รูปภาพ : ประธานาธิบดีบารัก โอบามาของสหรัฐฯกล่าวเมื่อวันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า เขาจะกดดันสภาคองเกรสถึงการตัดลดการขาดดุลมากที่สุดท่าที่จะเป็นไปได้ ขณะที่ต้ากง บริษัทเรตติ้งของจีนกล่าวว่า จะตัดลดเครดิตเรตติ้งของสหรัฐฯโดยไม่สนว่า เพดานหนี้จะเพิ่มได้หรือไม่ก็ตาม
ที่มา : Agencies
อันดับความน่าเชื่อถือหรือเครดิตเรตติ้งของประเทศสหรัฐฯมีแนวโน้มถูกตัดลดเพิ่มอีกไม่ว่าสภาคองเกรสของสหรัฐฯจะสามารถบรรลุข้อตกลงในการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะได้หรือไม่ก็ตาม บริษัทต้ากง โกลบอล เรตติ้ง จำกัด บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือของจีนแถลงเมื่อวันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคมที่ผ่านมา
“หากว่าเพดานหนี้ถูกเพิ่มขึ้นและหนี้สาธารณะยังโตต่อเนื่อง มันจะยิ่งบ่อนทำลายความสามารถในการชำระหนี้ของสหรัฐฯหนักขึ้นไปอีก ซึ่งนั่นถือเป็นปัจจัยสำคัญในการประเมินของต้ากง และดังนั้นแล้วเราจะพิจารณาถึงการลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ” นายกวน เจี้ยนจง ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของต้ากลงกล่าว
“หากว่ารัฐบาลสหรัฐฯไม่สามารถผลักดันการเพิ่มเพดานหนี้ได้ การลดอันดับความน่าเชื่อถือจึงเป็นแค่ ‘เรื่องของเวลาและขอบเขต’ เท่านั้น”
นายกวนแถลงหลังจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯได้เตือนว่า ประเทศจะกู้เงินจนเต็มเพดาน 14.29 ล้านล้านดอลลาร์ในวันที่ 2 สิงหาคมและได้เรียกร้องให้สภาคองเกรสเพิ่มเพดานหนี้ตามกฎหมาย “เพื่อเลี่ยงผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจและตลาดการเงินอันปั่นป่วนวุ่นวายจากวิกฤตการผิดนัดชำระหนี้”
บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือชั้นนำของโลก 3 แห่งไม่ว่าจะเป็น มูดี้ส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส, ฟิทช์ และ สแตนดาร์ดแอนด์พัวร์ส ไฟแนนเชียล เซอร์วิสเซส แอลแอลซี หรือเอสแอนด์พีต่างก็ออกมาเตือนในเดือนมิถุนายนว่า พวกเขาจะลดอันดับความน่าเชื่อถือของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯหากว่ามีการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้น
เรตติ้งที่ต้ากงให้กับสหรัฐฯถูกลดจากระดับ AA เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2010 ที่ผ่านมาหลังจากรัฐบาลสหรัฐฯประกาศมาตรการการผ่อนคลายเชิงปริมาณครั้งที่ 2 หรือ มาตรการ QE2
บริษัทต้ากงได้พิมพ์เผยแพร่รายงานการจัดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศต่างๆเป็นครั้งแรกในเดือนกรกฎาคม 2010 และตอนนี้บริษัทให้บริการการติดตามอันดับความน่าเชื่อถือของกว่า 67 ประเทศทั่วโลก
คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์หรือก.ล.ต.สหรัฐฯได้ปฏิเสธการขอสมัครสถานะจากองค์การการจัดอันดับทางสถิติที่ได้รับการยอมรับในระดับชาติหรือ NRSRO (Nationally Recognized Statistical Rating Organization) เนื่องจากว่าทางการสหรัฐฯไม่สามารถที่จะทำการกำกับดูแลกิจการการจัดอันดับความน่าเชื่อถือในระดับข้ามพรมแดนได้
