค่าแรงงานขึ้น จะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าปรับขึ้นสูงมาก และอาจจะทำให้ผู้ผลิตสินค้า หรือนักลงทุนต่างชาติ ย้ายการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง ลาว และเวียดนาม ที่มีค่าแรงงานต่ำกว่า” นายกลินท์กล่าว
นอกจากนี้อาจส่งผลให้ประเทศไทยเสียเปรียบในการแข่งขันได้ จึงอยากให้รัฐบาลดูความต้องการของเอกชนด้วย ว่าจะทำอย่างไรให้สามารถบริหารต้นทุนได้อย่างมีเสถียรภาพมากที่สุด เนื่องจากการรักษาต้นทุนให้ต่ำที่สุดเป็นเรื่องดี
บทความนี้ถูกอ่านไปแล้ว 2474 ครั้ง