แม้ว่านายกวนจะมองว่า ท้ายที่สุดแล้วสภาคองเกรสน่าจะยังคงบรรลุข้อตกลงในการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะได้อยู่ เขาก็ยังคงกังวลกับปัญหาพื้นฐานที่สหรัฐฯยังคงเผชิญอยู่
“การเพิ่มเพดานหนี้เป็นเพียงมาตรการทางกฎหมายเพื่ออนุญาตให้รัฐบาลสามารถกู้ยืมเงินได้มากขึ้น แต่นั่นจะไม่เปลี่ยนแปลงความจริงที่ว่า สหรัฐฯยังคงขาดแรงขับเคลื่อนเพื่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ” นายกวนกล่าว โดยเสริมว่า หากว่าอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานยังคงไม่เปลี่ยนแปลง รัฐบาลสหรัฐมีแนวโน้มที่จะกลับมาใช้มาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณหรือ QE (Quantitative Easing) เป็นครั้งที่ 3 ได้
ปัญหาพื้นฐานอยู่ที่ว่า ความสามารถของสหรัฐฯในการสร้างความมั่งคั่งนั้นน้อยเกินกว่าที่จะชดเชยกับหนี้สินที่พอกพูนขึ้นได้ และ “การจ่ายหนี้โดยการกู้ยืมเพิ่มก็ไม่ใช่ทางออก” นายกวนกล่าว
“ไม่ว่าจะมีการใช้วงเงิน QE ถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์หรือการเพิ่มเพดานหนี้สาธารณะก็ล้วนไม่ใช่มาตรการที่ใช้ได้ผล และวิกฤตหนี้สาธารณะจะยังคงดำเนินต่อไป” นายกวนกล่าว โดยอธิบายว่า รัฐบาลสหรัฐฯได้ใช้งบประมาณก้อนมหึมาไปกับการบริโภคและโครงการประกันสังคมและมีทรัพยากรที่จำกัดที่เหลือไว้เพื่อใช้พัฒนาเศรษฐกิจ
นายหยวน กางหมิง (Yuan Gangming) นักวิจัยจากศูนย์ศึกษาจีนในระบบเศรษฐกิจโลก (Center for China in the World Economy) ที่มหาวิทยาลัยซิงหัว (Tsinghua University) กล่าวว่า ขณะนี้รัฐบาลสหรัฐฯอยู่ในช่วงที่ไม่ปกติหลังวิกฤตการเงินที่ผ่านมา ดังนั้นแล้วการเพิ่มขนาดของหนี้จึงเป็นมาตรการในระยะยาวและเป็นปกติก่อนที่เศรษฐกิจของประเทศจะกลับมาเดินต่อได้
ดังนั้นแล้วการเพิ่มเพดานหนี้จึงถือเป็นข่าวดีสำหรับนักลงทุนแต่ถือเป้นข่าวร้ายสำหรับจีน ซึ่งเป็นผู้ถือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯรายใหญ่ที่สุด เขากล่าว
“แท้ว่าการลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯดูเหมือนจะเป็นทางเลือก จีนจะต้องยังคงลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯต่อไปเนื่องจากว่า ถึงที่สุดแล้ว เรามีทางเลือกในการลงทุนจำกัดมากๆ” นายหยวนกล่าว
นายเดวิด ดอลลาร์ ทูตเศรษฐกิจและการเงินของกระทรวงการคลังสหรัฐฯประจำประเทศจีนเชื่อว่า ตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯยังคงมองบวกอยู่ แต่โครงการประกันสังคมและการใช้จ่ายทางทหารจะต้องถูกนำมาพิจารณาด้วยหากว่ารัฐบาลต้องการที่จะลดการขาดดุล
ชาติที่เป็นลูกหนี้รายใหญ่ของโลกซึ่งทั้งหมดล้วยเป็นประเทศพัฒนาแล้วทั้งสิ้น มีสัดส่วนคิดเป็นกว่า 90% ของทรัพยากรด้านสินเชื่อทั่วโลก แต่กลับมีส่วนในการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจโลกแค่ 3% เท่านั้นในปีก่อนเกิดวิกฤตการเงินปี 2008
ที่มา China Daily
แปลและเรียบเรียงโดย เบ๊นซ์ สุดตา ฝ่ายข่าวเศรษฐกิจและการเงินระหว่างประเทศ Mtoday